“สแกนเนีย”พร้อมก้าวสู่มาตรฐานยูโร5ในปี67 ยกระดับธุรกิจขนส่งเติบโตยั่งยืน

0
169

สแกนเนียพร้อมก้าวสู่มาตรฐานปล่อยไอเสียยูโร 5 ของไทยในปี2567 กระตุ้นภาครัฐเร่งกำหนดวางแผนนโยบาย (RoadMap)ให้ชัดเจน รวมถึงการออกมาตรการรองรับระบบขนส่ง เพื่อวางแผนการผลิตรถสำหรับตลาดในไทยสู่การยกระดับธุรกิจขนส่งเติบโตอย่างยั่งยืน

จากการที่ประเทศไทยเตรียมออกมาตรการทางกฎหมายให้รถทุกขนาดเข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานยูโร 5 เพื่อให้การควบคุมมลพิษรถยนต์ในประเทศไทยเป็นไปได้อย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ล่าสุดสแกนเนีย สยาม สนับสนุน และพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจขนส่งและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ซึ่งบริษัทสแกนเนียมีเทคโนโลยีไปถึงเครื่องยนต์มาตรฐานยูโร 6 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นายโจฮัน คลาสัน ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด และหัวหน้างานด้านความยั่งยืน บริษัท สแกนเนีย สยาม จำกัด เปิดเผยว่าภารกิจหลักของสแกนเนีย คือขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสู่ระบบการขนส่งอย่างยั่งยืน ซึ่งการปรับมาตรฐานของประเทศไทยในครั้งนี้จะช่วยลดมลพิษทางอากาศได้อย่างดีแน่นอน และยังถือเป็นการปรับปรุงระบบอุตสาหกรรมการขนส่งทางถนนของประเทศให้มีความทันสมัย ซึ่งสแกนเนียได้สนับสนุน และส่งเสริมนโยบายนี้มาเป็นเวลานาน ในที่สุดก็เริ่มเห็นรูปธรรมอย่างชัดเจนขึ้นจากรัฐบาลไทย แต่ทั้งนี้อยากให้ภาครัฐมีการกำหนดวางแผนนโยบาย (RoadMap) ให้มีความชัดเจน รวมถึงการออกมาตรการรองรับในระบบการขนส่ง ในช่วง 15 ปี ที่ผ่านมา การพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องยนต์เป็นไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เครื่องยนต์มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยทวีปยุโรปได้บังคับใช้มาตรฐานยูโร 6 ไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554

“หลายปีที่ผ่านมา ช่วงปลายปีแบบนี้ยาวไปจนถึงต้นปีถัดไป คนไทยจะเห็น ฝุ่น PM2.5 ในอากาศได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นถึงคุณภาพอากาศที่แย่เอามาก ๆ ส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพของคน และแน่นอนว่ากระทบต่อสภาพโลกร้อน และความรุนแรงของภัยธรรมชาติ สิ่งที่สแกนเนียอยากเห็นต่อไปก็คือการผลักดันให้ประเทศไทยใช้มาตรฐานยูโร 6 ซึ่งเทคโนโลยีที่สูงขึ้นของสแกนเนียจะส่งผลให้เครื่องยนต์มีประสิทธิภาพมากขึ้น ใช้เชื้อเพลิงน้อยลง ซึ่งเชื่อมโยงกับการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่น้อยลง และค่าเชื้อเพลิงที่ต่ำลง สิ่งสำคัญคือความพร้อมของผู้ผลิต และนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ เช่นหลายประเทศใช้การลดภาษีสำหรับรถที่เป็นไปตามมาตรฐานใหม่ และการปลดระวางรถยนต์ที่มีอายุยาวนาน ตลอดจนสร้างกฎเกณฑ์ในการจำกัดการปล่อยมลพิษในบางพื้นที่ เช่น ในใจกลางเมือง แหล่งที่อยู่อาศัย แน่นอนว่าสแกนเนียดำเนินการพัฒนารถขนส่งระบบไฟฟ้า (BEV) มาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันสามารถบรรทุกสิ่งของได้มากขึ้น วิ่งงานได้ระยะทางไกลขึ้น เราจำเป็นต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีความยั่งยืนสำหรับผู้คนทั่วโลก”

ด้านนายณรงค์ฤทธิ์ อิทธิสารรณชัย ผู้จัดการฝ่ายสนับสนุนการขาย บริษัท สแกนเนีย สยาม จำกัด กล่าวเสริมว่า เครื่องยนต์มาตรฐานยูโร 5 เมื่อเทียบกับยูโร 3 ในปัจจุบันจะสามารถช่วยลดมลภาวะในอากาศค่า PM ได้ต่ำกว่าเดิมถึง 10 เท่า และยังช่วยให้ประหยัดน้ำมันขึ้นอีกประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งส่งผลที่ดีทั้งต่อสิ่งแวดล้อม และต้นทุนของผู้ประกอบการอีกด้วย ทางสแกนเนีย สยาม เองมีความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงตามมาตรฐานยูโร 5 มานานแล้ว เพียงแต่ต้องการความชัดเจนจากภาครัฐถึงแผนการดำเนินการนโยบายดังกล่าว เพื่อวางแผนการผลิตรถสำหรับตลาดในประเทศไทย และยกระดับให้ธุรกิจขนส่งในประเทศเติบโตอย่างยั่งยืนอีกด้วย