หลังปฏิบัติการ“เสือปืนไว”สร้างเซอร์ไพร้สเขย่ายุทธจักรรถบรรทุกเมืองไทยในโค้งสุดท้ายปลายปี(22ธ.ค.64)สำหรับ บริษัท ทีซี อินดัสเตรียล อิควิปเมนท์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ TCIE ในเครือกลุ่มตันจงฯกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ชั้นนำด้านยานยนต์จากสิงคโปร์ ด้วยการจรดหมึก Business Partner กับบริษัท เน็กซ์พอยท์ (มหาชน) จำกัด หรือ NEX ผู้ผลิตและจำหน่ายยานยนต์เชิงพาณิชย์ไฟฟ้าทุกประเภท เพื่อจำหน่ายรถเพื่อการพาณิชย์พลังงานไฟฟ้าเต็มฟลีททั้ง 6 แบบทั้ง 6ล้อ,10ล้อ,หัวลาก,รถเหมือง และรถโดยสาร สอดรับเทรนด์การเปลี่ยนผ่านสู่โลกยานยนต์สมัยใหม่ และได้รับกระแสตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี
ทันทีที่เปิดศักราชใหม่ปีเสือดุ 2565 ได้ไม่นาน เพื่อรันความต่อเนื่องและสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าหากตัดสินใจซื้อรถโดยสารรถไฟฟ้าไปวิ่งแล้วสามารถอุ่นใจและคลายข้อกังวลได้เกี่ยวกับ“สถานีประจุไฟฟ้า” ล่าสุด แหล่งข่าวระดับสูงจากฐานบัญชาการ TCIE ระบุว่าทาง TCIE ร่วมกับ NEX ได้กางแผนติดตั้ง“สถานีประจุไฟฟ้า”รองรับกลุ่มรถโดยสารประจำทาง นำร่องเส้นทางกรุงเทพ(หมอชิด)-เลย ระยะทางรวม 538 กม.กับ 4 ระยะ 4 สถานี(หากรวมต้นทางเป็น 5 สถานี)โดยใช้รถโดยสาร NEX 148 kW EV 7.6m Polestar ขนาด 27 ที่นั่งเป็น“โปรดักส์เรือธง”ในการประมาณการอัตราการใช้พลังงาน/คำนวณตัวเลขค่าใช้จ่ายพลังงาน
ซึ่งรถโดยสาร NEX 148 kW EV 6.7m Polestar นี้เป็นรถมินิบัสขนาดกลางในการผลิตของ NEXPOINT มิติตัวรถยาว 7.595 ม.กว้าง2.4 ม. สูง 3.115 ม. ฐานล้อ 4.1 ม.น้ำหนักตัวรถ 8.3 ตัน น้ำหนักรวมสูงสุด 11 ตัน ขนาดมอเตอร์ : Peak 120 KW แรงขับสูงสุด 1,300 NM.ความเร็วสูงสุดไม่เกิน(ตามกม.กำหนด) 90กม./ชม.ความจุแบตเตอรี่ 90-149.8 KW ระยะทางวิ่งต่อการชาร์จ 200-270 กม.
เราไปส่องดูรายละเอียดกันว่าเส้นทางนำร่องกรุงเทพ-เลยตามแผนเมื่อเคลื่อนตัวออกจากกรุงเทพแล้ว การติดตั้ง 4 ระยะ 4 สถานีประจุไฟฟ้าที่ควรติดตั้งนี้มีที่จุดไหนบ้าง?ลักษณะเส้นทางจากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่งเป็นอย่างไร?ประมาณการใช้พลังงาน 1 KW จะวิ่งได้กี่กม.ในแต่ละจุด?และคิดตัวเลขออกมาเป็นเงินค่าพลังงานแต่ละจุดกี่บาท?คุ้มสุดคุ้มแค่ไหน?เราไปดูให้เห็นชัดๆจะๆกันเลย
ระยะที่ 1 กรุงเทพ (หมอชิต) – หนองสาหร่าย ระยะรวม 161 กม.
-ระยะที่ 1 นี้สตาร์ทจากหมอชิด-หนองสาหร่ายระยะทางรวม 161 กม.ใช้เวลาวิ่งประมาณ 2ชม.27นาทีมีลักษณะเส้นทางวิ่งเป็นทางราบ 70% ขณะที่ทางชันขึ้นมวกเหล็ก 30%*,ประมาณการอัตราการใช้พลังงาน 1 kW/1.5 กม เท่ากับว่าระยะทาง 161 กม.จะใช้พลังงาน 107.33 kW และคิดออกมาเป็นตัวเลขค่าใช้จ่ายพลังงาน 282.28 บาท
ดังนั้น ระยะแรกนี้ควรตั้งสถานีประจุไฟฟ้าขนาด DC 300Kw ที่สถานีหนองสาหร่าย และรถโดยสาร NEX EV 7.6m Polestar นี้ใช้เวลาประจุไฟฟ้ากับจุดนี้ 22 นาที (เต็ม 100%) หรือที่ 148.9 kW
ระยะที่ 2 หนองสาหร่าย – ชัยภูมิ ระยะรวม 163 กม.
