กรมทางหลวง(ทล.)โดยสำนักวิจัยและพัฒนางานทาง ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินโครงการศึกษาเทคโนโลยีตรวจวัด ติดตาม เตือนภัย และบริหารจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติดินสไลด์ในโครงข่ายทางหลวงเพื่อแก้ปัญหาดินสไลด์ปิดทับทางหลวงจากภัยพิบัติธรรมชาติ คันทางชำรุดเสียหายเนื่องจากน้ำกัดเซาะ ถนนถูกตัตขาดต้องปิดเส้นทางสัญจร ทำให้ประชาชนเสียเวลา ไม่ได้รับความสะดวก ความปลอดภัยในการเดินทาง
นายสิทธาฤทธิ์ ปรีดานนท์ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงเชียงใหม่ที่ 1 กล่าวว่าจากรายงานสถิติการเกิดเหตุดินสไลด์จากภัยธรรมชาติในพื้นที่ที่รับผิดชอบ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 – 2565 มีจำนวน 212 ครั้ง ส่งผลให้เกิดการสูญเสียทรัพย์สินและงบประมาณของประเทศมากมาย หากมีการนำเทคโนโลยีในการติดตามความเสี่ยงของคันทางได้จะสามารถลดการใช้งบประมาณในการซ่อมแซม และต่อยอดในการออกแบบคันทางที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาดินสไลด์ในอนาคต
ด้าน ดร.อัคคพัฒน์ สว่างสุรีย์ วิศวกรโยธาเชี่ยวชาญในฐานะหัวหน้าโครงการ กล่าวว่าสำนักวิจัยและพัฒนางานทางเล็งเห็นความสำคัญปัญหาดังกล่าว จึงได้ดำเนินการเลือกพื้นที่แขวงทางหลวงเชียงใหม่ที่ 1 เป็นพื้นที่นำร่อง โดยจัดทำแปลงศึกษาการป้องกันแก้ไขดินสไลด์และน้ำผิวดินกัดเซาะในสภาพพื้นที่จริง โดยคำนึงถึงหลักการและแนวคิดของความเหมาะสมด้านวิศวกรรม ค่าก่อสร้าง การบำรุงรักษา และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นต้นแบบ แนวทางปฏิบัติงานอย่างเป็นรูปธรรมแก่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในพื้นที่เนินเขา วิธีการติดตั้งและใช้งานอุปกรณ์ตรวจวัดพื้นฐานต่างๆ ขั้นตอนการใช้งาน การรายงานข้อมูล การติดตามผล การพยากรณ์เตือนภัย การป้องกันแก้ไขก่อนเกิดเหตุ การประเมินความเสี่ยงและเฝ้าระวังภัยพิบัติดินสไลด์ ตลอดจนการดูแลบำรุงรักษาระบบป้องกันดินสไลด์และน้ำกัดเซาะอย่างยั่งยืน(Sustainable)
สำหรับการศึกษาโครงการดังกล่าว ได้ดำเนินการในพื้นที่นำร่องไปแล้วทั้งหมด 4 จุด ได้แก่ 1) ทล. 1192 กม.11+500 จ.เชียงใหม่ 2) ทล. 118 กม.46+700 จ.เชียงใหม่ 3) ทล. 21 กม.324+151 จ.เลย และ 4) ทล. 21 กม.329+700 จ.เลย พบว่า มีจุดเด่นที่เป็นประโยชน์หลายด้าน ทั้งการประยุกต์ใช้พรรณพืชตามหลักชีววิศวกรรม (Bio-engineering) การนำวัสดุท้องถิ่น (Local) และวัสดุหมุนเวียน (Recycled) กลับมาใช้ใหม่ การบริหารจัดการน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ การสาธิตการทำงานของเทคโนโลยีตรวจวัด ติดตาม รายงาน และประเมินความปลอดภัยทางด้านวิศวกรรมด้วยระบบอุปกรณ์ตรวจวัดในสนามที่เชื่อมต่อกับแพลทฟอร์มอินเทอร์เน็ต (IoT Platform) ซึ่งทำหน้าที่รายงานข้อมูล พยากรณ์ เตือนภัย ประเมินความปลอดภัย ความเสี่ยงต่างๆ และติดตามเฝ้าระวังภัยพิบัติดินสไลด์แบบ Real Time ผ่าน Web Application
สำหรับผลงาน “การศึกษาเทคโนโลยีตรวจวัดติดตาม เตือนภัย และบริหารจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติดินสไลด์ในโครงข่ายทางหลวง” ได้รับรางวัลชมเชย ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 (Thailand Research Expo 2022) และยังได้รับความสนใจจากหน่วยงานต่างๆ เช่น การเยี่ยมชมการดำเนินงานโครงการฯ โดยคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) และการฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจในการทำงานด้านวิศวกรรมเชิงลาดให้กับบุคลากรกรมทางหลวงที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ แขวงทางหลวงเชียงใหม่ที่1 แขวงทางหลวงเชียงใหม่ที่ 2 และแขวงทางหลวงเลยที่ 2 (ด่านซ้าย) ซึ่งเป็นแนวทางที่นำไปปรับใช้กับพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติดินสไลด์ในความดูแลรับผิดชอบได้ เนื่องจากผลการดำเนินงานมีแนวโน้มที่ดี กรมทางหลวงจึงเตรียมการเสนอแผนการพัฒนาต่อยอดและขยายผลการศึกษานวัตกรรมและเทคโนโลยีในการตรวจวัด ติดตาม เตือนภัยและบริหารจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติดินสไลด์ ให้ครอบคลุมโครงข่ายทางหลวงเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาดินสไลด์ คันทางชำรุดเสียหายเนื่องจากน้ำกัดเซาะ ลดอุบัติเหตุ เพิ่มความปลอดภัยแก่ผู้ใช้ทาง