งานหัตถกรรมไทยกับเทรนด์รักษ์โลก

0
385

เทรนด์รักษ์โลกเป็นเทรนด์ที่ได้รับความสนใจมากในปัจจุบัน เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป หลายคนหันมารักษาสุขภาพ เลือกใช้สินค้าที่ปลอดภัย ไร้สารพิษและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมจนเป็นกระแสที่ได้รับความนิยมในวงกว้าง แบรนด์ท้องถิ่นต่างๆจึงมีบทบาทมากขึ้นจนได้รับความสนใจเป็นพิเศษ สามารถที่จะสร้างผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าขึ้นได้ กลายเป็นเทรนด์ของโลกปัจจุบันและคาดว่าจะเป็นเทรนด์แห่งอนาคตด้วย

แบรนด์ท้องถิ่น หรือ Local Brand มักจะมีพื้นฐานมาจากการใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ให้คุณค่ากับการสนับสนุนการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่น สร้างนวัตกรรมที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ตรงกับความต้องการของคนยุคนี้ที่ต้องการความปลอดภัย และต้องการอนุรักษ์ธรรมชาติไปพร้อมกัน

เมื่อมุมมองการใช้ชีวิตเปลี่ยนจึงทำให้เกิดโมเดลเศรษฐกิจใหม่ เรียกว่า BCG Model คือการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมทั้ง 3 มิติไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) การใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มมูลค่าทรัพยากรในประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำน้อยแต่ได้มาก เสริมความมั่นคงด้านรายได้ เศรษฐกิจแบบหมุนเวียน (Circular Economy) การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดการสูญเสีย ใส่ใจเรื่องการ Recycle Zero Waste และการ Upcycle เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน

สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (สศท.) หรือ SACIT เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ขานรับแนวคิดนี้ มุ่งส่งเสริมให้ช่างฝีมือที่มีภูมิปัญญาและทักษะเชิงช่างในชนบท หันมาพัฒนา ต่อยอดและนำองค์ความรู้ในงานศิลปหัตถกรรม ที่ตอบโจทย์เทรนด์รักษ์โลก มาเป็นอาชีพหลักที่สร้างงานสร้างรายได้ที่มั่นคง ขับเคลื่อนผ่านกลุ่มผู้ผลิตงานหัตถกรรมในชุมชนช่วยกันต่อยอดงานภูมิปัญญาชาวบ้านและสร้างสรรค์ให้มีความเป็นสากลมากขึ้น เพื่อตรงตามความต้องการของตลาดในปัจจุบัน ควบคู่สร้างความยั่งยืน เพื่อให้งานศิลปหัตถกรรมไทยอยู่คู่กับสังคมไทยต่อไป

หมายเหตุ:

ผลงาน “อารยธรรมผ้าเขียนเทียนจากชาวม้งสู่ชาวโลก”

การย้อมผ้าด้วยฮ่อมและการเขียนเทียนลงบนผ้าใยกัญชงเป็นวัฒนธรรมในการนุ่งห่มของชาวม้งมาตั้งแต่โบราณ มีเรื่องเล่าขานกันว่าลายที่เขียนลงบนผ้านั้นเป็นอักขระโบราณของชาวม้ง ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร แต่ลวดลายนั้นก็บ่งบอกความเป็นตัวตนของชาวม้งได้เสมอมา

ขั้นตอนการทำผ้าใยกัญชงเขียนเทียนนั้น ยังใช้วิธีดั้งเดิม ตั้งแต่การปลูกกัญชง เก็บเกี่ยว และขั้นตอนการเตรียมเส้นใยที่มีกระบวนการมากกว่า 10 ขั้นตอน ผ่านการทอจนมาถึงการเขียนขี้ผึ้งลงบนผ้าด้วยปากกาทองแดงจุ่มขี้ผึ้งร้อน เมื่อเขียนเสร็จจึงนำไปย้อมเย็นด้วยฮ่อม และนำมาต้มเพื่อลอกเอาขี้ผึ้งออก ทุกอย่างเป็นงานทำมือ น่ายินดีที่ลูกหลานชาวม้งหลายคนให้ความสนใจและอนุรักษ์การทำผ้าเขียนเทียนไว้ ทำให้สามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืนจากภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษมอบไว้เป็นมรดกให้กับลูกหลานอย่างแท้จริง

วิสาหกิจชุมชนดาวม่าง งานผ้าใยกัญชง ตำบล โป่งแยง อำเภอ แม่ริม จังหวัด เชียงใหม่
คุณ ธัญพร ถนอมวรกุล (ครูช่างศิลปหัตถกรรมปี 2564)

