DITPเผยจีนเปิดให้บริการเส้นทางขนส่งสินค้าทางเรือไปยังท่าเรือชาบาฮาร์ของอิหร่านเป็นครั้งแรก ช่วยเปิดทางสินค้าจีนเข้าสู่ตลาดอิหร่านได้โดยตรง และยังสามารถกระจายต่อไปยังตะวันออกกลาง เอเชียกลางและยุโรป แนะไทยจับตาใกล้ชิด และวางแผนรับมือ
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้มอบหมายให้กรมฯ สำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยในประเทศต่าง ๆ รวมถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อการค้าระหว่างประเทศของไทย โดยล่าสุดได้รับข้อมูลจากนายทวีป ราชาภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเตหะราน ถึงการเปิดให้บริการเส้นทางขนส่งสินค้าทางเรือจากจีนไปยังท่าเรือชาบาฮาร์ของอิหร่านเป็นครั้งแรก ซึ่งช่วยร่นระยะทางและเวลาในการเดินทางสั้นลง จากเดิมที่ต้องจัดส่งสินค้าไปยังท่าเรือบันดาร์อับบาสที่อยู่ลึกเข้าไปในอ่าวเปอร์เซียแล้วจึงค่อยขนถ่ายไปยังท่าเรือชาบาฮาร์อีกทอดหนึ่ง โดยใช้บริการเรือเล็กของอิหร่านที่มีจำนวนมากกว่า 3 หมื่นลำในอ่าวเปอร์เซีย
ทั้งนี้ ทูตพาณิชย์ได้รายงานว่าการเปิดให้บริการเส้นทางขนส่งสินค้าทางเรือเส้นทางใหม่ดังกล่าว เป็นผลมาจากการลงนามความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ 25 ปี ระหว่างจีนกับอิหร่าน ซึ่งหนึ่งในวัตถุประสงค์ของความร่วมมือ คือ การฟื้นฟูเส้นทางสายไหมทางทะเลที่เคยเฟื่องฟูในอดีต ซึ่งนอกจากจะเป็นการขยายตลาดส่งออกสินค้าจีนไปยังอิหร่านโดยตรงแล้ว ยังเป็นการพัฒนาเส้นทางส่งออกต่อสินค้าจีนไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง เอเชียกลาง และยุโรป ตามเส้นทางสายไหมของจีนอีกด้วย
สำหรับท่าเรือชาบาฮาร์ เป็นท่าเรือพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่ 1 ใน 3 ของอิหราน (ท่าเรือบันดาร์อับบาส ท่าเรืออิหม่ามโคไมนี่ และท่าเรือชาบาฮาร์) ตั้งอยูที่เมืองชาบาฮาร์ จังหวัดซิสตานและบาลูจิสถาน ซึ่งเป็นเมืองท่าที่มีพื้นที่ประมาณ 17,150 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรราว ๆ 200,000 คน เป็นเมืองที่อยู่ทางตอนใต้สุดของประเทศอิหร่าน ติดกับทะเลโอมาน ซึ่งมีระยะทางที่ใกล้ทะเลเปิดของมหาสมุทรอินเดียมากที่สุด ทั้งนี้ ในจำนวนท่าเรือส่งออก-นำเข้าสินค้า 9 แห่งของอิหร่าน มีเพียงท่าเรือชาบาฮาร์เพียงแห่งเดียวที่ได้รับยกเว้นการค่ำบาตรจากสหรัฐฯ ด้วยเหตุผลเพื่อเป็นการรักษาพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนั่นก็คืออินเดีย เนื่องจากอินเดียได้รับสัมปทานในการบริหารจัดการท่าเรือชาบาฮาร์พร้อมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งท่าเรือแห่งนี้ถือว่ามีความสำคัญต่ออินเดียค่อนข้างสูง เพราะอินเดียสามารถใช้ประโยชน์ในการส่งออกสินค้าไปยังอัฟกานิสถานและเอเชียกลาง โดยที่ไม่ต้องผ่านประเทศปากีสถาน
