เหลือบไปเห็นข่าวเล็กๆ ชิ้นหนึ่งในสื่อสิ่งพิมพ์ เรื่องที่กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ผู้ชนะประมูลโครงการก่อสร้างและบริหารโครงการรถไฟฟ้า2 สายรวดคือ สายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง มีข้อเสนอที่จะเชื่อมต่อเส้นทางสายสีเหลืองจากรัชดาลาดพร้าวไปยังรัชโยธิน และสายสีชมพูเชื่อมเข้าเมืองทองธานี
แต่ก็ถูก คุณพีระยุทธ์ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กระตุกเบรกด้วยข้ออ้างแม้จะเป็นข้อเสนอที่ดี แต่เป็นเพียงข้อเสนอเพิ่มเติมที่ไม่ได้อยู่ในร่างเงื่อนไขการประกวดราคา ถือเป็นโครงการที่อยู่นอกแผนแม่บทที่อาจมีประเด็นข้อกฎหมายหากจะให้เอกชนเข้ามาดำเนินการ เพราะข้อเสนอนี้เป็นเรื่องใหญ่อีกทั้งยังไม่ได้ผ่านขั้นตอนการศึกษารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม จึงต้องรอให้คณะกรรมการตามมาตร 35 แห่งพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐพ.ศ. 2556 (พีพีพี) พิจารณาก่อน
“ในหลักการนั้นเอกชนต้องดำเนินการก่อสร้างโครงการไปตามเงื่อนไขในทีโออาร์เป็นหลักก่อน ส่วนข้อเสนอเพิ่มเติมยังมีรายละเอียดที่ต้องเจรจากันอีกมาก เพราะไม่ได้อยู่ในแผนแม่บทที่ครม.อนุมัติ ต้องพิจารณาก่อนว่าเงินลงทุนจะมาจากไหน ต้องทำ EIHA จึงไม่สามารถกำหนดอะไรได้จนกว่าคณะกรรมการมาตรา 35 จะรายงานผลการเจรจาขึ้นมา”
แม้จะเป็นเรื่องถูกต้องในหลักการ แต่ก็เป็นเรืองที่ผู้บริหาร รฟม.เองคงต้องตระหนักและต้องเร่งพิจารณาข้อดี-ข้อเสียการเชื่อมต่อโครงข่าายที่ว่านี้ไม่ปล่อยให้ปัญหาคาราคาซัง เพราะบทเรียนของการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-บางซื่อระยะทางเพียง 1 กม.เศษนั้น ถือเป็นตัวอย่างความไม่เอาถ่านของการจัดทำแผนแม่บทรถไฟฟ้าที่ปล่อยให้เกิดปัญหาคอขวดหรือ Missing Link ขึ้นมาจนถึงขั้นที่ทำเอา “นายกฯตู่” เกิดอาการฟิวขาด จวกแหลกการทำงานรฟม.และกระทรวงคมนาคมจนต้องลนลานแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ากันมาแล้ว
ทั้งนี้ ปัญหาคอขวดดังกล่าว อดีตผู้ว่าการ รฟม.นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ได้เคยนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหานี้มาตั้งแต่ปีมะโว้แล้ว ให้บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BEM ขยายการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเดิมออกไปไม่ให้เกิดปัญหา“ฟันหลอ”เป็นคอขวด แต่ก็มีมือดีในรฟม.และคมนาคมดึงเรื่องการเจรจาที่ว่านี้เอาไว้จนรัฐบาลคสช.เข้ามากว่า 2 ปีเศษแล้วก็ยังไม่มีการเจรจาผ่าทางตัน
กระท่ังนายกฯออกอาการ “ฟิวขาด” นั่นแหล่ะ กระทรวงคมนาคมและรฟม.ถึงได้ลงมาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการแยกสัญญาว่าจ้าง BEM บริหารการเดินรถ 1 สถานีไป เรียกได้ว่า “ประเคน”ให้ BEM ไปดื้อๆจากเดิมที่เป็นเงื่อนไขต้องให้บริษัทต้องแบกรับภาระไปเอง!
โครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเหลืองเชื่อมต่อไปยังรัชโยธิน และรถไฟฟ้าสายสีส้มที่จะเชื่อมไปยังเมืองทองธานีก็เช่นกัน ย่ิงกับสายสีชมพูแล้วหากทุกฝ่ายจะพิจารณาโครงข่ายแล้วจะเห็นว่า การเชื่อมต่อโครงการเข้าไปยังเมืองทองธานีนั้น จะช่วยเสริมศักยภาพของรถไฟฟ้าสายนี้ เพราะมีฐานลูกค้าผู้ใช้บริการกว่าปีละ 15 ล้านคนเป็นอย่างน้อย เป็นข้อเสนอที่กล่าวได้ว่ายังประโยชน์ต่อสัญญาหลักช่วยลดความเสี่ยงของบริษัทเอกชนที่จะเข้ามาลงทุนโดยปริยาย
อย่างลืมว่าสาเหตุที่มีผู้ยื่นซองโครงการรถไฟฟ้าสีชมพูและเหลืองน้อยรายก็เพราะเป็นโครงการสัมปทานที่เอกชนต้องลงทุนทั้งด้านก่อสร้างและการเดินรถ ขณะที่รัฐเองก็มีลิมิตในการให้การอุดหนุนไม่เกิน 20,000 ล้านบาทเท่านั้น ส่งผลให้มีความเสี่ยงในเรื่องระยะเวลาการก่อสร้างและรายได้ที่ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้โดยสารเป็นหลัก
บทเรียนจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง น่าจะเป็นคำตอบที่ดีหากไม่คิดอ่านหาทางหนีทีไล่เสียตั้งแต่วันนี้ หรือถนัดแต่รอให้ไฟลนก้นก่อนถึงค่อยตาลีตาเหลือกกันอีก!!!
เนตรทิพย์