สรท.เผยส่งออกปี 63 หดตัว -6.01% คาดปี 64 โต 3-4% ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน พร้อมเสนอแนะมาตรการเร่งด่วน-ยาวให้รัฐช่วยหนุนผู้ส่งออกตามทิศทางการค้าโลกหวังพยุงเศรษฐกิจประเทศปี 64
นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่าส่งออกเดือนธันวาคม 2563 มีมูลค่า 20,082 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 4.71% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) การส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 602,803 ล้านบาท ขยายตัว 4.99% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) ในขณะที่การนำเข้าในเดือนธันวาคม 2563 มีมูลค่า 19,119 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 3.62% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) และการนำเข้าในรูปของเงินบาทมีมูลค่า 582,100 ล้านบาท ขยายตัว 3.85% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) ส่งผลให้ เดือนธันวาคม 2563 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 963 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 20,703 ล้านบาท (การส่งออกเมื่อหักทองคำ น้ำมันและอาวุธยุทธปัจจัย เดือนธันวาคมการส่งออกขยายตัว 5.81%)
ภาพรวมช่วงเดือนม.ค.- ธ.ค. ปี 2563 ไทยส่งออกรวมมูลค่า 231,468 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -6.01% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) คิดเป็นมูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทที่ 7,178,494 ล้านบาท หดตัว -5.90% เมื่อเทียบกับปีก่อน (YoY) ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 206,991 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -12.39% เมื่อเทียบกับปีก่อน (YoY) หรือคิดเป็นมูลค่า 6,495,546 ล้านบาท หดตัว -12.52% เมื่อเทียบกับปีก่อน (YoY) ส่งผลให้ช่วงเดือน ม.ค.- ธ.ค. 2563 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 24,476 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 682,547 ล้านบาท (การส่งออกเมื่อหักทองคำและน้ำมันน้ำมันและอาวุธยุทธปัจจัย เดือน ม.ค. – ธ.ค. การส่งออกขยายตัว -6.75%)
ทั้งนี้ สรท. ยังคงคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2564 เติบโตระหว่าง 3% ถึง 4% (ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2564) โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญในปี 2564 คือ การกลับมาขยายตัวของสินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าขั้นกลาง อาทิ แผงวงจรไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เม็ดพลาสติก ตามทิศทางการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกก่อนกระทบการระบาดครั้งใหม่ อีกทั้งการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้ากลุ่มอาหาร (ผักผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง แปรรูป) สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับ work from home จากอานิสงค์ความไม่แน่นอนของการระบาดโควิด-19 ในประเทศคู่ค้า
ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 2564 ได้แก่ 1)การระบาดโควิด-19 ในประเทศคู่ค้าและภายในประเทศที่ยังมีสถานการณ์รุนแรง 2)ปัญหา International Logistics ทั้งปัญหาตู้สินค้าขาดแคลนและระวางเรือไม่เพียงพอจากการระบาดของ Covid-19 รอบ 2 ในหลายประเทศ ปัญหาอัตราค่าระวางปรับเพิ่มขึ้น อัตราค่าระวางเรือที่ส่งออกจากประเทศไทยไปยังแต่ละเส้นทาง ปัญหาค่าระวางขนส่งทางอากาศยังคงทรงตัวในระดับสูง โดยเฉพาะในเส้นทาง EU US Japan เป็นต้น 3)ค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง ตามทิศทางของสกุลเงินภูมิภาค ตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ จากแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในระยะยาว (QE) และการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่วงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย มีข้อเสนอแนะภาครัฐทั้งมาตรการเร่งด่วน ระยะยาว เพื่อพยุงเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