ยังคงเป็น Talk of the Town สะเทือนไปทั้งลำ
กับเรื่องของสินบน “โรลสรอยซ์” บริษัทผู้ผลิตเครื่องยนต์ยักษ์ใหญ่ของอังกฤษ ที่ยอมรับสารภาพกับศาลสูงอังกฤษว่า ได้ติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมืองและพนักงานบริษัทใน 7 ประเทศ เพื่อขายเครื่องยนต์ให้และ ยอมเสียค่าปรับ 671 ล้านปอนด์หรือกว่า 28,500 ล้านบาทให้กับสำนักงานต่อต้านการทุจริต (SFO) ของรัฐบาลอังกฤษแลกกับการไม่ต้องถูกดำเนินคดีอาญาอีกคดี
โดยในส่วนของการขายเครื่องยนต์ให้กับการบินไทยนั้น มีการจ่ายสินบน 3 ครั้งรวม 36.38 ล้านดอลลาร์หรือ กว่า 1,200 ล้านบาทครั้งแรกจ่ายไป 18.8 ล้านดอลลาร์ ประมาณ 660 ล้านบาท ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2534–30 มิถุนายน 2535 ในรัฐบาลโปร่งใสของนายอานันท์ ปันยารชุน เพื่อจัดซื้อ เครื่องยนต์เทรนท์ 800 ที่ใช้กับ เครื่องบินโบอิ้ง 777 จำนวน 6 ลำ
ครั้งที่สองในช่วงปี 2535-2540 อันเป็นช่วงคาบเกี่ยวหลายรัฐบาลนั้น การบินไทยได้สั่งซื้อเครื่องบินเพิ่มขึ้นอีก 8 ลำ โรลสรอยซ์ ได้จ่ายสินบนให้แก่ผู้มีอำนาจในช่วงนั้นเพื่อล็อบบี้ให้จัดซื้อเครื่องยนต์ T800 อีก 10.38 ล้านดอลลาร์ ประมาณ 364 ล้านบาทและยังจ่ายค่าความสำเร็จให้แก่นายหน้าในไทยอีก 5.29 ล้านดอลลาร์หรือ185 ล้านบาทและครั้งที่สามจ่ายไปอีก 7.2 ล้านดอลลาร์หรือ 252 ล้านบาท ระหว่าง 1 เมษายน 2547-28 กุมภาพันธ์ 2548 โดยระบุว่าได้ร่วมโต๊ะกินข้าวกับรัฐมนตรีในรัฐบาลช่วงดังกล่าวด้วย
นัยว่าจำนวนเครื่องยนต์โรลสรอยซ์ที่การบินไทยสั่งซื้อในช่วงที่ผ่านมานั้น นอกจากเครื่องยนต์ เทรนท์ 800 ที่การบินไทยสั่งซื้อไปติดตั้งในเครื่องโบอิ้ง 777 แล้ว ยังมีเครื่องยนต์เทรนด์ 500 เทรนท์ 700 และเทรนท์ 900 และอะไหล่ที่ต้องสำรองไว้ด้วยอีกเบ็ดเสร็จมากกว่า 75,000 ล้านบาท ยังไม่รวมถึงสินบนที่จ่ายให้กับคนใน บริษัทปตท.และกระทรวงพลังงานเพื่อแลกกับการขายเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ติดตั้งในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนอีกจำนวนหนึ่ง
เล่นเอาใครต่อใครนั่งไม่ติด ทั้งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) คณะกรรมการป.ป.ช.และการบินไทยเองต่างก็ตั้งคณะทำงานขึ้นขุดคุ้ยตรวจสอบหา “ไอ้โม่ง” ที่เกี่ยวข้องกับการรับสินบนกันขนานใหญ่ สื่อมวลชนและสำนักข่าวในไทยต่างก็ตีปี๊บเรื่องสินบนโรลสรอยซ์ที่ว่านี้กันครึกโครม
แต่สำหรับ “เนตรทิพย์” แล้วไม่คาดหวังหรอกว่าหน่วยงานรัฐเหล่านี้จะควานหาไอ้โม่งที่ว่าเจอ เพราะหลายโครงการอื้อฉาวก่อนหน้าอย่างกรณีจัดซื้อเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิดลวงโลก GT200 ของหน่วยงานความมั่นคงและกองทัพนับสิบแห่งที่มีการซื้อเจ้าเครื่องที่ว่านี้ในช่วงปี 2550-2553 วงเงินจัดซื้อนับ 1,000 ล้านบาทนั้น
แม้ศาลในอังกฤษจะตัดสินให้ยึดทรัพย์นักธุรกิจเจ้าของบริษัทผู้ผลิตเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดลวงโลกที่ว่านี้ไปตั้งแต่ปีมะโว้ หลังตรวจสอบพบว่าเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดที่ว่านั้นเป็นแค่เรื่องลวงโลก เป็นของเด็กเล่นที่ไม่มีประสิทธิภาพไรจริง แต่กลับเอามาลวงขายไปทั่วโลกในราคาหลักแสนและในไทยนั้นว่ากันถึงหลักล้านหรือหลายสิบล้านต่อเครื่องกันเลยทีเดียว แต่สุดท้ายผลการตรวจสอบของ สตง.และคณะกรรมการป.ป.ช.ก็หายเข้ากลีบเมฆ
กรณีล่าสุดสินบนโรลสรอยซ์นั้นยิ่งไม่ต้องพูดถึงเพราะการที่บริษัทโรลสรอยซ์ยอมจ่ายค่าปรับเพื่อยุติคดี จะได้ไม่ต้องถูกตรวจสอบเชิงลึกในคดีอาญาอีกนั้นก็บ่งชัดเอยู่แล้วว่าโรลสรอยซ์ไม่ต้องการเปิดเผยรายละเอียดของการจ่ายสินบนที่ว่านี้ให้กับใครหรือหน่วยงานใดบ้าง เพื่อยุติคดีอยู่แล้ว
แถม 2 ใน 3 สัญญาที่ว่านั้นก็หมดอายุความไปแล้ว อีกสัญญาแม้จะยังไม่หมดอายุความแต่ผู้เกี่ยวข้องก็พ้นตำแหน่งในส่วนราชการไปนับสิบปีแล้วเช่นกัน บทสรุปที่ได้คงยากที่จะจับมือใครดม ไม่ต่างไปจากภาษิตที่เด็กแว้นซ์ว่า “ดังแต่ท่อ แต่ล้อไม่หมุน”นั่นแหล่ะ !!!
เนตรทิพย์