แม้ ศบค.จะ “ทิ้งไพ่ตาย” ขยายเวลาและขยายพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดจาก 13 จังหวัดเป็น 29 จังหวัด หลังจากมาตรการล็อกดาวน์ที่ออกไปก่อนหน้าไร้ผล ยอดผู้ติดเชื้อโคยังคงพุ่งกระฉูดสวนทางกับมาตรการล็อกดาวน์ ที่รัฐบาลและศบค.ออกไป
ล่าสุดยอดผู้ติดเชื้อยังคงทะยานเกิน 20,000 รายต่อวัน ชณะมีผู้เสียชีวิตทุบสถิติเป็นรายวันเกิน 150-180 ราย จนเมรุวัดที่รับเผาศพติดเชื้อต่างๆ รับไม่ไหว
และแทบไม่น่าเชื่อว่า แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่า 5 เดือนนับจากการระบาดระลอกใหม่ แต่จนถึงวันนี้ ประชาชนคนไทยเพิ่งได้รับวัคซีนไปแค่ 16-17 ล้านโดสเท่านั้น ไม่ถึง 20% ของจำนวนประชากรด้วยซ้ำ สะท้อนให้เห็นถึงวิกฤตและความล้มเหลวในการบริหารสถานการณ์วิกฤตโควิดของภาครัฐได้อย่างชัดเจน!!!
อย่างไรก็ตาม ในท่ามกลางวิกฤติของประเทศที่ทุกอณูของระบบเศรษฐกิจกำลังล่มสลายอยู่นั้น กลับไม่น่าเชื่อว่า นักการเมืองและข้าราชการประจำยังคงฉวยโอกาส “หากินบนซากศพ” หากินบนความย่อยยับของระบบเศรษฐกิจกันได้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ออกไปให้หมอ พยาบาล และบุคคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ให้ได้รับวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันเข็มที่ 3 แต่ก็ยังมีความพยายามจาก “Invisible Hand-มือที่มองไม่เห็น” จะล้วงตับเข้ามา หรือความพยายามสวมสิทธิ์ผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนที่ศูนย์บางซื่อ ที่ถูกจับได้คาหนังคาเขานับเป็นพันๆ คนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
กรณีล่าสุดที่ “องค์การต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)” หรือ ACT เพิ่งออกมาแฉก็คือ ความไม่ชอบมาพากลในการประมูลก่อสร้างรถไฟทางคู่ มูลค่ากว่า 1.28 แสนล้านบาท ของ “การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)” ที่มีการเล่นแร่แปรธาตุประเคนงานก่อสร้างไปให้กลุ่มผู้รับเหมายักษ์ที่ร่วมกัน “ฮั้วประมูล” กันอย่างโจ๋มครึ่ม
โดยแหล่งข่าวในวงการรับเหมา ได้ตั้งข้อสังเกตุว่า การที่กลุ่มผู้รับเหมายักษ์ที่เข้าร่วมประมูล 5 ราย 5 สัญญา ต่างพร้อมใจกันเสนอราคาต่ำกว่าราคากลาง เพียง 30 – 40 ล้านบาท หรือ 0.08% เท่านั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันขรมในการรถไฟฯ ว่า อะไรมันจะตาทิพย์พร้อมใจกันเสนอราคาได้ตรงกันโดยบังเอิญขนาดนี้ ทั้งที่ในอดีต 1-2 ปีก่อน รฟท.ได้จัดประมูลรถไฟทางคู่สายใต้ โดยเปิดให้ผู้รับเหมาขนาดกลางมีโอกาสเข้าร่วมแข่งขัน มีการดั๊มราคาประมูลลงมาต่ำกว่าราคากลางถึง 20-30%
อีกกรณีล่าสุดที่เพิ่งถูกตีแผ่ออกมา ก็คือ การประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้า สายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ระยะทาง 23.6 กม. วงเงิน 78,813 ล้านบาท ของ “การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)” ที่เปิดขายซอง TOR ไปเมื่อต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา โดยกำหนดให้ผู้รับเหมายื่นซองข้อเสนอวันที่ 9 ต.ค.ศกนี้ แต่ยังไม่ทันได้ยื่นซองประมูลก็ส่งกลิ่นโชยออกมาให้เห็นกันแล้ว
เพราะแม้ รฟม.จะซอยงานก่อสร้างในโครงการออกเป็น 5-6 สัญญา เปิดกว้างให้ผู้รับเหมาทั้งไทยและต่างประเทศเเข้าร่วมประมูลโดยอ้างเป็น “การประกวดราคานานาชาติ” แต่กลับมีรายการ “หมกเม็ด” ตีกันผู้รับเหมาต่างชาติที่แทบจะหาทางเข้ากันไม่ถูก
“มันจะเป็นการประกวดราคานานาชาติได้ยังไง เล่นตั้งเงื่อนไขไม่อนุญาตให้ใช้ผลงานที่มีกับรัฐบาล ตปท. มาแสดง กำหนดให้ใช้แต่ผลงานกับรัฐบาลไทยเท่านั้น ทำให้ผู้รับเหมาต่างชาติที่มีศักยภาพสูงที่หลวมตัวซื้อ TOR ไปคงได้แต่ร้อง OMG พระเจ้าช่วยกล้วยทอด อะไรมันจะลึกลับซับซ้อนซ่อนเงื่อนกันได้ปานนี้”
