หลังเหตุโศกนาฏกรรมรถตู้โดยสารสายกรุงเทพ-จันทบุรีต้อนรับปีไก่ 2560 ที่คนขับวิ่งควงรอบจนหลับในก่อนเหินข้ามเลนชนประสานงากระบะก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมย่างสดผู้โดยสารไปถึง 25 ศพ ที่บ้านบึง จนนายกฯตู่ออกโรงสั่งการให้กระทรวงคมนาคมและกรมการขนส่งทางบก “ล้างบาง” รถตู้โดยสาร เข้มต้องติดตั้งเครื่องควบคุมความเร็ว GPS และให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคมนี้ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุสลดได้อีก
เป็นเหตุให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างก็งัดมาตรการ “วัวหายแล้วล้อมคอก” กันขนานใหญ่ ทั้งเจ้าหน้าที่ทหารจากมณฑลทหารบกต่างๆ ผนึกความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ขนส่งทุกจังหวัด พาเหรดลงพื้นที่ตรวจสภาพรถตู้กันเอิกเกริก รวมถึงนักวิชาการควงแขนกูรูด้านวิศวกรรมยานยนต์ตั้งเวทีถกหวังเสนอแนวทางแก้ปมปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
แต่กระทรวงคมนาคม-ขนส่งดูจะไปไกลกว่านั้น ถึงขั้นเล็งชงม.44 เสนอนายกฯ“เลิกรถตู้โดยสาร”และหันไปปัดฝุ่นเอารถบัสโดยสารขนาดเล็กหรือไมโครบัสขนาด 20 ที่นั่งมาใช้แทน โดยนายเชิดชัย สนั่นศรีสาคร รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก(ขบ) เปิดเผยว่ากรมฯได้รับนโยบายจากรมช.คมนาคม“นายพิชิต อัคราทิตย์” เกี่ยวกับแผนการพัฒนาความปลอดภัยรถตู้โดยสารสาธารณะโดยนายพิชิตต้องการให้ ขบ.เร่งรัดระยะเวลาการปรับเปลี่ยนรถตู้โดยสารเป็นรถไมโครบัสขนาด 20 ที่นั่ง ภายในระยะเวลา 6 เดือนนับจากนี้ หรือเริ่มตั้งแต่กลางปี 2560 ซึ่งเร็วกว่าแผนเดิมของขบ.ที่ตั้งเป้าให้ทยอยเริ่มปรับเปลี่ยนตั้งแต่ปี 2562-2564 โดยระยะแรกจะเร่งรัดให้ปรับเปลี่ยนรถตู้โดยสารหมวด 2 ที่วิ่งระหว่าง กทม.- ต่างจังหวัดก่อน ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนประมาณ 5,000 คัน จากนั้นในระยะที่ 2 จึงจะปรับเปลี่ยนรถตู้โดยสารหมวด 3 ที่วิ่งระหว่างจังหวัด – จังหวัด
“ รมช.คมนาคมต้องการเร่งรัดให้เปลี่ยนเป็นมินินัสให้เร็วขึ้น เพราะเห็นว่ารถตู้ไม่เหมาะสมและไม่ปลอดภัยในการนำมาเป็นรถโดยสาร แต่ขณะนี้มีข้อจำกัดว่าไทยยังไม่สามารถผลิตรถชนิดนี้ได้ หากต้องการก็ต้องนำเข้า และยังมีราคาแพง ซึ่งนายพิชิต จะนำเรื่องนี้ไปหารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน และแนวทางที่เหมาะสมควรจะเป็นอย่างไร”
ขณะที่สมาชิก สนช.นายสมชาย แสวงการ ดูจะไปไกลถึงขั้นเสนอยกเลิกสัมปทานรถตู้โดยสารประจำทางข้ามจังหวัด หรือพิจารณาให้วิ่งรับส่งได้เฉพาะในเขตจังหวัดหรือข้ามจังหวัดได้เฉพาะเขตรอยต่อจังหวัดไม่เกิน100 กม. ส่วนการขนส่งผู้โดยสารทางไกลให้ใช้รถบัสหรือมินิบัส ซึ่งต้องใช้มาตรการควบคุม รถ ความเร็วและคนขับแบบมาตรฐาน