ระยะที่ 2 นี้จากหนองสาหร่าย – ชัยภูมิ ระยะทางรวม 163 กม.,ใช้เวลาวิ่งประมาณ 2 ชม.10น.มีลักษณะเส้นทางโดยรวมจะเป็นทางราบ 90%,ทางชัน 10%*,ประมาณการอัตราการใช้พลังงาน 1 kW / 1.7 กม เท่ากับว่าระยะทาง 163 กม.จะใช้พลังงาน 90.71 kW และคิดออกมาเป็นตัวเลขค่าใช้จ่ายพลังงาน 249.07 บาท
ดังนั้น ระยะที่ 2 นี้ควรตั้งสถานีประจุไฟฟ้าขนาด DC 300Kw ที่สถานีชัยภูมิ และรถโดยสาร NEX EV 7.6m Polestar จะใช้เวลาประจุไฟฟ้ากับจุดนี้เพียง 18 นาที (เต็ม 100%) หรือที่ 148.9 kW
ระยะที่ 3 ชัยภูมิ – ชุมแพ ระยะรวม 105 กม.
ระยะที่ 3 นี้รวมระยะทางรวม 105 กม. ใช้เวลาวิ่งประมาณ 1ชม.25น.ส่วนลักษณะเส้นทางโดยรวมนั้นจะเป็นทางราบ 70% ขณะที่ทางชัน 30%*,ประมาณการอัตราการใช้พลังงาน 1 kW / 1.5 กม เท่ากับว่าระยะทางรวม 105 กม.จะใช้พลังงาน 70 kWคิดออกมาเป็นตัวเลขค่าใช้จ่ายพลังงาน 184.10 บาท
ดังนั้น ระยะที่ 3 นี้ควรตั้งสถานีประจุไฟฟ้าขนาด DC 300Kw ที่สถานีชุมแพ และรถโดยสาร NEX EV 7.6m Polestar จะใช้เวลาประจุไฟฟ้ากับจุดนี้เพียง 14 นาที(เต็ม 100%) หรือที่ 148.9 kW
ระยะที่ 4 ชุมแพ – เลย ระยะรวม 109 กม.
ระยะที่สุดท้ายนี้รวมระยะทางแล้ว 109 กม.ใช้เวลาวิ่งประมาณ 1ชม.34น.มีลักษณะเส้นทางวิ่งโดยรวมเป็นทางราบประมาณ 90% ขณะที่ทางชัน 10%*,ประมาณการอัตราการใช้พลังงาน 1 kW/1.7 กม เท่ากับว่าระยะทาง 109 กม.จะใช้พลังงาน 64.11 kW เมื่อคิดออกมาเป็นตัวเลขค่าใช้จ่ายพลังงานแล้วอยู่ที่ 168.63 บาท
ดังนั้น ระยะที่ 4 นี้ควรตั้งสถานีประจุไฟฟ้ากับจุดนี้ขนาด DC 300Kw ที่สถานีเลย รถโดยสาร NEX EV 7.6m Polestar จะใช้เวลาประจุไฟฟ้าเพียง13 นาทีเท่านั้น(เต็ม 100%) หรือที่ 148.9 kW
บทสรุปนำร่องเส้นทาง กรุงเทพ (หมอชิต) – เลย
รวมระยะทางทั้ง 4 แล้วอยู่ที่ 538 กม.ระยะเวลาวิ่งประมาณ 4 ชม.กับอีก 9 นาที มีลักษณะเส้นทางโดยรวมเป็นทางราบ 80% ขณะที่ทางชัน 20%*,ประมาณการอัตราการใช้พลังงาน 1 kW / 1.5-1.7 กม เท่ากับว่าระยะทางรวมทั้งหมด 538 กม.นั้นจะสิ้นเปลืองพลังงาน 332.15 kW เมื่อคิดออกมาเป็นตัวเลขค่าใช้จ่ายพลังงานต่อเที่ยวแล้วอยู่ที่ 873.55 บาทเท่านั้น
ดังนั้น บนเส้นทางนี้ควรตั้งสถานีประจุไฟฟ้าขนาด DC 300Kw ทั้งหมด 4 ระยะ 4 สถานี หรือ 5 สถานี (หากรวมต้นทาง) และรถโดยสาร NEX EV 7.6m Polestar นี้มีค่าเฉลี่ยการใช้เวลาประจุไฟฟ้า 13 นาทีเท่านั้น(เต็ม 100%) หรือที่ 148.9 kW
*หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงหลังจากที่ได้มีการสำเร็จเส้นทางจริง
นี่คือแผนที่ทาง TCIE และ NEX กางเอาไว้กับการติดตั้งสถานีประจุไฟฟ้ารถโดยสารไฟฟ้า NEX EV 7.6m Polestar บนเส้นทางนำร่องกรุงเทพ-เลย เพื่อรองรับความต้องการและสร้างความมั่นใจให้กับกลุ่มลูกค้ารถโดยสารประจำทาง หลายท่านได้เห็นรายละเอียดค่าประมาณการอัตราการสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้าและค่าเฉลี่ยต่างๆเมื่อเทียบกับน้ำมันเชื้อเพลิงเดิมๆตลอดเส้นทางแล้ว บอกได้เลยว่าคุ้มยิ่งกว่าคุ้มในแง่ต้นทุน!
ตามรายงานข่าวระบุว่าจากกระแสตอบรับที่ดีเกินคาดเป็นแรงส่งให้ปีนี้ทาง NEX มียอดออเดอร์รถยนต์ไฟฟ้าแล้ว 3,000 คันในจำนวนนี้เป็นสัดส่วนรถบัสไฟฟ้าราว 80% และรถบรรทุกไฟฟ้าอีก 20% ถือเป็นผลตอบรับการเติบโตในเชิงบวกสะท้อนการตื่นตัวของผู้ประกอบการเป็นอย่างดี
ทว่า จะมีการติดตั้งเมื่อไหร่?หรือหากได้มีโอกาสไปร่วมทดสอบเส้นทางจริง สัญญาว่าจะมาบอกเล่าความเคลื่อนไหวสู่ท่านอีกครั้งหนึ่ง!
:ลมใต้ปีก