ก่อนหน้านี้ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรค ปชป.และผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมระบบขนส่ง ได้ออกโรงชี้ให้เห็นความไม่ชอบมาพากลของการประมูลรถไฟฟ้า สายสีม่วงใต้ โดยระบุว่า แม้ตนจะสนับสนุนผู้รับเหมาไทย แต่ก็ควรต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้รับเหมาต่างชาติด้วย ซึ่งที่ผ่านมา รฟม.เคยให้ผู้รับเหมาต่างชาติใช้ผลงานที่มีกับรัฐบาล ตปท.เข้าประมูลได้ มาโดยตลอด แล้วเหตุใดการประมูลครั้งนี้จึงไม่ยอม มีเหตุที่เป็นข้อสงสัยของประชาชนทั่วไปว่ามีอะไรแอบแฝงอยู่หรือไม่
ทั้งนี้ เมื่อย้อนรอยไปดูการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ของ รฟม.ในอดีต ก็พบว่า ล้วนเปิดกว้างอนุญาตให้ผู้รับเหมาต่างชาติใช้ผลงานใน ตปท.มาแสดงได้ อย่างน้อยก็ 2 โครงการ คือ โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-คูคต ประมูลปี 2556 และโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติ-มีนบุรี) ที่เปิดประมูลในปี 2559 ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างก่อสร้าง
ขณะที่หน่วยงานรัฐอื่น ๆ ที่เปิดกว้างให้รับเหมาต่างชาติเข้าร่วมประมูล ต่างก็เปิดกว้างให้รับเหมาต่างชาตินำผลงานที่มีมาแสดงได้ก็ อาทิ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม-ประจวบคีรีขันธ์-หัวหิน และการก่อสร้างรถไฟทางคู่ สายกลางช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ที่การรถไฟฯ เปิดประมูลในปี 2560
แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า น่าแปลกที่ในขณะที่กระทรวงคมนาคมกำลังถูกสังคมตั้งข้อกังขาต่อความโปร่งใสในการประมูลโครงการต่างๆ ใต้ชายคา ทั้งในส่วนของการประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้า 2 สายทาง และการประมูลก่อสร้างรถไฟทางคู่ 2 สายทางของการรถไฟฯ มูลค่ากว่า 1.28 แสนล้านบาท แต่แทนที่กระทรวงคมนาคม จะเร่งปัดกวาดบ้านตนเอง เร่ง “เคลียร์หน้าเสื่อ” สะสางโครงการประมูลสุดอื้อฉาวทั้ง 3-4 โครงการเหล่านี้ให้สะเด็ดน้ำ ทำอย่างไรจึงจะให้สังคมสิ้นข้อกังขา เหตุใดถึงมีการกำหนดเงื่อนไขประมูลสุดพิสดารพันลึก จนถูกครหาท่วม
แต่กระทรวงคมนาคมกลับข้ามห้วยไประอุศึกกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) และกระทรวงมหาดไทย ที่กำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟฟ้า สายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 2 สายทาง (แบริ่ง-สมุทรปราการ และ พหลโยธิน-คูคต) ที่ กทม.จำเป็นต้องเจรจาต่อขยายสัมปทานให้กับ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTS) เพื่อแลกกับการให้บริษัทเอกชนแบกรับภาระหนี้ทั้งหมดไปแทน แต่เรื่องดังกล่าวกลับถูกกระทรวงคมนาคมสอดมือเข้าไปขวางสุดลิ่ม ด้วยข้ออ้างว่า ค่าโดยสารที่ กทม. และบีทีเอส (BTS) กำหนดไว้ในร่างสัญญาสัมปทานที่กำหนดสูงสุดไม่เกิน 65 บาทตลอดสายนั้น สูงเกินไป เมื่อเทียบกับรถไฟฟ้าใต้ดินของ รฟม. จนทำเอาเส้นทางการแก้ปัญหารถไฟฟ้า สายสีเขียว ของ กทม.ค้างเติ่งคาราคาซังมาร่วมปี
“มันจึงคิดเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากพยายามเบี่ยงประเด็นกลบเกลื่อนเรื่องอื้อฉาวของตนเอง โดยหวังจะให้ผู้คนในสังคมหันไปตรวจสอบโครงการของหน่วยงานอื่น ทั้งที่หน่วยงานใต้ชายคาตนเองนั้นเต็มไปด้วยความเน่าเฟะ อื้อฉาว และยังคงถูกสังคมตั้งข้อครหาในความโปร่งใส เข้าตำรา “ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเองอย่างแท้จริง”