“ศักดิ์สยาม”แจงผลงานคมนาคม ผลักดันตั๋วร่วม ลั่น“ไม่ยอมเสียค่าโง่”

0
67

เมื่อวันที่ 18 ก.พ.65 ที่รัฐสภาเกียกกาย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวชี้แจงอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 เกี่ยวกับแผนปฏิบัติงานด้านคมนาคมและขนส่งว่า ที่ผ่านมาการดำเนินงานไม่ล่าช้าแต่การดำเนินการต้องปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมายอย่างรอบคอบ แม้ว่าประเทศเผชิญกับโรคระบาดโควิด-19 แต่เราไม่หยุดดำเนินงานโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันใหม่ๆของประเทศ งานคมนาคมขนส่งต้องบูรณาการทั้ง 4 มิติ ถนน ราง น้ำและทางอากาศ

จากการที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอค่าเดินทางให้ใช้”ตั๋วร่วม” เพื่อการเดินทางประชาชนสะดวกรวดเร็ว ปลอดภัยและประหยัด ขณะนี้ในกรุงเทพฯจะมีรถไฟฟ้า 14 สายทางระยะทาง 554 ก.ม.ครอบคลุมพื้นที่ กทม.และปริมณฑลรอบๆ โดยจะเชื่อมโยงการเดินทางทั้งระบบ ล้อ ราง เรือ เพื่อความสะดวกต่อการเดินทาง รัฐบาลนี้ได้จัดตั้งกรมรางทำหน้าที่ดูแลระบบการเดินทางไม่ให้ถูกเอาเปรียบ แต่กรมรางเกิดขึ้นภายหลังสัญญาสัมปทานเกิดขึ้น ซึ่งไม่มีกฎหมายบังคับใช้กระทรวงคมนาคมต้องใช้วิธีเจรจาไม่อาจจะใช้วิธีอื่นได้ เพราะจะนำมาสู่ความเสียหาย หรือเรียกว่า “ค่าโง่” ซึ่งจะไม่ให้เกิดขึ้นอีก

ดังนั้น เราจึงดำเนินการร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยตั๋วร่วมมีความเป็นไปได้ ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ตั๋วร่วม เสร็จแล้วจะเสนอครม.พิจารณาและส่งสภาผู้แทนฯพิจารณาต่อไป หลังจากนั้นเราจะบังคับใช้อัตราค่าโดยสารเดียวกับระบบการขนส่งสาธารณะคิดค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียวทั้งระบบ นอกจากนี้ ยังพิจารณาฟีดเดอร์ต่างๆ เนื่องจากเรามีปัญหา PM2.5 ขณะนี้จึงพัฒนาทำให้รถเมล์ขสมก. เรือโดยสารใช้พลังงานไฟฟ้า EV ภายในปี 2565 ขสมก.จะเริ่มดำเนินผู้รับจ้างและให้ดำเนินการรถเมล์ที่เป็นรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยจัดหารถเมล์ขสมก.จำนวน 2511 คัน และว่าจ้างเอกชนเดินรถอีก 1,500 คัน เพื่อทดแทนระบบรถโดยสารเดิมสภาพเก่าใช้มานานกว่า 30 ปีแล้ว

กระทรวงคมนาคมยังกำลังพัฒนาโครงข่ายระบบฟีดเดอร์ทางน้ำ ระยะที่ 1 ระยะทาง 5 สายทาง มีระยะทาง 9 ก.ม.เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าจากเดิม 12 จุดเพิ่มขึ้นเป็น 42 จุด ส่วนระยะที่ 2 เพิ่มอีก 9 เส้นทางรวมเป็นระยะทาง 113 ก.ม. ซึ่งจะทำให้การเชื่อมต่อรถไฟฟ้าเป็น 50 จุด เพื่อทำให้ประชาชนเดินทางสู่ระบบรถไฟฟ้าสะดวกยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ยังกำลังพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ทั่วประเทศจะสามารถลดต้นทุนขนส่งสินค้า เพิ่มประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์ของประเทศ รถไฟทางคู่จะเชื่อมโยงจากตะวันออกสู่ตะวันตก จากด้านเหนือสู่ภาคใต้ เพื่อรองรับการเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยพัฒนาท่าเรือบก เพื่อนำสินค้าที่ขนส่งทางรถบรรทุกไปสู่รถไฟให้รวดเร็วที่มีระบบออโตเมชั่น ขณะนี้การพัฒนาทางเรือบกทำเสร็จแล้ว ปัจจุบันการท่าเรือฯกำลังศึกษาการร่วมทุนระหว่างรัฐกับภาคเอกชน เพื่อทำให้มีการใช้ระบบทางรางมากยิ่งขึ้น เพิ่มขีดความสามารถกรแข่งขันของภาคเอกชนเรา