เสน่ห์ใยกัญชง ถักทอ ทำเงิน

จุดเริ่มต้นการเป็นช่างถักทอของครูนวลศรี เริ่มต้นตั้งแต่สมัยที่เธอเรียนอยู่ชั้น ป.3 เมื่อได้หัดถักนิตติ้งจากคุณแม่ที่ไปเรียนการถักมาจากมิชชันนารี่ที่มาเผยแผ่ศาสนาในสมัยครั้งที่เมืองเชียงใหม่ยังใช้ทางเกวียน เมื่อกว่า 70 ปีมาแล้ว ครั้งนั้นคุณแม่ของครูนวลศรีต้องจ่ายค่าเรียนเป็นเงิน 200 บาท เทียบกับค่าอาหารในยุคนั้นที่เงินหนึ่งสลึงซื้ออาหารกินได้ก็ถือว่าค่าเรียนแพงมาก ต่อมาเมื่อว่างจากการทำไร่ ทำนา ครูนวลศรีได้ชักชวนเพื่อนๆหันมาถักเส้นใยกัญชง เพราะเห็นว่าตลาดต่างชาติสนใจ การถักนิตติ้งจากไหมพรมและใยกัญชงนั้นไม่ต่างกัน กลุ่มจึงรังสรรค์งานหัตถกรรมนิตติ้งและโครเชต์จากใยกัญชง ช่วยกันทำตั้งแต่ปีพ.ศ. 2544 เรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้

ครูเรียนรู้วิธีการทำให้ผ้าใยกัญชงให้นิ่ม ใส่สบาย ไม่ระคายผิว ด้วยการนำไปต้ม ทำให้ผู้คนติดใจเสน่ห์ของผ้าใยกัญชงมากขึ้น และผ้ายังมีคุณสมบัติไม่ดูดกลิ่น ไม่ขึ้นรา กันยูวี ใส่แล้วไม่ต้องซักบ่อยๆ มีอายุใช้งานเกิน 10 ปี เป็นงานที่สายรักธรรมชาติติดใจ

วิสาหกิจชุมชนผลิตใยกัญชง ทรายทอง อำเภอ แม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
คุณ นวลศรี พร้อมใจ (ครูช่างศิลปหัตถกรรมปี 2557)

จักสานเตยปาหนันบอกเล่าวิถีมุสลิม

เตยปาหนัน เป็นพืชตระกูลเตย พบมากที่ชายหาดและป่าโกงกาง ใบมีลักษณะแข็ง มีหนาม 3 ด้าน เส้นใยมีความทนทาน สันนิษฐานว่าวัฒนธรรมการนำเตยปาหนันมาทำเครื่องสานมาพร้อมกับชาวมุสลิมอพยพ ซึ่งสมัยก่อนนำมาสานเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น ภาชนะต่างๆในครัว เสื่อปูนอน เสื่อปูละหมาด ฯลฯ

หัวใจหลักของการทำจักสานเตยปาหนันคือการเตรียมเส้นใยซึ่งมีความซับซ้อน ใช้เวลานานประมาณ 4-5 วัน กว่าจะได้เส้นที่พร้อมใช้ นอกจากนี้เส้นเตยที่ได้จะนิ่มกว่างานจักสานทั่วไปแต่ยังคงคุณสมบัติที่ทนทาน ผู้สานจึงตัองใช้ความชำนาญและพิถีพิถันในการสานเพื่อให้งานออกมาแน่นและเรียบ จุดเด่นของจักสานเตยปาหนันบ้านดุหุนที่ทำให้หลายคนสะดุดตาอยู่ที่การสานไล่สีออกมาได้อย่างสวยงามในโทนคลาสสิก ทำให้ถูกใจคนไทยและลูกค้าชาวญี่ปุ่น เกาหลีและอเมริกา

วิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์เตยปาหนัน บ้านดุหุน จ.ตรัง
คุณ จันทร์เพ็ญ ปูเงิน (สมาชิก SACIT)

ผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติจากดินแดนคีรีวง

ที่บ้านคีรีวง ตำบลกำโลน อำเภอ ลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช เคยเกิดเหตุดินถล่มจากอุทกภัยครั้งใหญ่ สวนผลไม้ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านและบ้านเรือนถูกทำลาย ชาวบ้านต้องการมีอาชีพเสริมนอกจากการทำสวน จึงเริ่มการทำผ้าย้อมสีธรรมชาติจากต้นไม้ในสวนนานาชนิดที่ตอนนี้นำมาสร้างสรรค์สีได้นับ 10 สี ทั้งจากใบและเปลือกมังคุดที่ให้สีต่างกัน เปลือกเงาะ ฝักสะตอ เปลือกลูกเนียง แก่นไม้หลุมพอ แก่นไม้ขนุน ใบหูกวาง ใบเพกา บวกกับความรู้ด้านการย้อมและทอผ้าจากบรรพบุรุษ มีการใช้เทคนิกที่เรียนรู้ใหม่โดยการใช้ไม้ไผ่ชิ้นเล็กๆมาประกบมัดผ้าเข้าด้วยกันจนเกิดเป็นลายมัดย้อมที่สวยสะดุดตา ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากคนไทยและคนญี่ปุ่น เป็นการจัดการมรดกทางธรรมชาติที่ช่วยให้ชุมชนและสังคมอยู่ได้อย่างยั่งยืน

กลุ่มมัดย้อมสีธรรมชาติ บ้านคีรีวง ตำบล กำโลน จังหวัด นครศรีธรรมราช
คุณ อารีย์ ขุนทน (ครูช่างศิลปหัตถกรรมปี 2563)

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานศิลปหัตถกรรมไทย สามารถติดต่อได้ที่ สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) โทร. 1289 หรือ Facebook: sacitofficial