ปัจจุบัน เส้นทางขนส่งสินค้าที่ประหยัดและสั้นที่สุดสำหรับประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลในเอเชียกลาง คือ เส้นทางขนส่งสินค้าตามระเบียงขนส่งเหนือ-ใต้ผ่านท่าเรือชาบาฮาร์ ซึ่งมีศักยภาพรองรับการขนส่งสินค้าปริมาณ 15-20 ล้านตันต่อปี มีท่าเทียบเรือขนาดใหญ่สองแห่ง คือ ท่าชาฮิดเบเฮซติและท่าชาฮิดการันตาริ ด้วยช่องจอดเทียบเรือขนาดใหญ่ท่าละ 5 ช่อง โดยสินค้าที่นำเข้า-ส่งออกผ่านท่าเรือแห่งนี้ จะถูกขนถ่ายต่อไปยังเอเชียกลางหรือแม้กระทั่งยุโรปตะวันออกผ่านระบบขนส่งทางรถไฟและทางถนนอีกทอดหนึ่ง ทั้งนี้ ได้มีการคาดการณ์ว่าเส้นทางนี้ จะช่วยให้การขนส่งสินค้าจากเอเชีย (เริ่มจากอินเดีย/อ่าวโอมาน/อ่าวเปอร์เซียผ่านท่าเรือชาบาฮาร์-ท่าเรือเมืองมาซานดาราน ของอิหร่าน) ไปยังยุโรป (ยุโรปตะวันตกและรัสเซีย) ประหยัดค่าใช้จายลงกว่า 30% และสามารถย่นระยะเวลาการเดินทางได้สูงถึง 40% (จากเดิมใช้เวลาประมาณ 6 สัปดาห์ ลดลงเหลือเพียง 3 สัปดาห์)
นอกจากนี้ การเปิดใช้เส้นทางขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือชาบาฮาร์ในครั้งนี้มีการคาดการณ์ว่าจะช่วยให้ทั้งจีนและอิหร่านประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนถ่ายสินค้าได้ถึง 400 เหรียญสหรัฐต่อตู้คอนเทนเนอร์ และสามารถย่นระยะทางในการขนส่งสินค้าจากจีนไปยังอิหร่านได้ไม่น้อยกว่า 10 วัน จากเดิมที่ต้องใช้เวลาประมาณ 30-60 วัน สำหรับการขนส่งสินค้าจากท่าเรือเทียนจิน ชิงเต่า เซี่ยงไฮ้ เสิ่นเจิ้น กวางโจว หรือหนิงโปของจีนไปยังอิหร่าน
“การนำร่องขนส่งสินค้ามายังท่าเรือชาบาฮาร์ของจีนในครั้งนี้ นอกจากจะนำไปสู่การพัฒนายกระดับการให้บริการ ของท่าเรือแห่งนี้อย่างขนานใหญ่ในอนาคตแล้ว ยังถือว่าเป็นพัฒนาการความก้าวหน้าทางยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ การค้าระหว่างประเทศของอิหร่านที่กำลังพัฒนาตนเองไปสู่ความเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าของภูมิภาคอีกด้วย ในขณะเดียวกันก็เป็นการเตรียมความพร้อมรองรับข้อตกลงความร่วมมือขนส่งสินค้าข้ามแดนระหว่างอิหร่านกับกลุ่มประเทศเอเชียกลาง อัฟกานิสถาน อินเดีย หรือแม้กระทั่งรัสเซีย ที่มุ่งหวังว่าจะใช้ท่าเรือแห่งนี้เป็นทรานซิสฮับ ในการนำเข้า-ส่งออกสินค้าไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกกลาง และแอฟริกา โดยเฉพาะหลัง FTA ระหว่างอิหร่านกับกลุ่ม EUROSIA มีผลบังคับใช้สิ้นเดือนมกราคม 2566 เป็นต้นไป ซึ่งผู้ประกอบการของไทยที่ค้าขายกับอิหร่าน ควรที่จะจับตาสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด และหาทางวางแผนรับมือในการค้าขายกับอิหร่านต่อไป เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการแข่งขันกับสินค้าจีนในตลาดอิหร่าน”นายภูสิตกล่าว