ทล.ลงพื้นที่อัพเดทความคืบหน้าการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 (บางใหญ่-กาญจนบุรี)เผยงานโยธาคืนหน้าร้อยละ 90.21 ส่วนการให้เอกชนร่วมลงทุนและบริหารจัดการที่พักริมทาง (Rest Area) อยู่ระหว่างสรุปรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนฯตั้งเป้าหมายให้งานก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมดตลอดเส้นทาง พร้อมเปิดให้บริการภายในปี 2568
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่ากรมทางหลวงเดินหน้าพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางและขนส่งสินค้าที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยยิ่งขึ้น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการสําคัญตามแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย โดยปัจจุบันกรมทางหลวงอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างงานโยธา รวมถึงงานระบบและบำรุงรักษา เพื่อพัฒนาให้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญช่วยเติมเต็มโครงข่ายการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ และเปิดประตูการค้าภาคตะวันตกไทยได้อย่างสมบูรณ์ ส่งผลให้ระบบการคมนาคมขนส่งทางถนนของประเทศไทยมีศักยภาพและแข่งขันกับนานาประเทศได้
นายธนศักดิ์ วงศ์ธนากิจเจริญ ผู้อำนวยการกองทางหลวงระหว่างเมือง เปิดเผยว่าสำหรับรูปแบบโครงการเป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองขนาด 4 ถึง 6 ช่องจราจร มีระยะทางรวม 96 กม.มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับถนนวงแหวนรอนนอกกรุงเทพมหานคร (ถนนกาญจนาภิเษก) ด้านตะวันตก อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี จุดสิ้นสุดอยู่บริเวณทางหลวงหมายเลข 324 (ถนนกาญจนบุรี – อ.พนมทวน) ผ่าน 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี นครปฐม และกาญจนบุรี โดยในแนวเส้นทางมีด่านเก็บค่าผ่านทาง 8 แห่ง ได้แก่ ด่านบางใหญ่ ด่านนครชัยศรี ด่านศรีษะทอง ด่านนครปฐมฝั่งตะวันออก ด่านนครปฐมฝั่งตะวันตก ด่านท่ามะกา ด่านท่าม่วง และด่านกาญจนบุรี มีที่พักริมทางและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ สำหรับผู้ใช้ทาง จำนวน 3 แห่ง แบ่งออกเป็น สถานบริการทางหลวง จำนวน 2 แห่ง ที่ อ.นครชัยศรี และ อ.เมืองนครปฐม และสถานที่พักริมทาง จำนวน 1 แห่ง ที่ อ.ท่ามะกา โดยมีวงเงินลงทุนค่าก่อสร้างงานโยธาและค่าเวนคืน จำนวน 56,178 ล้านบาท ค่าก่อสร้างงานระบบและองค์ประกอบอื่นที่เกี่ยวข้อง ค่าบำรุงรักษาและค่าบริหารจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง จำนวน 17,809 ล้านบาท
สำหรับการก่อสร้างงานโยธาได้แบ่งออกเป็น 25 ตอน ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ 14 ตอน และอยู่ระหว่างก่อสร้าง 11 ตอน มีความก้าวหน้าเมื่อเดือนมีนาคม โดยรวมประมาณร้อยละ 90.21 ส่วนงานติดตั้งระบบ เช่น ระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง ระบบบริหารจัดการและควบคุมการจราจร เป็นต้น จะดำเนินการในรูปแบบ PPP ซึ่งกรมทางหลวงได้ลงนามสัญญาการให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) โดยการร่วมลงทุนในครั้งนี้แบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ระยะ ระยะที่ 1 งานออกแบบและก่อสร้างด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง พร้อมติดตั้งงานระบบ และองค์ประกอบอื่นที่เกี่ยวข้อง ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี กลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR จะเป็นผู้ออกแบบและลงทุนก่อสร้างติดตั้งงานระบบและองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย งานก่อสร้างด่านและติดตั้งระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางแบบไม่มีไม้กั้น หรือ M-Flow งานระบบควบคุมและบริหารจัดการจราจรอัจฉริยะ งานระบบโครงข่ายสื่อสารใยแก้วนำแสง และระบบจ่ายกระแสไฟฟ้าบนสายทาง งานอาคารศูนย์ควบคุม และอาคารสำนักงานต่างๆ โดยมีความก้าวหน้าเดือนมีนาคม 2566 รวมร้อยละ 13.62 ระยะที่ 2 งานดำเนินงานบริหารจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางและบำรุงรักษาถนนและงานระบบทั้งหมด เป็นระยะเวลา 30 ปี นับตั้งแต่เปิดให้ประชาชน โดยกลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR จะทำหน้าที่จัดเก็บค่าผ่านทางและนำส่งรายได้ค่าผ่านทางทั้งหมดให้แก่กรมทางหลวง บริหารจัดการและควบคุมการจราจร ซึ่งรวมถึงงานกู้ภัยและช่วยเหลือผู้ใช้ทางตลอด 24 ชั่วโมง ตลอดจนซ่อมบำรุงรักษาถนนและงานระบบทั้งหมดของโครงการเป็นเวลา 30 ปี โดยกลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR จะได้รับค่าตอบแทนสำหรับค่าก่อสร้างงานระบบ และค่าตอบแทนสำหรับการดำเนินงานและบำรุงรักษา ทั้งนี้ ในส่วนการให้เอกชนร่วมลงทุนและบริหารจัดการที่พักริมทาง (Rest Area) กรมทางหลวงอยู่ระหว่างสรุปรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนฯ และเริ่มการคัดเลือกการดำเนินงานก่อสร้างให้เป็นไปตามแผนงาน โดยตั้งเป้าหมายให้งานก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมดตลอดเส้นทาง พร้อมเปิดให้บริการภายในปี 2568
การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 บางใหญ่ – กาญจนบุรี จะช่วยพัฒนาและส่งเสริมระบบการคมนาคมขนส่งทางถนนของประเทศไทยให้มีความทันสมัย ส่งเสริมการท่องเที่ยวและการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคของประเทศโดยรวม พัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างความสะดวก รวดเร็ว ทันสมัย ปลอดภัยให้กับประชาชนในการเดินทางสู่ภูมิภาคต่างๆ เพิ่มขีดความสามารถด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ และเป็นเส้นทาง เชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคมสู่ภาคตะวันตกและภาคใต้ของประเทศ