“ศักดิ์สยาม”ไล่บี้ กทพ.แก้จราจรอัมพาตเหตุ 3 ทางด่วนจุดตัด-ทางร่วม-คอขวด

0
77

“ศักดิ์สยาม” ส่งการ การทางพิเศษฯเร่งแก้จราจรติดขัดบนทางด่วน หลังพบ 3 เส้นทาง ”ทางพิเศษศรีรัช ช่วงงามวงศ์วาน-พญาไท-พระราม 9 ,ทางด่วนมหานคร ช่วงมักกะสัน-ท่าเรือ-บางนา ,ทางพิเศษฉลองรัช”ติดหนึบ เหตุมีจุดตัด ทางร่วม คอขวด คมนาคมเตรียมทางออก 21โครงการ แก้รถติดเสนอ คจร.-ครม.ในเดือน กพ.65

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามนโยบายการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบนทางพิเศษในภาพรวมทั้งระบบพบว่า เส้นทางหลักที่มีปัญหาการจราจรติดขัดหนักบนทางพิเศษมี 3 เส้นทาง หลักประกอบด้วย ทางพิเศษศรีรัช ช่วงงามวงศ์วาน-พญาไท-พระราม 9 ,ทางพิเศษเฉลิมมหานคร ช่วงมักกะสัน-ท่าเรือ-บางนา ,ทางพิเศษฉลองรัช ซึ่งจากการศึกษาพบว่า สาเหตุหลักของปัญหาการจราจรบนทางพิเศษ แบ่งออกได้ 5 ลักษณะ คือ 1) ความจุของทางพิเศษไม่เพียงพอ 2) มีจุดตัดกระแสจราจรบริเวณทางร่วม และทางแยก 3) พบว่ามีจราจรติดขัดบริเวณทางลงทางพิเศษ 4) ปัญหาการไหลเวียนจราจรบริเวณด่านเก็บค่าผ่านทาง และ 5) มีหลายจุดเป็นคอขวดทางกายภาพบนทางพิเศษ

ทั้งนี้จากปัญหาต่างๆ จึงได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาและกำหนดโครงการแก้ไขปัญหาการจราจรที่สอดคล้องกับสภาพปัญหา ทั้งการวิเคราะห์ความเหมาะสม จัดลำดับความสำคัญ และจัดทำแผนแก้ไขปัญหาการจราจรในภาพรวมทั้งระบบ ซึ่งทำให้แบ่งอกเป็น 2 กลุ่มประกอบด้วย 1.โครงการแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษในปัจจุบัน ซึ่งจะมี 21 โครงการ แบ่งเป็น แผนระยะที่ 1 (ปี65-69) จำนวน 16 โครงการ และแผนระยะที่ 2 (ปี 70 เป็นต้นไป) จำนวน 5 โครงการ และ 2. โครงการทางพิเศษเพิ่มเติมที่จะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรและเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทาง จำนวน 11 โครงการ แบ่งเป็น แผนระยะที่ 1 (ปี 65-69) จำนวน 5 โครงการ และแผนระยะที่ 2 (ปี 70 เป็นต้นไป) จำนวน 6 โครงการ

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ได้เน้นย้ำให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย เร่งรัดการดำเนินการศึกษาแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษทั้งระบบให้แล้วเสร็จและนำเสนอคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก(คจร.) และคณะรัฐมนตรี(ครม.)ให้ทันตามกรอบเวลาที่กำหนดในเดือน ก.พ.65 โดยจะต้องคำนึงด้วยว่าโครงการแต่ละโครงการตามผลการศึกษาจะต้องมีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบนทางพิเศษได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

“ได้มีข้อสั่งการเพิ่มเติมให้ กทพ.เร่ง พิจารณาเรื่องแหล่งเงินในการพัฒนาโครงการแต่ละโครงการให้ชัดเจน เช่น การบริหารสัญญาของโครงการทางพิเศษเดิม การให้เอกชนร่วมลงทุน หรือการใช้แหล่งเงินจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund : TFF) นอกจากนั้น ให้พิจารณาเพิ่มเติมถึงปัจจัยด้านการขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟ รถไฟฟ้า เรือ และรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งอาจส่งผลต่อภาพรวมในการแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางพิเศษ”