โลกของเราทุกวันนี้ ประชากรเพิ่มขึ้น การผลิตเพิ่มขึ้น การบริโภคเพิ่มขึ้น และปริมาณของเสียยิ่งเพิ่มขึ้น ตลอดระยะเวลาที่เศรษฐกิจอุตสาหกรรมของโลกพัฒนาไป วิชาชีพหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการออกแบบ ควบคุมวางแผน วางระบบ คิดค้นนวัตกรรม และวิธีการต่าง ๆ ที่จะจัดการกับกระบวนการผลิตของมนุษย์ไม่ให้ปล่อยของเสียออกมาสร้างมลพิษ คือ ศาสตร์ของวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ศาสตร์แห่งการพิทักษ์โลกนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง โดยจัดตั้งภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 เป็นต้นมา
ผศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญศรี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี หรือ มจธ. เปิดเผยว่า หากย้อนกลับไปในช่วงปี พ.ศ. 2535 ซึ่งภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มจธ. ก่อตั้งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ประเทศไทยมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมกับเกิดกรม กองต่างๆ อาทิ กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งล้วนแต่ต้องใช้ศาสตร์ของวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ทำให้บทบาทหน้าที่ของวิศวกรสิ่งแวดล้อมมีความชัดเจน ประกอบกับในช่วงนั้นประเทศไทยประกาศตัวเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ วิศวกรรมสิ่งแวดล้อมยิ่งมีบทบาทเพิ่มขึ้น เมื่อการผลิตสินค้าปรับจากหัตถกรรมเป็นอุตสาหกรรม มีการปล่อยมลพิษและปริมาณขยะเพิ่มขึ้น วิศวกรรมสิ่งแวดล้อมเข้ามามีบทบาทสำคัญในการจัดการหมุนเวียนเศษวัสดุก่อนที่จะถูกทิ้งเป็นขยะบำบัดของเสียและน้ำเสียเพื่อนำกลับสู่ทรัพยากรธรรมชาติ ถือเป็นการร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจเชิงอุตสาหกรรมไปพร้อมๆ กับการรักษาสิ่งแวดล้อม อีกประเด็นหนึ่งคือ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ให้ความสำคัญกับทรัพยากรสิ่งแวดล้อม เพราะถือเป็นต้นทุนในการผลิตของประเทศ ประเทศใดไม่มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ประเทศนั้นจะขาดแคลนต้นทุนในการผลิต ทำให้วิศวกรสิ่งแวดล้อมมีบทบาทในกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ภายใต้ประเทศไทย 4.0 หรือ เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมไปสู่ประเทศที่มั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน อย่างเป็นรูปธรรม มีกลไกการขับเคลื่อนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ผศ.ดร.ธิดารัตน์ ได้คาดการณ์ว่า ในอนาคตประเทศไทยอาจต้องมีศาลสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับประเทศสหรัฐอเมริกา ศาลสิ่งแวดล้อมทำหน้าที่ในการฟ้องร้องเกี่ยวกับการทำลายสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะความขัดแย้งเรื่องสิ่งแวดล้อมในประเทศซึ่งมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นกรณีพิพาทระหว่าง บุคคล ชุมชน กับโรงงานอุตสาหกรรม ที่เกี่ยวข้องกับปัญหามลพิษ หรือแม้แต่ทำให้เกิดการสูญพันธุ์ หรือการตายของสัตว์ การลักลอบและการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้ที่เรียนจบด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมเป็นที่ต้องการของประเทศมากขึ้น และไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่ต้องการวิศวกรสิ่งแวดล้อม ในประเทศออสเตรเลียวิศวกรสิ่งแวดล้อมเป็นที่ต้องการอันดับที่สองรองจากวิศวกรโยธา เมื่อวิชาชีพวิศวกรสิ่งแวดล้อมอยู่ในสภาวะขาดแคลนจะกระทบต่อวิชาชีพวิศวกรสาขาต่างๆ
ดังนั้น มจธ.โดยภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมจึงร่วมกับมหาวิทยาลัยวูลลองกอง (University of Wollongong, UOW) ประเทศออสเตรเลีย เปิดหลักสูตรวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมนานาชาติร่วมสองสถาบัน หรือ BE (2+2) โดยนักศึกษาต้องเรียนที่ มจธ. 2 ปี และเรียนที่ UOW ประเทศออสเตรเลีย 2 ปี เมื่อเรียนจบจะได้รับปริญญาบัตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตทั้งจาก มจธ. และจาก UOW รวมถึงสามารถขอใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม (กว.) จากสภาวิศวกรทั้งของไทยและประเทศออสเตรเลียได้
นับจากปี พ.ศ. 2535-2560 เป็นเวลา 25 ปีที่ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มจธ. ก่อตั้งขึ้นและผลิตบัณฑิตคุณภาพ ออกไปรับใช้สังคม ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการออกแบบควบคุม ดูแลกระบวนการบำบัด/กำจัดมลพิษทั้งทางน้ำ อากาศและดิน ตลอดจนกำจัดของเสียและกากสารอันตราย โดยใช้เทคนิคเชิงวิศวกรรมและเชิงบริหารจัดการ มจธ.ตั้งใจผลิตวิศวกรสิ่งแวดล้อมที่มีทักษะที่แตกต่าง และมีลักษณะเฉพาะ คือ เป็นวิศวกรมืออาชีพสามารถทำงานในระดับสากล เป็นผู้ประกอบการธุรกิจสีเขียว หรือเป็นวิศวกรที่รอบรู้ศาสตร์ด้านวิศวกรรมในหลายแขนง ในระดับปริญญาตรีจะมุ่งเน้นการศึกษาด้านทฤษฎีควบคู่กับการปฏิบัติจริง ร่วมกับการศึกษาวิจัยโครงงานซึ่งมีให้เลือกทั้งหลักสูตรปกติและนานาชาติ หรือแผน 2+2 Program ส่วนระดับปริญญาโทเปิดสอน 2 แผน คือ แผนการเรียนเน้นงานวิจัยผ่านการทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งแผนนี้ส่วนใหญ่เรียนแล้วไปศึกษาต่อปริญญาเอก เป็นนักวิจัยหรืออาจารย์มหาวิทยาลัย และแผนการเรียนเน้นการปฏิบัติผ่านการทำโครงการศึกษาซึ่งเรียนในวันเสาร์-อาทิตย์ เหมาะสำหรับผู้ที่ทำงานและมีประสบการณ์ในวิชาชีพ ซึ่งต้องการเพิ่มพูนความรู้เพื่อใช้ในงานที่รับผิดชอบ
สำหรับผู้ที่สนใจเป็นวิศวกรสิ่งแวดล้อม ผศ.ดร.ธิดารัตน์ แนะนำว่า นอกจากต้องมีพื้นฐานทักษะการคำนวณ มีตรรกะการวิเคราะห์ มีทักษะในการจดจำและสร้างสรรค์แล้ว จะต้องมี “ใจรัก” ด้วยเพราะวิศวกรสิ่งแวดล้อมเป็นสาขาที่ต้องคลุกคลีกับของเสียและมลพิษต่างๆ ทั้งสิ่งปฏิกูล ขยะ มลพิษ น้ำเสีย ฝุ่นควัน ต้องเสียสละตัวเองเพื่อเปลี่ยนของเสียให้เป็นของดี หรือดึงของดีออกจากของเสียให้ได้ ทำให้มีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย สะอาด ทำให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ดังนั้นวิศวกรสิ่งแวดล้อมต้องทำในสิ่งที่รักษาไว้ซึ่งธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่ดี ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของการพัฒนาประเทศ และเป็น “การพัฒนาที่ยั่งยืน” เพราะสิ่งนี้คือโจทย์ของประเทศ ทั่วโลกจะต้องปฏิบัติตามที่องค์การสหประชาชาติประกาศ คือ “ทุกสังคมมีการบริโภคอย่างยั่งยืน และนำไปสู่การอยู่รอดของโลก”