“ศักดิ์สยาม”ลุกแจงอภิปรายไม่ไว้วางใจปมรถไฟฟ้าสายสีส้ม ยันดำเนินการตามมติ ครม. เดินหน้าตามระเบียบ กม.-ตามหลักธรรมาภิบาล ย้อนถาม “จิรายุ” ส.ส.เพื่อไทย “เอื้อประโยชน์ใคร-ใครได้ประโยชน์” แนะอย่าปะติดปะต่อข่าว อย่าใช้จินตนาการ ลั่นยกเลิกประมูลก่อนรอข้อพิพาทถึงที่สุด ช่วยเซฟเวลา 1 ปี พร้อมกำหนดแผนเปิดให้บริการฝั่งตะวันออกปี 67-ฝั่งตะวันตกปี 70
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ วันนี้ (18 ก.พ. 2564) กรณีนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคเพื่อไทย โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 1.28 แสนล้าน หลังจากมีการปรับเกณฑ์พิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคควบคู่กับด้านราคา (เกณฑ์การประเมินใหม่) และยกเลิกการประมูลเมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2564 ที่ผ่านมาว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.ส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี) ระยะทาง 22.5 กม. จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และ สถานียกระดับ 7 สถานี) โดยในขณะนี้ มีความก้าวหน้า 76% คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2567 เปิดให้บริการช่วง ต.ค. 2567
และ 2.ส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) ระยะทาง 13.4 กม. จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย) ในขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกเอกชน ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปี 2563 ที่ให้ดำเนินการโครงการรูปแบบ PPP Net Cost รอหาเอกชนมาร่วมลงทุน โดยคาดว่า จะเปิดให้บริการ เม.ย. 2570 อย่างไรก็ตาม ในส่วนตะวันออก จะเป็นสัญญาก่อสร้างงานโยธาเป็นหลัก แต่ขณะที่ส่วนตะวันตก จะรวมการเดินรถเข้าไปด้วย ทั้งนี้ หากส่วนตะวันตกไม่สามารถดำเนินการได้ จะส่งผลให้ส่วนตะวันออกจะยังไม่เปิดให้บริการ
นายศักดิ์สยาม กล่าวถึงประเด็นการคัดเลือกเอกชนว่า ได้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ พ.ศ.2562 โดยเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2563 ที่ผ่านมา การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีคำสั่งที่ 67/2563 แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ขณะเดียวกัน เพื่อให้เกิดความชัดเจนตามมติ ครม.ที่อนุมัติโครงการฯ เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2563 ที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมจึงได้ทำหนังหารือไปยังสำนักเลขาธิการ ครม. โดยเป็นการอนุมัติหลักการโครงการเท่านั้น ทั้งนี้ ตนได้กำชับให้ รฟม. ดำเนินการตามระเบียบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด และตามหลักธรรมภิบาล
“ผมยืนยันว่า การดำเนินการโดยใช้ราคาและคุณภาพนั้น เพราะเป็นเรื่องการขุดอุโมงค์ และที่ผ่านมาการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ก็มีปัญหา เรื่องสิ่งปลูกสร้างแตกร้าว เช่น มีน้ำรั่วไหลเข้าไปในสถานีสามยอด ทำให้เทคนิคการก่อสร้างมีความสำคัญ เพราะโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ต้องผ่านชุมชนหนาแน่น ซึ่งเป็นย่านเศรษฐกิจ การค้า รวมถึงพื้นที่สำคัญอื่นๆ ส่วนการยกเลิกเมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2564 ที่ผ่านมานั้น ก็เป็นการดำเนินการตามกฎหมายที่มีการสงวนให้มีการยกเลิกได้ โดยผู้ยื่นข้อเสนอไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียได้ และได้มีการหารือสำนักนายกฯ แล้ว พร้อมทั้งสั่งการให้ รฟม.ดำเนินการตามระเบียบ” นายศักดิ์สยาม กล่าว
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า สำหรับการดำเนินการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่ ภายหลังการยกเลิกประกาศเชิญชวนฯ และการคัดเลือกเอกชน เมทื่อวันที่ 3 ก.พ. 2564 ที่ผ่านมา โดยภายใน ก.พ.นี้ รฟม. จะจัดรับฟังความเห็นความสนใจการลงทุนของภาคเอกชน (Market Sounding) และสาระสำคัญของเอกสารการคัดเลือกเอกชน (RFP) จากนั้นคณะกรรมคัดเลือกจะเห็นชอบประกาศเชิญชวน, RFP และร่างสัญญาฯ
ขณะเดียวกัน รฟม. จะออกประกาศเชิญชวน และขายเอกสาร RFP ภายใน มี.ค. 2564 ก่อนที่จะเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในช่วง มี.ค.-พ.ค. 2564 หลังจากนั้น คณะกรรมการคัดเลือกฯ ประเมินข้อเสนอ-เจรจาต่อรอง ช่วง พ.ค.-ก.ค. 2564 ก่อนส่งต่อให้อัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาฯ และคาดว่าจะเสนอให้ ครม. พิจารณาเห็นชอบผลการคัดเลือกฯ และลงนามสัญญาภายใน ก.ค. 2564 อย่างไรก็ตาม เมื่อยกเลิกการประมูลแล้วคัดเลือกใหม่นั้น จะใช้เวลา 6 เดือน ช่วลลดระยะเวลาได้ 1 ปี หรือหากรอให้ข้อพิพาทถึงที่สุดจะใช้ระยะเวลา 18 เดือน
“ผมขอเรียนชัดเจนว่า ที่กล่าวหาว่า การดำเนินการเอื้อประโยชน์ ผมขอถามกลับว่า เอื้อประโยชน์ใคร ใครได้ประโยชน์ เพราะโครงการนี้ ยังไม่มีการประกาศผลว่าใครชนะ ยังไม่มีการเปิดซอง ยืนยันว่า กระทรวงคมนาคมดำเนินการตามกฎหมายที่ให้อำนาจหน้าที่ และท่านนายกฯ สั่งการมาตลอด ผมต้องถามว่า ผิดกฎหมายตรงไหน แล้วเกี่ยวกับรัฐมนตรีว่าคมนาคมตรงไหนที่ไม่กำกับดูแล และผู้อภิปรายท่านเอาข่าวมาปะติดปะต่อ และใช้จินตนาการ” นายศักดิ์สยาม กล่าว