กำลังเป็นประเด็นที่ผู้คนในสังคมกังขาและวิพากษ์อย่างหนักหน่วง กับเรื่องที่ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) กระทรวงคมนาคม ออกประกาศกฎกระทรวงที่ออกตามพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ว่าด้วย “ความเร็วรถ” บนทางพิเศษ หรือทางด่วนพิเศษ โดยกำหนดความเร็วบนทางพิเศษ (ทางด่วน) ยกระดับของรถยนต์ 4 ล้อ ไม่เกิน 100 กม./ชม. ส่วนทางด่วนระดับดินไม่เกิน 110 กม./ชม มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 22 ก.ค.65 ที่ผ่านมา
ทำเอาประชาชนคนไทยวิพากษ์กันสนั่นเมือง เพราะย้อนแย้งกับนโยบายของกระทรวงคมนาคม ที่ก่อนหน้าไม่ถึงขวบปีก็เพิ่งแก้ไขกฎกระทรวง ปลดล็อคความเร็วบนถนนหลวง หรือมอเตอร์เวย์ให้ใข้ความเร็วได้ 100-120 กม./ชม.ดีเดย์ที่ถนนทางหลวง สายเอเชีย ช่วงระหว่างหมวดทางหลวงบางปะอิน – ทางต่างระดับอ่างทอง ระยะทาง 50 กิโลเมตร มาตั้งแต่ต้นปี 2564 และยังมีแผนจะขยายเส้นทางเฟส 2 ไปยังถนนสายหลักอื่นๆอีกนับสิบสาย
ย้อนรอยนโยบายของกระทรวงคมนาคมในการแก้ไขกฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา 5 (1) แห่งพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปลดล็อคสปีดความเร็วรถให้สามารถวิ่งได้ถึง 100-120 กม./ชั่วโมง ตามประกาศในราชกิจจาฯ เมื่อวันที่ 10 มี.ค.64 นั้น ก็ด้วยเหตุผลรัฐมนตรีว่ากระทรวงคมนาคมกำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วน กำหนดอัตราความเร็วถนน 4 ช่องทางจราจรขึ้นไปให้ใช้อัตราความเร็วได้ไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อระบายการจราจรให้คล่องตัวยิ่งขึ้น โดยดีเดย์เส้นทางสายเอเชีย และเส้นทางถนนราชพฤกษ์ ถนนชัยพฤกษ์
ขณะที่ปี 65 นี้ก็มีแผนขยายอีก 8 เส้นทาง อาทิ 1. ทางหลวงช่วงหนองแค-หินกอง-ปากข้าวสาร-แยกสวนพฤกษศาสตร์พุแค 2. ทางหลวงช่วงบางแค-คลองมหาสวัสดิ์ 3.ทางหลวงช่วงเทคโนโลยีปทุมธานี-ต่างระดับเชียงรากน้อย
บางเส้นทางยังไม่ทันได้ปรับเปลี่ยนป้าย จำกัดความเร็วให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงคมนาคมเสียด้วยซ้ำ แต่วันดีคืนดี จู่ ๆ การทางพิเศษฯ ( กทพ.) กลับซุ่มเงียบแก้ไขกฎกระทรวง ที่ออกตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกปี 2522 ปรับปรุงและจำกัดวามเร็วบนทางด่วนยกระดับ และทางบนด่วนบนดินเสียใหม่ ที่ย้อนแย้งกับนโยบายของกระทรวงคมนาคมข้างต้น
โดยสาระสำคัญของกฎกระทรวงฉบับใหม่นี้ กำหนดความเร็วรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ต้องวิ่งบนทางด่วนในเขตเมืองไม่เกิน 100 กม./ชม รถยนต์บรรทุก(>2.2 ตัน) ไม่เกิน 80 ก.ม./ชม. รถโดยสาร (>15 คน) รถโรงเรียนรับ-ส่งนักเรียนไม่เกิน 80 กม./ชม.
เปรียบเทียบกับนโยบายที่กระทรวงคมนาคมเพิ่งตีปี๊บหาเสียงไปก่อนหน้าในการปลดล็อคความเร็งรถบนถนนหลวง มอเตอร์เวย์ หรือแม้แต่ทางด่วนที่ให้รถยนต์สามารถวิ่งได้ไม่เกิน 120 กม/ชม.รถบรรทุกไม่เกิน 90 กม./ชม. รถยนต์สี่ล้อเล็กหรือรถยนต์สามล้อไม่เกิน 65 กม./ชม. มันจะไม่ทำให้ผู้คนกังขา วิพากษ์กันสนั่นเมืองได้อย่างไร
แม้ กทพ.จะอ้างมูลเหตุที่ต้องกำหนดความเร็วบนทางพิเศษ เพื่อรักษาความปลอดภัยของผู้ใช้รถบนท้องถนนก็ตามที
คำถามก็คือในเมื่อทางด่วนนั้น ชื่อมันก็บอกอยู่แล้วว่าคือทางด่วน ทางยกระดับซึ่งเป็นทางปิด ไม่ได้มีผู้คนชางบ้านร้านรวงที่ไหนสัญจรตัดผ่าน แล้วจะไปกำหนดความเร็วสูงสุด ต่ำกว่าความเร็วบนนถนนหลวง มอเตอร์เวย์ หรือทางติดพื้นดินได้อย่างไร จะไปสร้างทางด่วนกันไปเพื่ออะไร
สู้ไปสร้างทางธรรมดารองรับรถยนต์โดยทั่วไปให้วิ่งกันได้ 100-120 กม.ไม่ดีกว่าหรือ หากสร้างมาแล้วกำหนดข้อห้ามใช้ความเร็ว แบบนี้ก็สู้แค่สร้างทางหลวงธรรมดา หรือทางหลวงชนบทธรรมดาไม่ดีกว่าหรือ ไม่สิ้นเปลืองงบโดยใช่เหตุ
ในส่วนของผู้ใช้ทางพิเศษต่างวิพากษ์วิจารณ์ปมประเด็นนี้กันดังสนั่นบนโลกโซเชียล อาทิ ผู้ใช้ชื่อว่า Nuttawat Chaomuangbon กล่าวว่า ไปคิดมาใหม่ออกกฎอะไรก็ช่วยถามประชาชนด้วย และประโยชน์ของเรื่องนี้ คืออะไร อย่าพูดว่าความปลอดภัย เพราะฟังไม่ขึ้นจาก 120 เหลือ 100-110 ไม่ได้ปลอดภัย รถออกมาวิ่งให้ได้ 180 -220 ดันมีกฎหมายควบคุม หรือขาดแคลนงบฯ หรือใครอยากได้เงินเพิ่ม
สอดคล้องกับ Sophon Charoenthanang ที่ไม่เห็นด้วยกับกฎกระทรวงกำหนดความเร็วในทางพิเศษ เราจะสามารถทำยังไง เพื่อให้เกิดการพิจารณาใหม่ ยกเลิก หรือแก้ได้บ้าง
ด้าน Supakorn Dechakittinun กล่าวว่า ขับไม่เกิน 100 กม./ชม.ไม่ไหว รถสมัยนี้แป๊บเดียว 120 แล้ว และรถสมัยนี้มันเกาะถนนกว่ารถสมัยก่อนมากเยอะมาก ฉะนั้นวิ่งไม่เกิน 100 ก.ม./ชม.ยิ่งทำให้รถติดอย่างหนักบนทางพิเศษ