ขนส่งฯย้ำระบบตัดแต้มเสริมสร้างวินัยการขับขี่ตามกฎจราจร

0
79

ขนส่งฯย้ำระบบบันทึกคะแนนความประพฤติในการขับรถ เป็นมาตรการเสริมสร้างวินัยการขับขี่ให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎจราจร สร้างความปลอดภัย ป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนน

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย ยังคงเป็นปัญหาที่สำคัญที่ก่อให้เกิดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก การใช้มาตรการเสริมสร้างวินัยการขับขี่ด้วยระบบบันทึกคะแนนความประพฤติในการขับรถ โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2566 ที่ผ่านมานั้น จะมีส่วนช่วยให้ประชาชนขับขี่ด้วยความระมัดระวังและเคารพกฎหมายมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบกได้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ สร้างความตระหนักในการขับขี่อย่างปลอดภัย โดยได้จัดทำหลักสูตรในการอบรมสำหรับคืนคะแนน ประกอบด้วย ความรู้พื้นฐาน เช่น ปัจจัยที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ วิชากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้รถใช้ถนน และผลกระทบที่เกิดจากอุบัติเหตุ รวมถึงวิชาความรู้ตามข้อหาความผิดของผู้เข้ารับการอบรม

ทั้งนี้ ผู้ขับขี่สามารถตรวจสอบคะแนนความประพฤติในการขับรถได้จาก 3 ช่องทางของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้แก่ เว็บไซต์ Police Ticket Management หรือ E-Ticket PTM หรือแอปพลิเคชัน “ขับดี” เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าถูกตัดคะแนนจนเหลือน้อยกว่า 6 คะแนน สามารถขอเข้ารับการอบรมเพื่อขอคืนคะแนนความประพฤติในการขับรถได้ปีละ 2 ครั้ง ตามรอบปีปฏิทิน ณ กรมการขนส่งทางบก สำนักสวัสดิภาพการขนส่งทางบก (อาคาร 😎 หรือ สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-4 หรือสำนักงานขนส่งจังหวัดทุกจังหวัด โดยให้จองคิวอบรมผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน DLT Smart Queue เมื่อผู้ขับขี่ผ่านการอบรมตามหลักสูตรที่กำหนดแล้ว ต้องเข้ารับการทดสอบและต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 จึงจะถือว่าผ่านการอบรมและทดสอบ ถ้าไม่ผ่านสามารถแก้ตัวใหม่เป็นครั้งที่ 2 ในวันเดียวกัน หากยังไม่ผ่านการทดสอบอีกจะออกใบนัดมาทำการทดสอบแก้ตัวใหม่เป็นครั้งที่ 3 ภายใน 7 วันนับแต่วันที่เข้ารับการทดสอบครั้งแรกไม่ผ่าน เมื่อผ่านการอบรมและการทดสอบแล้ว กรมการขนส่งทางบกจะแจ้งผลการอบรมและการทดสอบ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อดำเนินการคืนคะแนนต่อไป

อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการปฏิบัติตามกฎหมาย เพิ่มความระมัดระวังในการใช้รถใช้ถนน ผู้ขับขี่ใช้อุปกรณ์นิรภัยทุกครั้งที่เดินทางเพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ตนเอง เช่น ผู้ขับขี่และผู้โดยสารรถจักรยานยนต์ต้องสวมหมวกนิรภัยทุกครั้ง และต้องเลือกใช้หมวกนิรภัยที่มีคุณภาพตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ซึ่งมีผลการศึกษาพบว่าการสวมหมวกนิรภัยที่ได้มาตรฐานจะช่วยลดระดับความรุนแรง

ของการบาดเจ็บและช่วยป้องกันการสูญเสียชีวิต ส่วนผู้ขับรถ รวมถึงผู้โดยสาร ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคลและรถโดยสารสาธารณะ ต้องคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งและตลอดการเดินทาง หากประสบอุบัติเหตุจะช่วยปกป้องร่างกายไม่ให้กระเด็นออกไปนอกตัวรถ ลดอาการบาดเจ็บจากแรงกระแทก ปฏิบัติตามกฎจราจรและป้ายเตือนอย่างเคร่งครัด เพิ่มความระมัดระวังเมื่อขับรถผ่านเส้นทางเสี่ยงอุบัติเหตุ เว้นระยะห่างจากรถคันหน้า เพราะหากจำเป็นต้องเปลี่ยนเส้นทางฉุกเฉิน จะได้มีระยะเวลาในการเปลี่ยนเส้นทาง ไม่เกิดการตัดหน้ารถคันอื่นในระยะกระชั้นชิด และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง