BTS ร้อง DSI สอบฮั้วประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม

0
64

“BTS” ยื่นหนังสือถึง DSI ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีฮั้วประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม หลังพบเงื่อนไขประมูลใหม่ปิดกั้น ส่อเอื้อประโยชน์เอกชนบางกลุ่ม

นายสุรมนต์ มีเมศกุล ผู้รับมอบอำนาจจาก บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดกรณีที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมฯ)

โดยบริษัทได้พิจารณาแล้วพบว่า ข้อกำหนดเงื่อนไขในสาระสำคัญเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ มีเจตนากีดกันบริษัทไม่ให้มีโอกาสเข้าแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และยังเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้เสนอราคารายหนึ่งรายใดอย่างชัดเจน อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 ซึ่งก่อนหน้าที่จะมาร้องทุกข์นี้บริษัทได้มีการร้องเรียนเรื่องที่ไม่ถูกต้องนี้ยังผู้รับผิดชอบตามกฎหมายมาโดยตลอด แต่กลับไม่มีการดำเนินการใดๆ จึงขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินการสืบสวนสอบสวนตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงินไม่เกิน 96,012 ล้านบาท ฉบับลงวันที่ 24 พ.ค.65 กำหนดการรับซองเอกสารข้อเสนอในวันที่ 27 ก.ค.65 เวลา 09.00 ถึง 15.00 น. และเปิดซองข้อเสนอในวันที่ 1 ส.ค.65 แสดงถึงเจตนาที่ต้องการจะดำเนินการคัดเลือกต่อไปโดยไม่รอผลของคำพิพากษาศาลปกครองให้ถึงที่สุด และเมื่อดูในรายละเอียดข้อกำหนดคุณสมบัติด้านเทคนิค ประสบการณ์ ผลงาน ตามประกาศเชิญชวน ฉบับลงวันที่ 24 พ.ค.65 มีความแตกต่างไปจากฉบับลงวันที่ 3 ก.ค.63 ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ คือ

  1. ต้องมีผลงานกับหน่วยงานของรัฐบาลไทย
  2. ผลงานต้องแล้วเสร็จ
  3. ผู้รับเหมาต้องเป็นนิติบุคคลไทยรายเดียว หรือกลุ่มนิติบุคคลไทยถือหุ้นรวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 51% ฯลฯ

โดยการกำหนดคุณสมบัติใหม่นี้ ทำให้กลุ่มนิติบุคคลของบริษัทที่เคยมีคุณสมบัติสามารถเข้าแข่งขันในโครงการนี้ ไม่สามารถเข้าแข่งขันตามประกาศฉบับหลังนี้ได้ ในขณะที่ข้อกำหนดฉบับหลังนี้กลับไม่มีผลกระทบ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) ซึ่งเป็นผู้ยื่นข้อเสนอคู่แข่งขันรายเดียวของบริษัท ตามประกาศ ฉบับลงวันที่ 3 ก.ค.63 ที่ยังคงสามารถยื่นข้อเสนอตามประกาศฉบับลงวันที่ 24 พ.ค.65 ได้

ซึ่ง รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกทราบดีว่า ด้วยคุณสมบัติและรายละเอียดที่กำหนดขึ้นใหม่นี้ จะทำให้กลุ่มนิติบุคคลของบริษัทฯ ขาดคุณสมบัติและไม่สามารถเข้าร่วมแข่งขันราคาตามประกาศเชิญชวนฉบับใหม่ได้ ข้อกำหนดดังกล่าวจึงเป็นการกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์ เพื่อกีดกันกลุ่มนิติบุคคลของบริษัทฯ และเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้เสนอราคาคู่แข่งอีกรายอย่างชัดเจน

“จากสาระสำคัญทั้งหมดทำให้วันนี้บริษัท จึงได้มอบอำนาจให้ผมมาร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อขอให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ตรวจสอบและพิจารณาดำเนินคดีอาญาแก่ผู้กระทำผิด ผู้สนับสนุน ตามความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ที่มิให้มีการแข่งขันราคากันอย่างแท้จริงและเป็นธรรม ช่วยเหลือ เอื้อประโยชน์แก่ผู้เสนอราคารายหนึ่ง หรือ หลายรายให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญา หรือ เพื่อกีดกันผู้เสนอราคารายใดมิให้มีโอกาสเข้าแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม”