สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจัดสัมมนาหัวข้อ “ทำไม การขนส่งทางรางจึงสู้ทางถนนไม่ได้”เมื่อวันที่ 9 พ.ย.65 ที่ผ่านมา ที่มี นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในการบรรยายพิเศษถึง ความคืบหน้าและอนาคตของการพัฒนาการขนส่งทางรางของประเทศไทย
นายไพฑูรย์ จิรานันตรัตน์ ประธานอนุกรรมการด้านการขนส่งทางบก สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยความสำคัญว่า ระบบรางเป็นรูปแบบการขนส่งที่สำคัญในการกระจายสินค้าไปยังจุดหมายปลายทางทั่วประเทศโดยอาศัยการขนส่งทางถนนในช่วงสั้นๆ ที่ต้นทางและปลายทาง นอกจากนี้ ยังสามารถเชื่อมโยงกับโครงข่ายของประเทศเพื่อนบ้านได้อีกด้วย แต่สัดส่วนการขนส่งทางรางในปัจจุบันยังน้อยมากเพียง 1.7-1.8% ของการขนส่งสินค้าทั้งหมดเท่านั้น เมื่อเทียบกับทางถนนที่มีสัดส่วนสูงถึงกว่า 80% เนื่องจากต้นทุนขนส่งทางรางสูงกว่าทางถนนโดยเฉลี่ยอยู่ประมาณ 30% และปัจจุบันเรายังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานรางได้เต็มที่
คณะอนุกรรมการด้านการขนส่งทางบก ภายใต้คณะกรรมการ Logistics & Supply Chain จึงได้จัดทำ ข้อเสนอการเปิดให้เอกชนดำเนินการขนส่งสินค้าทางรถไฟโดยใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานทางราง เพื่อผลักดันในการเพิ่มสัดส่วนการขนส่งทางรางตามแนวทางที่ภาครัฐได้วางเอาไว้ ตลอดจนให้มีต้นทุนที่เหมาะสมและสามารถแข่งขันกับทางถนนได้ โดยได้นำข้อเสนอดังกล่าวเข้ามาเป็นประเด็นสำคัญในการเสวนาครั้งนี้ด้วย
สำหรับช่วงการเสวนาภายในงานได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากวิทยากรจากแต่ละภาคส่วน ทั้ง กรมการขนส่งทางราง สถาบันการขนส่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์กรภาครัฐ ตลอดจน ภาคเอกชนโดย SCG Logistics Management ถึงมุมมองต่อข้อเสนอการเปิดให้เอกชนดำเนินการขนส่งสินค้าทางราง
พร้อมทั้งนำเสนอกฎและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางรางในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นตัวแปรสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้การเพิ่มสัดส่วนขนส่งทางรางเกิดขึ้นได้จริง โดยคณะอนุกรรมการฯ จะสรุปผลจากการเสวนาในวันนี้เสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาต่อไป
นายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และ ประธานคณะกรรมการ Logistics & Supply Chain สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เน้นย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางรางให้มีความสะดวก มีต้นทุนที่เหมาะสมและแข่งขันได้ เพื่อขยายโอกาสการกระจายสินค้าและบริการไปยังจุดหมายปลายทางได้ รวมถึงจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยให้มีต้นทุนโลจิสติกส์ที่สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ภายใต้บริบทการพัฒนาโครงข่ายระบบรางในปัจจุบัน
อาทิ โครงการรถไฟทางคู่ โครงการรถไฟความเร็วสูงที่จะไปเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟสายจีน-ลาว ที่ภาครัฐกำลังดำเนินการในด้านต่างๆ เพื่อให้ระบบรางของไทยสามารถเชื่อมโยงกับโครงการดังกล่าวโดยเร็ว อันสอดรับกับแนวทางในการดำเนินงานที่เน้นการเชื่อมโยง หรือ “Connect the Dots” ของสถาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในแต่ละมิติอย่างต่อเนื่องต่อไป