ยูพีเอส (NYSE: UPS) Supply Chain Solutions (UPS SCS) เปิดตัวศูนย์นวัตกรรมแห่งแรกของโลกอย่างเป็นทางการวันนี้ เพื่อเชื่อมต่อธุรกิจในเอเชียเข้ากับเทคโนโลยีโลจิสติกส์ที่ทันสมัย โดยศูนย์นวัตกรรมแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ และจะเป็นพื้นที่ที่ยูพีเอสได้ร่วมมือกับพันธมิตรในเชิงกลยุทธ์ เพื่อบ่มเพาะ ทดสอบ และติดตั้งใช้งานเทคโนโลยีแห่งอนาคต เพื่อเสริมธุรกิจต่างๆ ในการยกระดับด้านดิจิทัลท่ามกลางโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง
พิธีเปิดอย่างเป็นทางการของศูนย์นวัตกรรม ได้รับเกียรติจากผู้บริหารของยูพีเอส ได้แก่ ฟิลลิปป์ กิลเบิร์ต ประธาน UPS SCS และเซบาสเตียน ชาน ประธาน UPS SCS ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เป็นประธานในงานพิธี
เทคโนโลยีคือตัวกระตุ้นให้เกิดความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน
การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลคือปัจจัยหลักที่กระตุ้นการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ และภายในปี 2025 จะมีมูลค่าคิดเป็น 1.72 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในสัดส่วนการลงทุนภายในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ตามข้อมูลของ World Economic Forum
แม้กระทั่งก่อนหน้าที่จะเกิดภาวะวิกฤตด้านห่วงโซ่อุปทานในปัจจุบันยูพีเอสก็ได้ทุ่มเงินลงทุน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีให้กับเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตั้งแต่เทคโนโลยีโลกเสมือนจริง ตลอดจนถึงหุ่นยนต์อัตโนมัติและโดรน โดยการลงทุนดังกล่าวมีบทบาทเป็นพิเศษในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่ซึ่งบริษัทต่างๆ กำลังเร่งเครื่องลงทุนในเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติของคลังสินค้าเพื่อเพิ่มผลผลิตและความสามารถในการแข่งขัน
“ศูนย์นวัตกรรมประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นฐานที่มั่นของเราในการสร้างสรรค์เทคโนโลยีและโซลูชั่นแห่งอนาคตให้กับลูกค้า เกือบสองปีของการหยุดชะงักจากโรคระบาดได้จุดชนวนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวิธีการต่างๆ ที่บริษัทและผู้บริโภคใช้เพื่อจัดหาและรับสินค้า เช่นเดียวกับการพุ่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็วของเทรนด์ที่ก่อนหน้านี้เติบโตมาเป็นระยะ เช่น การนำอีคอมเมิร์ซมาใช้และการบริโภคที่บ้าน” ฟิลลิปป์ กล่าว
“กรอบการทำงาน ‘better not bigger’ ของยูพีเอสเป็นตัวกำหนดทิศทางให้เรามุ่งเน้นไปที่โซลูชันที่ทันสมัยและให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นอันดับหนึ่ง เพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน ศูนย์นวัตกรรมประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของเราในการยกระดับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย เพื่อจินตนาการและพลิกนิยามของชีวิตวิถีใหม่ให้กับลูกค้าของเราในเอเชีย รวมไปถึงในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก”
ฐานขับเคลื่อนห่วงโซ่อุปทานแห่งอนาคต
ศูนย์นวัตกรรมประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกแบ่งพื้นที่ภายในออกเป็นโซนต่างๆ ได้แก่ คลังสินค้าจำลองสำหรับใช้สาธิตเทคโนโลยีล่าสุดแบบเรียลไทม์ ตลอดจนพื้นที่ในคลังสินค้าจริงที่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำร่องการทำงานร่วมกับลูกค้าในทางปฏิบัติโดยเฉพาะ
ยูพีเอสมุ่งหวังให้ศูนย์นวัตกรรมแห่งนี้เป็นสถานที่ทดสอบเพื่อสำรวจและนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยถูกใช้ในวงกว้างมาทดลองใช้ โดยร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับลูกค้าและพันธมิตรชั้นนำในแวดวงเทคโนโลยี ในการประยุกต์ใช้นวัตกรรมต่างๆ เช่น หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ (AMR) ระบบบ่งชี้ด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (RFID) และโดรน เทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยลดช่องว่างด้านประสิทธิภาพภายในห่วงโซ่อุปทาน และปรับปรุงการดำเนินงานด้านโลจิสติกส์ทั้งขาเข้าและขาออก การดำเนินการตามคำสั่งซื้อ และการตรวจสอบสินค้าคงคลัง ให้บรรลุประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
เซบาสเตียน ชาน กล่าวว่า “ในธุรกิจที่มีความซับซ้อนไม่ต่างจากการจัดการห่วงโซ่อุปทานเช่นนี้ ความร่วมมือเป็นสิ่งสำคัญ จากการทำงานร่วมกับพันธมิตรในอุตสาหกรรม เช่น Geek+ ทำให้เรามีนวัตกรรมต่างๆ ที่ช่วยให้ธุรกิจทุกขนาดสามารถใช้โซลูชันดิจิทัลเพื่อเพิ่มมูลค่าในทุกขั้นตอนของการเติบโตอย่างต่อเนื่อง”
ยูพีเอสเป็นผู้ให้บริการเจ้าแรกที่ติดตั้งและใช้งานหุ่นยนต์หยิบของ Geek+ RoboShuttle® C200M ในประเทศสิงคโปร์ โดยหุ่นยนต์ดังกล่าวมีความสามารถในการหยิบของแบบ Bin-to-Person ที่อาศัยความลึกพิเศษ ซึ่งช่วยประหยัดพื้นที่คลังสินค้าได้เกือบ 50% และใช้อัลกอริธึมปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการวิเคราะห์คำสั่งซื้อและการตั้งเวลาหุ่นยนต์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ความแม่นยำ และความจุของคลังสินค้าในภาพรวม
ในการดำเนินงานคลังสินค้า การใช้หุ่นยนต์ขนถ่าย-เคลื่อนย้าย Geek+ P800 สำหรับการยกของหนักและการเคลื่อนไหวแบบจุดต่อจุด ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยี RFID ในการสแกนพัสดุหลายชิ้นพร้อมกันภายในเสี้ยววินาที ทำให้ธุรกิจได้รับประโยชน์จากกระบวนการทำงานที่เร็วขึ้น ซึ่งนำไปสู่การบรรลุจำนวนงานที่สูงขึ้นได้โดยใช้เวลาน้อยลง
“ความเข้ากันรวมถึงลักษณะที่สามารถประกอบและถอดออกมาได้ง่ายของเทคโนโลยี AMR และ RFID จะเปิดโอกาสให้ธุรกิจจากทั่วทั้งภูมิภาคสามารถเข้ามาร่วมมือกับยูพีเอสและพันธมิตรของเราได้ เพื่อสำรวจและทดลองใช้วิธีการต่างๆ ในการปรับระบบการทำงานให้เป็นอัตโนมัติและเพิ่มประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทานตามความต้องการเฉพาะ” ชาน กล่าวเสริม