“สรท.”มั่นใจส่งออกไทยทั้งปีฝ่ามรสุมโต 8%

0
56

สรท.เผยตัวเลขส่งออกไทย(ม.ค.-ส.ค.65)ขยายตัว 11%คาดการณ์การส่งออกรวมปี 65 ทั้งปีที่ 7-8%ท่ามกลาง 3ปัจจัยเสี่ยง “เงินเฟ้อ-พลังงานดีดตัวสูง-ต้นทุนวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน”แนะรัฐรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันในประเทศ เร่งแก้ไขปัญหากฎระเบียบการถ่ายลำ

ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ส่งออกไทยว่าภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนสิงหาคม 2565 กับเดือนเดียวกันของปีก่อน พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 23,632.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 7.5% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 861,169 ล้านบาท ขยายตัว 20.4% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือนสิงหาคมขยายตัว 10.1%) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 27,848.1 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 21.3% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ1,026,654 ล้านบาท ขยายตัว 35.5% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนสิงหาคม 2565 ขาดดุลเท่ากับ 4,215.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 165,485 ล้านบาท

ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนมกราคม – สิงหาคมของปี 2565 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนพบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 196,446.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 11% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 6,635,446 ล้านบาท ขยายตัว 21.9% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในช่วงมกราคม – สิงหาคมขยายตัว 8.5%) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 210,578.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 21.4% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 7,218,870 ล้านบาท ขยายตัว 33.4% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมกราคม – สิงหาคมของปี 2565 ขาดดุลเท่ากับ 14,131.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 583,424 ล้านบาท

อนึ่ง สรท. คาดการณ์การส่งออกรวมปี 2565 ทั้งปีที่ 7-8% (ณ เดือนตุลาคม 2565) โดยมีปัจจัยปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 2565 ได้แก่

1)สถานการณ์อัตราเงินเฟ้อของประเทศคู่ค้าสำคัญทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ดำเนินนโยบายทางการเงินแบบเข้มงวดด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็วเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ส่งผลให้

1.1) เศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกามีความเสี่ยงต่อการชะลอตัวอย่างมีนัยยะสำคัญ ก่อให้เกิดความกังวลต่อนักลงทุนและคู่ค้ากับสหรัฐฯ

1.2) อัตราผลตอบแทนในการถือเงินดอลลาร์สูงขึ้น อุปสงค์เงินดอลลาร์มากขึ้น ค่าเงินดอลลาร์จึงเคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่าอย่างรวดเร็ว และส่งผลต่อเนื่องถึงสกุลเงินอื่นๆ ทั่วโลก (Currency baskets) ให้ปรับตัวอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ในทางกลับกันไทยอาจเสียเปรียบจากการส่งออกไปยังตลาดอื่นที่มีค่าเงินอ่อนค่ากว่า โดยเฉพาะการแข่งขันด้านราคาของไทยลดลง

2) ราคาพลังงานทรงตัวในระดับสูง จากสถานการณ์ข้อพิพาทระหว่างยูเครนและรัสเซียที่ยังคงยืดเยื้อ ปริมาณน้ำมันคงคลังของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง / ประกอบการปรับขึ้นอัตราค่าไฟฟ้า (FT) ภายในประเทศ ส่งผลต่อเนื่องถึงต้นทุนภาคการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและต้นทุนในการดำรงชีวิตภาคครัวเรือน ปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลก

และ 3) ปัญหาต้นทุนวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน อาทิ เซมิคอนดักเตอร์, เหล็ก, ธัญพืช เช่น ข้าวสาลี ถั่วเหลือง ข้าวโพด เมล็ดทานตะวัน แป้งสาลี อาหารสัตว์ ปุ๋ย เป็นต้น         

ทั้งนี้ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย มีข้อเสนอแนะที่สำคัญประกอบด้วย

1) ควรเร่งส่งออกในช่วงค่าเงินบาทอ่อน แต่ต้องติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด รวมถึงพิจารณาการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงให้เหมาะสม

2) ด้านพลังงานและต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น

2.1) ขอให้ภาครัฐช่วยรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันในประเทศให้อยู่ระดับที่เหมะสม เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภคมากเกินไป

2.2) ขอให้ภาครัฐช่วยพิจารณาควบคุมหรือปรับขึ้นค่าไฟฟ้า (FT) ทั้งในภาคการผลิตและภาคครัวเรือน แบบค่อยเป็นค่อยไป

3) ขอให้เร่งแก้ไขปัญหากฎระเบียบด้านการถ่ายลำ (Transshipment) เพื่อดึงดูดเรือแม่เข้ามาให้บริการแบบ Direct Call ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการรับส่งสินค้า รวมถึงสามารถบริหารจัดการต้นทุนค่าระวางเรือให้อยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในต่างประเทศได้