นอกจากนี้ เรากำลังพัฒนาเชื่อมต่อระบบรางเชื่อมโยงระบบขนส่งระหว่างประเทศไทย ลาว จีน รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก โดยตั้งคณะกรรมการดำเนินงานเชื่อมต่อระบบขนส่งไทย ลาว จีน ที่มีนายอนุทิน ชาญวีระกุล เป็นประธานคณะกรรมการฯ ปัจจุบันรถไฟของไทยสามารถเชื่อมต่อรถไฟลาว จีน ได้อยู่แล้ว ขณะนี้ทำการขนส่งสินค้าระหว่างไทย –ลาว-จีน ได้ไม่มีปัญหา ส่วนการขนส่งคนทางการลาวยังไม่ได้เปิดข้ามไปได้เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 เรามีการเจรจากันต่อเนื่อง

ส่วนระยะยาวจะมีการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 6 เพื่อรองรับการเดินทางทางรถไฟขนาด 1 เมตร โดยฝ่ายไทย-ลาวจะลงทุนร่วมกันในอาเขตแต่ละฝ่าย อีกทั้ง เรายังทำการเชื่อมต่อในระบบโลจิสติกส์ฮับ ที่สถานีนาทาน รวมทั้งก่อสร้างศูนย์กระจายสินค้าที่ขอนแก่น เชื่อมโยงกับนิคมอุตสาหกรรมที่อุดรธานีด้วย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา

ขณะเดียวกัน เรายังนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนากับการผ่านทางด่วนหรือ M-Flow (ไม่มีไม้กั้น) เพื่อแก้ปัญหารถติดหน้าด่านทางด่วนได้เปิดโครงการนำร่องแล้วบริเวณทางหลวงพิเศษหมายเลข9 หรือวงแหวนตะวันออก 4 ด่านคือด่านทับช้าง 1 ทับช้าง2 ด่านธัญญะ1 ธัญญะ2 ทั้งหมดเป็นไปตามสมมติฐานคือรถผ่านด่านเร็วกว่าเดิมประมาณ 5 เท่าหรือชั่วโมงละ 1,500 คัน ซึ่งโครงการนี้กรมทางหลวงร่วมการทางพิเศษฯ คาดว่าปี 65-66 จะสามารถขยายได้เต็มที รวมทั้งได้นำระบบ AI ใช้กับท่าอากาศมีระบบออโตเช็กอินมีระบบวันไอดี และแอปฯสวัสดี เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจาก 80 ล้านคนเป็น 140 คนต่อปี

การดำเนินการทั้งหมดนี้จะเป็นรายได้หลักต่อเศรษฐกิจของประเทศในด้านการท่องเที่ยว นอกจากนี้จะเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันจากท่าเรือแหลมฉบัง โดยรองรับตู้สินค้าจากเดิม 7 ล้านตู้ต่อปีเพิ่มขึ้นเป็น 18 ล้านตู้ต่อปี หรือ 3 เท่า และลดการเดินทางระหว่างเมือง นอกจากนั้น รถไฟทางคู่จะทำความเร็วจากเดิม 60/ชม.เป็น 100/ชม.

ทั้งนี้ ในการลงทุนปี 65 เรามีแผนระยะสั้น กลาง และยาว มีเม็ดเงินลงทุนทั้งหมด 1.4 ล้านล้านบาท มีการลงทุนลงนามในสัญญาผูกพันแล้ว 5.165 แสนล้านบาท เป็นการลงทุนใหม่ 9.4 แสนล้านบาท เม็ดเงินลงทุน 1.4 ล้านล้านบาทจะสามารถสร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจเป็นมูลค่าสูงถึง 2.24 ล้านล้านบาทเกิดการจ้างงานมากถึง 1.54 แสนตำแหน่ง