ย้อนรอยอุบัติเหตุรอบ 1-2 ปี ตาย 207 เจ็บ 1,949
หากย้อนรอยอุบัติเหตุจากรถตู้โดยสารพบกว่าในรอบปี 2558 มีรถตู้ประสบอุบัติเหตุทั้งหมด 98 ครั้ง ตาย 104 คน บาดเจ็บ 847 คน เฉลี่ยแล้วสัปดาห์หนึ่งจะมีคนตาย 2 คน เจ็บอีกเกือบ 10 ราย อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นแบ่งเป็นรถตู้ส่วนบุคคลหรือรถทัศนาจร 68 ครั้ง เสียชีวิต เสียชีวิต77 ราย บาดเจ็บกว่า 596 ราย เป็น รถตู้ประจำทางวิ่งต่างจังหวัด (ร่วม บ.ข.ส.) 26 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 19 ราย บาดเจ็บ220 ราย และเป็นรถตู้ประจำทางในกรุงเทพ (ร่วม ขสมก.) จำนวน 4 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บ 31ราย
และหากจะย้อนรอยอุบัติเหตุรถตู้โดยสารมรณะสะเทือนขวัญคนไทย คงไม่มีใครลือเหตุการณ์หญิงสาวนามสกุลดัง ขับรถยนต์ฮอนด้าซีวิคพุ่งชนรถตู้โดยสารสายม.ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต – อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 9 ศพ บนทางยกระดับโทลล์เวย์ขาเข้าเมื่อ 27 ธ.ค. 53 ถัดมา 26 ส.ค.56 เกิดเหตุรถตู้โดยสารชนท้ายรถสิบล้อบนถนนบางน้ำเปรี้ยว-บ้านสร้าง จ.ฉะเชิงเทรา ตายคาที่ 9 ศพ เจ็บอีก 7 ราย และ 10 มิ.ย.59 เกิดอุบัติเหตุบริเวณมอเตอร์เวย์ 7 กม.62-63 ขาเข้ากรุงเทพฯ จ.ชลบุรีพลิกคว่ำไฟลุกท่วมคันผู้โดยสารเสียชีวิตถึง 9 ราย และมีบาดเจ็บสาหัสอีก 4 ราย
สรุปสถิติในรอบปีที่ผ่านมา (มกราคม-พฤศจิกายน 2559) มีการเกิดอุบัติเหตุจากรถตู้โดยสาร จำนวน 215 ครั้ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 1,102 คน และมีผู้เสียชีวิต 103 ราย เฉลี่ยเกิดอุบัติเหตุ 19.5 ครั้ง/เดือน บาดเจ็บเฉลี่ย 100 คน/เดือน เสียชีวิตเฉลี่ย 9.4 คน/เดือน
ต้นตออุบัติเหตุรถตู้สาธารณะ
เมื่อพิเคราะห์ถึงสาเหตุการอุบัติเหตุรถตู้สาธารณะพบว่าอันดับแรกเกิดจากสภาพตัวรถ เสถียรภาพตัวรถตู้โดยสารสาธารณะเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอุบัติเหตุเมื่อมีการดัดแปลงสภาพรถ ทำให้ตัวรถรับน้ำหนักมากและวิ่งในระยะทางไกล “รถตู้โดยสารที่ทำการดัดแปลงสภาพจาก 9-10 ที่นั่งเป็น 14-15 ที่นั่งพร้อมทั้งการติดตั้งถังแก๊ส (NGV หรือ LPG) อีก 2 ถัง ทำให้มีน้ำหนักของรถถึง 3,350 กิโลกรัม เพิ่มจากประเภทปกติมาประมาณ 400 กิโลกรัม ยังไม่รวมน้ำหนักสัมภาระของผู้โดยสาร ทำให้สัดส่วนการกระจายน้ำหนักหรือแรงกดของเพลาหน้าและเพลาท้ายของรถตู้แตกต่างจากสภาพเดิมของรถ ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัย รวมถึงสมรรถนะของรถในการออกตัวการเร่ง การเปลี่ยนช่องทางและการเบรก ทั้งทางตรงและทางอ้อม อีกทั้งการใช้งานหนักโดยละเลยการตรวจสภาพ เสี่ยงมากที่จะก่อให้เกิดปัญหายางระเบิด รวมไปถึงการออกแบบ ให้มีทางเข้า – ออกเพียงทางเดียว ยังถือเป็นอุปสรรคในการหลบหนีหรือเข้าช่วยเหลือหากเกิดเหตุฉุกเฉินด้วย”
