ไทย-เยอรมันจับมือนำเทคโนฯยุโรป พัฒนาระบบรางทั่วไทย-แหล่งซ่อม

0
184

“ศักดิ์สยาม”จับมือเยอรมัน นำเทคโนโลยีระบบรางยุโรปรองรับการพัฒนารางทั่วไทย หวังให้ไทยเป็นแหล่งซ่อมสร้าง แหล่งผลิต และแหล่งรวมวิทยาการระบบรางที่เป็นรูปธรรมภายใต้นโยบาย Thai First เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมระบบรางในประเทศไทยในอนาคต

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังร่วมปาฐกถาในการประชุม German – Thai Conference ในหัวข้อ “The Future is Rail” และร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลงเพื่อความร่วมมือด้านระบบรางระหว่างสมาคมอุตสาหกรรมระบบรางในเยอรมนี และสมาคมระบบรางเยอรมัน – ไทย ว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางระบบรางและการขนส่งสาธารณะถือเป็นรูปแบบการคมนาคมหลักของประเทศ ที่รองรับการขนส่งและการเดินทางต่อเนื่องอย่างไร้รอยต่อ ดังนั้นคมนาคมจึงได้กำหนดแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางราง ให้เป็นแผนแม่บทในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการรถไฟ ตลอดจนยกระดับการให้บริการในอนาคต ซึ่งในแผนดังกล่าวจะใช้ประโยชน์จากนวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ และเทคนิคการจัดการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุนการขนส่งสินค้ารวมทั้งปรับปรุงประสิทธิภาพการบริการในประเทศไทย โดยกระทรวงคมนาคมได้ร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชนในการแก้ปัญหาการขนส่งจากรถบรรทุกเป็นระบบราง

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังมีโครงการ MR Map ที่จะส่งเสริมการบูรณาการแนวทางการแก้ปัญหาการขนส่ง และการจราจรทางรถไฟที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการเติบโตของการพัฒนาอย่างเป็นระบบเพื่อจัดการกับปัญหาการจราจรติดขัดและมลภาวะในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง นอกจากนั้นยังเดินหน้าสร้างรถไฟฟ้าให้ครอบคลุมพื้นที่ กทม.และปริมณฑล, ซึ่งในปัจจุบันมีรถไฟฟ้าให้บริการ 11 เส้นทางและภายในปี 79 จะมี 14 เส้นทาง รวมระยะทาง 554 กิโลเมตร นอกจากนี้นโยบายยังได้วางแผนที่จะพัฒนาระบบขนส่งไฟฟ้าในเมืองใหญ่อื่นๆ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ ภูเก็ต และนครราชสีมาในการเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ในภูมิภาค

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ภายในปี 72 คมนาคมจะขยายโครงข่ายรถไฟทางคู่เพิ่มจาก 173 กิโลเมตรเป็น 3,327 กิโลเมตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งและโลจิสติกส์ภายในประเทศ ปัจจุบันมีรถไฟความเร็วสูง 2 โครงการอยู่ระหว่างก่อสร้าง ซึ่งโครงการเหล่านี้เป็นโครงการเชิงยุทธศาสตร์ในการเชื่อมต่อภายในภูมิภาคอาเซียน และประเทศเยอรมนีเป็นหนึ่งในผู้นำด้านอุตสาหกรรมระบบรางที่ใหญ่ที่สุดของโลก ดังนั้นจึงมั่นใจว่าฝ่ายเยอรมนีจะสนับสนุนการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งการร่วมมือกันดังกล่าวจะทำให้ทั้งสองฝ่ายสนับสนุนพัฒนาระบบรถไฟในประเทศไทย ให้ไทยเป็นแหล่งซ่อมสร้าง แหล่งผลิต และแหล่งรวมวิทยาการระบบรางที่เป็นรูปธรรมภายใต้นโยบาย Thai First เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมระบบรางในประเทศไทยในอนาคต