คมนาคมรักษ์โลกเดินหน้าผลักดันนำเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้ามาใช้ในรถไฟในไทยให้เร็วขึ้นจากแผนเดิมใน ปี 68 เป็นปี 66 “ศักดิ์สยาม”สั่งเดินหน้าต่อให้รฟท.ร่วมกับสถาบันการศึกษาทำการศึกษาวิจัยการนำรถไฟ EV on Train มาใช้ลากจูงขบวนรถไฟที่จะเข้ามาใช้สถานีกลางบางซื่อในระยะเร่งด่วน
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการนำเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าสำหรับการขนส่งสาธารณะ กรณีรถไฟขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า EV on Train ว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการเร่งรัดผลักดันให้มีการนำเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้ากรณีรถไฟขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า EV on Train ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ที่ติดตั้งในตัวรถไฟ มาใช้ในประเทศให้เร็วขึ้นจากแผนเดิมกำหนดในเริ่มใช้ในปี 68มาเร็วขึ้นเป็นปี 66 สำหรับสาเหตุที่ให้แผนนำรถไฟขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า EV on Train มาใช้เร็วขึ้นเนื่องจากในปัจจุบันเทคโนโลยีโลก และรถไฟแต่ละรุ่นมีการพัฒนาเทคโนโลยีไปมากแล้ว
ทั้งนี้ตามแผนในปี 64 นี้จะดำเนินการศึกษาและออกแบบรถไฟ EV ที่เหมาะสมกับประเทศไทย จากนั้นในปี 65 จะเป็นการเตรียมการและดำเนินการดัดแปลงรถไฟ EV จากรถจักรเก่า และในปี 66 ดำเนินการทดสอบรถไฟ EV ในศูนย์ทดสอบและทดลองวิ่งในเส้นทาง นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการจัดทำแผนการดำเนินงาน นำรถไฟขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า EV on Train มาใช้ในประเทศไทย โดยมีแผนครอบคลุมตั้งแต่ปี 64 จนถึง ปี 76
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า โดยโครงการดำเนินการในระยะสั้นนั้น ทางกรมการขนส่งทางราง (ขร.)ได้ร่วมกับ การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์กรมหาชน) และสถาบันการศึกษา จะร่วมมือกันปรับปรุงรถจักรเก่า GEK หรือ Alsthom เป็นระบบ Battery Locomotive จำนวน 4 คัน ให้แล้วเสร็จในปี 66 และโครงการจัดหารถจักรสับเปลี่ยน (Battery Shunting Locomotive) จำนวน 20 คัน ที่จะนำมาใช้งานภายในปี 67
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นได้มีข้อสั่งการเพิ่มเติม โดยให้ ขร. และ รฟท. จัดทำแผนการดำเนินการและขั้นตอนในการนำรถไฟ EV on Train มาใช้ในประเทศไทยให้มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรม รวมทั้งจัดหาทุนในการดำเนินการ ขณะเดียวกัน ให้ รฟท. ร่วมกับสถาบันการศึกษาทำการศึกษาวิจัยการนำรถไฟ EV on Train มาใช้สำหรับลากจูงขบวนรถไฟที่จะเข้ามาใช้สถานีกลางบางซื่อในระยะเร่งด่วนด้วย นอกจากนั้นให้หน่วยงานผู้ให้บริการระบบรางที่ใช้พลังงานไฟฟ้าศึกษาความต้องการและการบริหารจัดการการใช้พลังงานไฟฟ้า เพื่อให้มีความคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยอาจพิจารณาการจัดสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อจ่ายพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในการเดินรถ และส่วนที่เหลือสามารถนำมาจ่ายคืนไปยังระบบไฟฟ้า