ส่วนสาเหตุจากคนขับนั้น หลายรายมีพฤติกรรมการขับขี่ไม่เคารพกฎจราจรและตระหนักถึงความปลอดภัย เช่น ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด บรรทุกผู้โดยสารเกินกว่าที่นั่ง หลับใน ขับเร็ว-ปาดซ้ายปาดขวาเพื่อเร่งเวลา เร่งเข้าป้ายรับผู้โดยสารเพื่อสร้างรายได้ให้มากที่สุด
นี่ยังไม่รวมถึงรถมอเตอร์ไซด์วิ่งรับจ้างที่ผุดกันจนล้นเมือง จนขาดการควบคุมในด้านปริมาณและความปลอดภัย รวมไปถึงรถโดยสารขนาดใหญ่เฉพาะรถทัวร์ 2 ชั้น ที่นัยว่า“บ้านเมืองเราเป็นประเทศเดียวในโลกที่ขนส่งยอมให้จดทะเบียนวิ่งกันเกร่อเมือง ทั้งที่ต่างประเทศเขามีไว้ชมวิวในเมือง หรือต้อนรับนักท่องเที่ยววิ่งชมเมืองในระยะสั้นๆเท่านั้น ที่สำคัญยังมีผู้ประกอบการขนส่งหัวใสแต่ไร้จิตสำนึกที่ดีอีกจำนวนมากที่นำแชสซีส์เก่ามาประกอบ ซึ่งแน่นอนไม่ต้องพูดถึงความปลอดภัย”
มาตรการแก้ปัญหาของรัฐถูกต้อง –เกาถูกที่คันหรือไม่?
ขณะที่เสียงสะท้อนของนักวิชาการจากเรื่องดังกล่าวนี้ โดยศ.ดร.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกุร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ 1 ในวิทยากรจากเวทีสัมมนาหัวข้อ“แนวทางการปฏิรูป หลังโศกนาฏกรรมรถตู้” ที่หอประชุมหอประชุมจุฬาลงกรณ์ ให้ความเห็นว่าสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางรถ พบว่ารถตู้โดยสารมีอัตราการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตสูงกว่ายานพาหนะอื่น 2-3 เท่าตัว ถึงเวลาแล้วที่รัฐต้องออกกฎหมายควบคุมรถตู้โดยสารโดยเฉพาะ แม้ในความเป็นจริงรัฐรณรงค์ดื่มไม่ขับ แต่อุบัติเหตุก็ยังเกิดขึ้น นั่นแสดงให้เห็นว่าสาเหตุไม่ใช่สุราเพียงอย่างเดียว
“ต้องย้อนกลับมาดูว่าสาเหตุมีอะไรบ้าง ทั้งสภาพตัวรถ คนขับ ถนนหนทาง จิตสำนึกในการขับขี่ ส่วนแนวทางแก้ปัญหาควรแก้ที่ต้นของปัญหา หลายฝ่ายเสนอให้ยกเลิกรถตู้สาธารณะ ตนมองว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ นอกจากนั้นต้องสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี คือการสร้างจิตสำนึกให้แก่คนขับและผู้ใช้บริการ รวมถึงบทลงโทษผู้กระทำผิดต้องเด็ดขาด ตลอดถึงต้องปรับปรุงด้านกายภาพ ทั้งสภาพถนนหนทาง และตัวรถ”
