สถานีกลางบางซื่อ-รถไฟฟ้าสายสีแดง เปิดให้บริการปลายปี 64

0
653

ณ นาทีนี้การก่อสร้าง“สถานีกลางบางซื่อ”ศูนย์กลางคมนาคมขนส่งทางรางใหญ่สุดในประเทศและอาเซียนเกือบแล้วเสร็จ 100% พร้อมนับถอยหลังเตรียมทเปิดใช้งานจริงปลายปี 64 พร้อมกับรถไฟฟ้าสายสีแดงบางซื่อ-รังสิตหลังนายกฯลุงตู่และคณะรัฐมนตรีลงพื้นที่เยี่ยมชมและทดลองนั่งรถไฟฟ้าสายสีแดงเมื่อกลางเดือนธันวาที่ผ่านมา

ว่ากันโดยอัครสถานสิ่งก่อสร้างนี้จะเป็นสถานีรถไฟหลักแห่งใหม่ของไทย ที่จะรวมบรรดารถไฟในทุกๆระบบแบบครบรสชาติมาให้บริการในที่แห่งเดียวทั้งรถไฟความเร็วสูง, รถไฟทางไกล สายเหนือ อีสาน ใต้ ตะวันออก ตะวันตก, รถไฟสายสีแดง, แอร์พอร์ตเรลลิงก์ และยังเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้ามหานครอีกด้วย

ด้วยอาคารสถานที่โอ่โถ่งมีพื้นที่ใช้ 42,000 ตารางเมตร เป็นพื้นที่ชานชาลารถไฟชานเมือง 4 ชานชาลา และรถไฟทางไกล 8 ชานชาลา ที่จอดรถชั้นใต้ดินให้บริการกว่า 1,600 คัน งานนี้บอกเลยว่า “สถานีกลางบางซื่อ” ของไทย ถือว่าเป็น “Grand Station” แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ณ ขณะนี้ และยังเป็นชุมทางรถไฟที่มีขนาดใหญ่สุดในอาเซียน ไม่ต่างจากสถานีกลางรถไฟในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น เกาหลี อเมริกา หรือประเทศในแถบยุโรปที่มีสถานีรถไฟครบทุกระบบแบบนี้

ศูนย์กลางคมนาคมขนส่งทางรางใหญ่สุดของประเทศ-อาเซียน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่าสถานีกลางบางซื่อ คือศูนย์กลางการคมนาคมและการขนส่งทางรางที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ นอกจากจะเป็นศูนย์กลางการเดินทางระบบรางแล้วนั้น ยังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ ก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมโอกาสด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว รวมถึงสนับสนุนการขยายตัวของเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจตลอดแนวเส้นทาง

“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พื้นที่ย่านบางซื่อของการรถไฟฯ ซึ่งได้มีแผนพัฒนาพื้นที่บริเวณนี้ควบคู่ไปกับสถานีกลางบางซื่อในระยะยาว จะช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมและการขนส่งทางรางที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนควบคู่กันไปอย่างยั่งยืน นับเป็นก้าวย่างสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของการพัฒนาระบบรางและการพัฒนาประเทศตามเป้าหมายและยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่วางไว้”

นายศักดิ์สยาม ระบุอีกว่า ตามที่ทางรัฐบาลได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนที่มีประสิทธิภาพ และแก้ไขปัญหาด้านการจราจร โดยการเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งให้มีความต่อเนื่องกันทั้งระบบ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีศูนย์กลางการคมนาคมที่จะเชื่อมต่อการเดินทางจากใจกลางกรุงเทพมหานคร สู่ปริมณฑล รวมถึงเชื่อมโยงต่อไปยังทุกภูมิภาคทั่วประเทศ  สถานีกลางบางซื่อแห่งนี้จะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและการขนส่งทางรางที่ใหญ่ที่สุดของประเทศและมีมาตรฐานเทียบเท่าสถานีรถไฟชั้นนำของโลก

“การออกแบบจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารและทุกคนตามหลักอารยสถาปัตย์ สามารถเปลี่ยนถ่ายการเดินทางจากระบบราง ทั้งรถไฟทางไกล รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าเชื่อมสนามบิน และยังเชื่อมต่อการเดินทางของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตเมือง และระบบขนส่งรูปแบบอื่น ๆ อาทิ รถสาธารณะรถโดยสารประจำทาง รถโดยสาร บขส. รถแท๊กชี่ ได้ครบครัน รวมถึงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงพาณิชย์  กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้การรถไฟฯ จัดทำแผนพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีกลางบางซื่อควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบราง เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการเดินทางและธุรกิจแห่งภูมิภาคอาเซียน ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มและพัฒนาเมืองในรูปแบบใหม่ เพื่อให้เกิดการกระตุ้นและขยายธุรกิจและเศรษฐกิจในพื้นที ส่งเสริมให้เกิดการกระจายโอกาสในด้านต่าง ๆ สู่ประชาชน ทั้งในด้านของการสร้างงาน สร้างอาชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นเป้าหมายที่กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการในการมุ่งพัฒนาประเทศอย่างบูรณาการ”

นับถอยหลังเตรียมเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ปลายปี 64   

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย  กล่าวว่าปัจจุบันงานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟชานเมือง และงานก่อสถานีรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน จำนวน 13 สถานีและงานก่อสร้างถนนเลียบทางรถไฟ ดำเนินการก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จ คงเหลืองานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมจัดหาตู้รถไฟฟ้าสำหรับช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ประกอบด้วยงานระบบราง ระบบควบคุมการเดินรถและระบบอาณัติสัญญาณ ระบบโทรคมนาคม ระบบจำหน่ายตั๋วโดยสาร อุปกรณ์สำหรับศูนย์ซ่อมบำรุง ระบบรักษาความปลอดภัย สถานีไฟฟ้าย่อยและหม้อแปลงไฟฟ้า ระบบขับเคลื่อนรถไฟฟ้า และระบบอื่น ๆ งานจัดหาตู้รถไฟฟ้ารวมถึงการจัดเตรียมอบรมบุคลากรในการบริหารและซ่อมบำรุงระบบรถไฟฟ้า  มีความก้าวหน้าร้อยละ 89.10 โดยคาดว่าจะทดสอบการเดินรถเสมือนจริง แล้วเสร็จเดือนมีนาคม 2564 จากนั้นจึงจะเปิดให้ประชาชนได้ทดลองใช้บริการในเดือนกรกฎาคม 2564 และเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในเดือนพฤศจิกายน 2564

“ภายในสถานี ประกอบด้วย อาคารทั้งหมด 3 ชั้น คือ ชั้นที่ 1 เป็นพื้นที่จำหน่ายตั๋วโดยสารและจุดเชื่อมต่อการเดินทางด้วยระบบรางในกรุงเทพฯ ชั้นที่ 2 เป็นชั้นชานชาลา ประกอบด้วย รถไฟทางไกล 8 ชานชาลา และรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง 4 ชานชาลา และชั้นที่ 3  เป็นชั้นชานชาลาสำหรับรถไฟเชื่อมท่าอากาศยาน และชานชาลารถไฟความเร็วสูง โดยแบ่งเป็นชานชาลาสำหรับรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน 2 ชานชาลา รถไฟฟ้าความเร็วสูงสายเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 6 ชานชาลา รถไฟฟ้าความเร็วสูงสายใต้ จำนวน 4 ชานชาลา รวมทั้งสิ้น 12 ชานชาลา นอกจากนี้ ยังมีชั้นใต้ดิน ซึ่งเป็นพื้นที่จอดรถ ที่สามารถจอดรถยนต์ได้ถึง 1,624 คัน มีถนนทางเข้าออกสถานีได้หลายทิศทาง เชื่อมต่อกับทางด่วนพิเศษ มีพื้นที่รองรับรถโดยสารประจำทาง และรถแท็กซี่  และยังมีพื้นที่สวนสาธารณะพร้อมบึงน้ำขนาดใหญ่”

บริษัทลูกร.ฟ.ท. เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถไฟชานเมือง สายสีแดง

ด้านการบริหารสถานีในระยะแรกนั้น ผู้ว่าฯร.ฟ.ท.ให้รายละเอียดว่า การรถไฟฯจะเป็นผู้บริหารสถานีกลางบางซื่อ และมอบหมายให้ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถไฟชานเมือง สายสีแดง รวมถึงการบริหารสถานีรถไฟสายสีแดง จำนวน 12 สถานี โดยเมื่อโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิตและช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน เปิดให้บริการแล้วคาดว่าจะมีผู้โดยสารมาใช้บริการประมาณ 86,000 คน-เที่ยว/วัน ซึ่งจะส่งผลให้สถานีกลางบางซื่อกลายเป็นศูนย์กลางการเดินทางด้วยระบบรางแห่งใหม่ของประเทศ รวมทั้งเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

“ขณะที่โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2565  โดยมีสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้นำเสนอแนวทางการเชื่อมต่อสถานีรถไฟรังสิตกับโครงข่ายต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน  อีกทั้งการรถไฟฯ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และการเคหะแห่งชาติ ได้ร่วมกันกำหนดแนวทางการพัฒนาโครงการอาคารเช่าสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เป็นอาคารพักอาศัยสูง 8 ชั้นจำนวน 2 อาคาร จำนวน 360 ห้อง โดยอยู่ระหว่างสำรวจพื้นที่ และจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ในมิถุนายน 2564 เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อเริ่มก่อสร้าง และให้ประชาชนเข้าพักอาศัยใน ตุลาคม 2566 อันเป็นการบูรณการระบบรางควบคู่กับการพัฒนาเมืองตามแนวนโยบายของรัฐบาลต่อไป”