AOT เชื่อมั่นรับบริหาร 3 สนามบิน “กระบี่-อุดรธานี-บุรีรัมย์”หวังดันศูนย์กลางการบินเพิ่มในภูมิภาคอีสาน-ใต้ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารห้วงอากาศทางภาคอีสาน-ใต้ ย้ำการยกระดับทั้ง 3 สนามบินได้มาตรฐานเดียวกัน
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เปิดเผยผลการประชุมติดตามผลการมอบท่าอากาศยานของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) 3 แห่ง (ท่าอากาศยานกระบี่ อุดรธานี และบุรีรัมย์) ให้ AOT เป็นผู้ดำเนินการ โดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2565 ว่าท่านรัฐมนตรีฯได้มุ่งเน้นให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการบินในภูมิภาค (Aviation Hub) โดยการที่จะเป็น Hub ได้นั้นจำเป็นต้องพิจารณาทั้งในด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ รูปแบบการก่อสร้างและเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ ตลอดจนถึงแผนการตลาดของผู้บริหารท่าอากาศยาน ควบคู่กันไปโดยองค์รวม
“ปัจจุบัน AOT มีท่าอากาศยานที่เป็น Hub อยู่แล้ว ได้แก่ Hub ทางภาคเหนือ คือ เชียงใหม่ (ทชม.) ภาคใต้คือภูเก็ต (ทภก.) รวมถึง ภาคกลางคือ ดอนเมือง (ทดม.) และสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ซึ่งท่าอากาศยานต่างๆ ดังกล่าวนอกจากจะมีความแออัดบนภาคพื้นแล้วยังมีความแออัดบนห้วงอากาศที่ยากต่อการบริหารจัดการไม่แพ้กันด้วย และเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารห้วงอากาศทางภาคอีสานที่ยังว่าง AOT จึงเห็นความเหมาะสมในการพัฒนาท่าอากาศยานภาคอีสานให้เป็น Hub ของประเทศเพิ่มเติม”
นายนิตินัย ระบุต่อโดยอีสานเหนือ คืออุดรธานีให้เป็นประตูเมือง (Gateway) ไปยัง สปป.ลาว และอีสานใต้คือ บุรีรัมย์ให้เป็น Gateway เชื่อมต่อไปยังกัมพูชา จึงทำให้ทั้ง 2 สนามบินนี้ เหมาะสมที่จะพัฒนายกระดับขึ้นเป็น Hub ตามนโยบายที่จะยกระดับประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการบินในภูมิภาคของรัฐบาลในขณะที่ท่าอากาศยานกระบี่ก็จะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งในการเป็น Hub ทางภาคใต้ภายใต้สถานการณ์ที่ ทภก.จะกลับมารองรับผู้โดยสารเกินศักยภาพอีกครั้งหลังหมดวิกฤตโควิดในเวลาอันสั้น
“การยกระดับท่าอากาศยานทั้ง 3 เป็น Hub นั้น ด้านมาตรฐานความปลอดภัยไม่ว่าจะเป็น AOT หรือกรมท่าอากาศยาน (ทย.) บริหารก็จะอยู่ภายใต้มาตรฐานที่ต้องถูกตรวจสอบและรับรองโดยสำนักงานการบินพลเรือน (กพท.) เป็นมาตรฐานเดียวกัน”