กรณีประเด็นร้อนที่องค์กรพัฒนาเอกชน มีแถลงการณ์ค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพา นั้น ล่าสุด กฟผ. ออกโรงแจงแถลงการณ์ค้านและยืนยันถ่านหินยังเป็นพลังงานหลักของโลก ชี้การสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่และเทพา ได้นำเทคโนโลยีการผลิตและกำจัดมลภาวะที่ทันสมัยที่สุด ย้ำได้รับการสนับสนุนจากชุมชนในพื้นที่ สะท้อนถึงความเชื่อมั่นเทคโนโลยี และอยากเห็นการพัฒนาท้องถิ่น
นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการในฐานะโฆษก กฟผ. ชี้แจงว่า ตามที่ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.) ออกแถลงการณ์ค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพา เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา มีข้อความคลาดเคลื่อนหลายประการ ซึ่งเกรงสร้างความสับสนให้กับสังคม กฟผ.จึงขอเรียนชี้แจง ดังนี้
ย้ำ “ถ่านหิน”ยังเป็นพลังงานหลักของโลก
ประเด็นแรกที่กล่าวว่า กฟผ. มีความพยายามยัดเยียดถ่านหินให้ประชาชนไทย และภาคใต้ นั้น ขอชี้แจงว่า นโยบายการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า เป็นนโยบายการพัฒนาพลังงานตามแผนพัฒนากำลังผลิตของประเทศทุกฉบับ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อจัดหาพลังงานที่มีความมั่นคง และกระจายความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าเกือบร้อยละ 70 ซึ่งแผนพัฒนาพลังงานกำลังผลิตไฟฟ้าฉบับปัจจุบัน หรือ PDP2015 มีเป้าหมายลดสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติจากร้อยละ 70 เหลือร้อยละ 37 และเพิ่มการใช้ถ่านหินจากร้อยละ 18 ในปัจจุบันเป็นร้อยละ 23 ในปี 2579
ประเด็นที่กล่าวว่า ทั่วโลกจะเลิกใช้ถ่านหิน นั้น ในความเป็นจริง มีบางประเทศประกาศจะเลิกใช้ถ่านหิน โดยมีเป้าหมายเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก แต่ยังต้องการเวลาอีกหลายสิบปีในการเปลี่ยนผ่าน สะท้อนว่า ถ่านหินยังมีความจำเป็นและมีบทบาทสำคัญต่อการผลิตไฟฟ้าของโลก ประเทศต่างๆ ทั่วโลก จึงยังไม่มีแผนเลิกใช้ถ่านหินทั้งสหรัฐอเมริกา จีน ออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมทั้งอาเซียน ทั้งอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม โดยองค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency หรือ IEA) ได้คาดการณ์การใช้พลังงานของอาเซียนว่า จะใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้าเพิ่มจากร้อยละ 32 ในปี 2558 เป็นร้อยละ 50 ในปี 2583 สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาพลังงานของโลก ที่ทั่วโลกมีสัดส่วนการใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้าร้อยละ 40 โดยประเทศต่างๆ อาทิ สหรัฐอเมริกาใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้าร้อยละ 33 เยอรมนีร้อยละ 40 ออสเตรเลียร้อยละ 63 อินเดียร้อยละ 75 จีนร้อยละ 72 เกาหลีใต้ร้อยละ 42 ญี่ปุ่นร้อยละ 32 มาเลเซียร้อยละ 38 เป็นต้น
ประเด็นการลดก๊าซเรือนกระจก ที่แถลงการณ์กล่าวว่า การประชุมลดก๊าซเรือนกระจก ให้ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลนั้น ในความเป็นจริง ที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 (COP-21) ที่กรุงปารีส ได้รับรองแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกของแต่ละประเทศ(INDC) ตามหลักความรับผิดชอบ และสถานการณ์ของประเทศที่แตกต่างกัน โดยประเทศไทยที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียงร้อยละ 0.9 ของโลก ได้ให้สัตยาบันจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20 – 25 ในปี 2030 เมื่อเทียบกับไม่มีมาตรการใดๆในการให้สัตยาบันดังกล่าว ยังได้ผนวก PDP2015 ไว้เป็นส่วนหนึ่งของแผนลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ซึ่งนอกจากจะมีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาดแล้ว ยังมีมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกต่างๆประกอบด้วย การเพิ่มการผลิตจากพลังงานหมุนเวียนจากร้อยละ 8 เป็นร้อยละ 20 ในปี 2579 การปรับปรุงประสิทธิภาพโรงไฟฟ้า และการอนุรักษ์พลังงาน(DSM) จึงกล่าวได้ว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินไม่เป็นอุปสรรคในการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ในการประชุม COP21 แม้ว่าองค์กรเอกชน จะได้เรียกร้องให้โลกเดินหน้าสู่การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียน 100% แต่ที่ประชุมเห็นว่า ยังเป็นไปไม่ได้ จึงไม่มีมติใดๆ โดยจะหยิบยกเรื่อง พลังงานหมุนเวียน 100% มาพูดคุยใหม่อีกครั้งหลังปี 2050 แสดงให้เห็นว่า โลกต้องใช้เวลาอีกมากในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ให้สามารถพึ่งพาได้ และในราคาที่เหมาะสม