สอดคล้องกับมุมมองของรศ.ดร.ศักดิ์สิทธิ์ เฉลิมพงศ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ1 ในวิทยากรบนเวทีสัมมนาเดียวกัน ระบุว่าสถิติการเกิดอุบัติเหตุของรถตู้สาธารณะ พบว่ารถตู้สายระหว่างเมืองเกิดอุบัติเหตุถึงเสียชีวิตสูงกว่ารถบัส 5 เท่า สาเหตุหนึ่งมาจากสภาพรถที่มิได้ออกแบบมาเพื่อขนส่งผู้โดยสารประจำทาง โดยรถตู้มีขนาดเล็กมี 12 ที่นั่ง พอปรับเป็นรถประจำทางจะเพิ่มที่นั่งอีก 4 ที่นั่ง ทำให้มีปัญหาความแออัด และประตูรถมีทางเดียว เมื่อมีอุบัติเหตุเป็นไปได้สูงที่ประตูจะเสียรูป ทำให้เปิดออกได้ยาก อีกทั้งจำนวนของหน้าต่างมีขนาดเล็ก การเปิด-ปิดทำได้ยาก เมื่อเกิดอุบัติเหตุคนที่อยู่ในรถหนีภัยลำบาก “การแก้ปัญหารถตู้สาธารณะมิใช่แค่เปลี่ยนรถเท่านั้น ยังต้องควบคุมการใช้ความเร็วที่ผู้ให้บริการจะพยายามทำเที่ยววิ่งให้มากขึ้น เพราะคนขับรถจะมีรายได้จากค่าโดยสาร ไม่มีเงินเดือน ไม่มีสวัสดิการ ดังนั้นเพื่อตัดวงจรนี้ จึงต้องให้คนขับรถมีสวัสดิการ มีเงินเดือนที่เพียงพอ”
ขณะที่นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ประสานงานโครงการรถโดยสารปลอดภัย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาว่า รัฐควรมีมาตรการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง พัฒนาระบบสัญญาใบอนุญาต ตลอดจนความปลอดภัยรถโดยสาร และเข้มงวดกับการตรวจรถโดยสารมากยิ่งขึ้น หากมีกรณีอุบัติเหตุซ้ำซาก ควรมีมาตรการพักใบอนุญาตการเดินรถของผู้ประกอบการ เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบร่วมกัน เพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน และลดการเกิดอุบัติเหตุต่อไป
สำหรับ Logistics Time แล้ว เข้าใจดีถึงความตั้งใจจริงของภาครัฐ แต่จะพุ่งชนความสำเร็จได้หรือไม่นั้น ประชาชนคนไทยยังรอคำตอบ อย่าลืมว่าปัจจุบันมีรถตู้โดยสารประจำทางที่จดทะเบียนกับกรมขนส่งทางมีมากถึง 16,002 คัน รถตู้โดยสารไม่ประจำทางอีก 24,136 คัน การที่จะหักดิบยกเลิกรถตู้โดยสารแล้วเปลี่ยนเป็นไมโครบัสแทนนั้น เป็นการเกาถูกที่คันแล้วหรือไม่ แล้วภาครัฐจะบริหารจัดการอย่างไงกับจำนวนรถเหล่านี้ หรือจะบรรเทาและเยียวยาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการขนส่งอย่างไร และราคาไมโครบัสคันหนึ่งก็ปาเข้าไป 3- 4 ล้านบาท ศักยภาพของผู้ประกอบการมีมากพอหรือไม่ หรือรัฐจะสนับสนุนในด้านใดบ้าง เป็นโจทย์ยากที่รัฐต้องตรึกตรองให้จงหนัก
หลังเกิดปรากฏการณ์นี้ดูเหมือนหน่วยงานที่รับผิดชอบจะตื่นตัวเร่งรัดมาตรการล้อมคอกกันขนานใหญ่ แต่จากนี้จะเกิดมรรคเกิดผลมากน้อยแค่ไหน หรืออาจเป็นแค่ “วัวหายแล้วล้อมคอก” เหมือนเช่นอดีตที่ผ่านมา หรือจะเป็นแค่การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ หรือเมื่อเวลาผ่านไปสักพักก็ไม่มีอะไรในก่อไผ่
….คงเป็นเรื่องยากแล้วกระมังที่จะขอบิณฑบาตว่า “ขอให้ศพนี้เป็นศพสุดท้าย”เถอะโยม!!!