ประเด็นที่แถลงการณ์กล่าวว่า เชื้อเพลิงถ่านหินมีภาวะมลพิษสะสมอันร้ายแรงในระหว่างการเผาไหม้นั้น ขอชี้แจงว่า เทคโนโลยีการเผาไหม้ของถ่านหินมีความทันสมัยและประสิทธิภาพสูง สามารถลดการปล่อยมลสาร ให้อยู่ภายใต้มาตรฐานที่เข้มงวดมากขึ้นในแต่ละประเทศ ทำให้มีโรงไฟฟ้าใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา แม้ในประเทศที่มีมาตรฐานสิ่งแวดล้อมสูง เช่น ในสหรัฐอเมริกา เยอรมนี และญี่ปุ่น
สำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินของ กฟผ. ทั้งโรงไฟฟ้ากระบี่ เทพา และแม่เมาะทดแทน ได้นำเทคโนโลยีการผลิตและกำจัดมลภาวะที่ทันสมัยที่สุด ที่มีการใช้แล้วทั่วโลก เช่น หม้อต้มไอน้ำแบบ Ultra-supercritical ที่ช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงและคาร์บอนไดออกไซด์ กว่าร้อยละ 20 อุปกรณ์กำจัดมลภาวะ อาทิ เครื่องดักฝุ่นประสิทธิภาพร้อยละ 99 เครื่องกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และออกไซด์ของไนโตรเจน ประสิทธิภาพร้อยละ 97 – 99 เครื่องกำจัดไอปรอท เป็นต้น ซึ่งการลงทุนในอุปกรณ์ด้านสิ่งแวดล้อมดังกล่าว คิดเป็นมูลค่าถึงร้อยละ 30 ของราคาโครงการ
สำหรับในประเด็นที่แถลงการณ์กล่าวว่า ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ไม่ยอมรับโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้น กฟผ. ตระหนักและให้ความสำคัญในประเด็นดังกล่าว ในการดำเนินงานโครงการ ตั้งแต่การคัดเลือกสถานที่ เทคโนโลยีที่ใช้ มาตรการดูแลผลกระทบสิ่งแวดล้อมและชุมชน จึงมีความละเอียด รอบคอบ รวมทั้งคำนึงถึงการมีส่วนร่วมและสิทธิของชุมชนในพื้นที่ การดำเนินโครงการจึงได้มีการเผยแพร่ข้อมูล สร้างความรู้ ความเข้าใจ อย่างโปร่งใสต่อเนื่อง รวมทั้งรับฟังเสียงสะท้อนกลับของประชาชนทั้งในขั้นตอนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) และเวทีแสดงความคิดเห็นต่างๆ มีผลให้เกิดการปรับปรุงการออกแบบโครงการ เช่น การทำอุโมงค์สายพานลำเลียงในช่วงลอดใต้คลองและป่าชายเลนยาว 2 กิโลเมตร การลดขนาดของเรือขนส่งถ่านหิน เพื่อไม่ต้องขุดลอกร่องน้ำ การใช้สายพานลำเลียงและอาคารเก็บถ่านหินระบบปิด เป็นต้น
การดำเนินการดังกล่าวที่ผ่านมา จึงทำให้โครงการฯ ได้รับการสนับสนุนจากชุมชนในพื้นที่ และมีการแสดงออกในรูปแบบต่างๆ เช่น การยื่นรายชื่อผู้สนับสนุนโครงการกระบี่กว่า 20,000 รายชื่อ ผู้แทนชุมชนจังหวัดกระบี่และอำเภอต่าง ๆ ยื่นหนังสือสนับสนุนต่อนายกรัฐมนตรี ตลอดจนการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เช่น การติดป้ายผ้า ในบ้าน และในชุมชน ซึ่งสะท้อนให้เห็นการสนับสนุนของชุมชนส่วนใหญ่ ที่มีความเชื่อมั่นในมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม และต้องการให้เกิดการพัฒนาความเจริญในท้องถิ่น การแสดงออกดังกล่าว ยังถือเป็นสัญญาณที่ดี ที่แสดงถึงความร่วมมือระหว่างชุมชนกับโรงไฟฟ้าในการดูแลสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาท้องถิ่นต่อไปในอนาคต
กฟผ. ในฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ยึดมั่นในภารกิจในการจัดหาพลังงานที่มั่นคง เพื่อเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานของคนไทยทั้งประเทศ โดยไม่ได้มุ่งแสวงหาประโยชน์ เพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ในการดำเนินโครงการพัฒนาพลังงาน ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมของสังคม และสิทธิของของชุมชน เพื่อให้การพัฒนาพลังงานของประเทศ ตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของประชาชน ยินดีรับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ความเห็นที่แตกต่าง และพร้อมชี้แจงทุกประเด็นสงสัย เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีร่วมกันต่อไป