นายกฯลงพื้นที่เยี่ยมชมสถานีกลางบางซื่อ-รถไฟฟ้าสายสีแดง พร้อมเปิดให้บริการปลายปี 64

0
185

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมครม.-คณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่เยี่ยมชมสถานีกลางบางซื่อ ศูนย์กลางคมนาคมขนส่งทางรางใหญ่สุดของประเทศ-อาเซียน พร้อมทดลองเดินขบวนรถไฟฟ้าสายสีแดง ระหว่างสถานีกลางบางซื่อ – สถานีรังสิต คาดแล้วเสร็จมีนาคม 64 เปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการ ก.ค.64 และเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ พ.ย. 64

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี  (พ.ศ. 2561 – 2580) โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ระบบคมนาคมขนส่งทางราง” ซึ่งเป็นรูปแบบการเดินทางขนส่งที่มีประสิทธิภาพ ช่วยเชื่อมโยงทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงได้ส่งเสริม ติดตาม และมุ่งมั่นผลักดันเพื่อให้ระบบคมนาคมขนส่งทางรางเป็นรูปแบบการเดินทางหลักของประเทศ ที่ผ่านมารัฐบาลได้เร่งพัฒนาระบบคมนาคมทางรางอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานคร โครงการรถไฟทางคู่ทั่วประเทศ รวมถึงพัฒนาโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม สามสนามบิน เพื่อเชื่อมต่อภูมิภาคของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เป็นต้น

สำหรับสถานีกลางบางซื่อศูนย์กลางการคมนาคมและการขนส่งทางรางที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ นอกจากจะเป็นศูนย์กลางการเดินทางระบบรางแล้วนั้น ยังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ ก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมโอกาสด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว รวมถึงสนับสนุนการขยายตัวของเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจตลอดแนวเส้นทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พื้นที่ย่านบางซื่อของการรถไฟฯ ซึ่งได้มีแผนพัฒนาพื้นที่บริเวณนี้ควบคู่ไปกับสถานีกลางบางซื่อในระยะยาว จะช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมและการขนส่งทางรางที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนควบคู่กันไปอย่างยั่งยืน นับเป็นก้าวย่างสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของการพัฒนาระบบรางและการพัฒนาประเทศตามเป้าหมายและยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่วางไว้

ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่าตามที่ทางรัฐบาลได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนที่มีประสิทธิภาพ และแก้ไขปัญหาด้านการจราจร โดยการเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งให้มีความต่อเนื่องกันทั้งระบบ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีศูนย์กลางการคมนาคมที่จะเชื่อมต่อการเดินทางจากใจกลางกรุงเทพมหานคร สู่ปริมณฑล รวมถึงเชื่อมโยงต่อไปยังทุกภูมิภาคทั่วประเทศ  สถานีกลางบางซื่อแห่งนี้จะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและการขนส่งทางรางที่ใหญ่ที่สุดของประเทศและมีมาตรฐานเทียบเท่าสถานีรถไฟชั้นนำของโลก ในการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารและทุกคนตามหลักอารยสถาปัตย์ สามารถเปลี่ยนถ่ายการเดินทางจากระบบราง ทั้งรถไฟทางไกล รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าเชื่อมสนามบิน และยังเชื่อมต่อการเดินทางของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตเมือง และระบบขนส่งรูปแบบอื่น ๆ อาทิ รถสาธารณะรถโดยสารประจำทาง รถโดยสาร บขส. รถแท๊กชี่ได้ครบครัน รวมถึงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงพาณิชย์  กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้การรถไฟฯ จัดทำแผนพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีกลางบางซื่อควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบราง เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการเดินทางและธุรกิจแห่งภูมิภาคอาเซียน ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มและพัฒนาเมืองในรูปแบบใหม่ เพื่อให้เกิดการกระตุ้นและขยายธุรกิจและเศรษฐกิจในพื้นที ส่งเสริมให้เกิดการกระจายโอกาสในด้านต่าง ๆ สู่ประชาชน ทั้งในด้านของการสร้างงาน สร้างอาชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นเป้าหมายที่กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการในการมุ่งพัฒนาประเทศอย่างบูรณาการ 

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย  กล่าวว่าปัจจุบันงานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟชานเมือง และงานก่อสถานีรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน จำนวน 13 สถานีและงานก่อสร้างถนนเลียบทางรถไฟ ดำเนินการก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จ คงเหลืองานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมจัดหาตู้รถไฟฟ้าสำหรับช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ประกอบด้วยงานระบบราง ระบบควบคุมการเดินรถและระบบอาณัติสัญญาณ ระบบโทรคมนาคม ระบบจำหน่ายตั๋วโดยสาร อุปกรณ์สำหรับศูนย์ซ่อมบำรุง ระบบรักษาความปลอดภัย สถานีไฟฟ้าย่อยและหม้อแปลงไฟฟ้า ระบบขับเคลื่อนรถไฟฟ้า และระบบอื่น ๆ งานจัดหาตู้รถไฟฟ้ารวมถึงการจัดเตรียมอบรมบุคลากรในการบริหารและซ่อมบำรุงระบบรถไฟฟ้า  มีความก้าวหน้าร้อยละ 89.10 โดยคาดว่าจะทดสอบการเดินรถเสมือนจริง แล้วเสร็จเดือนมีนาคม 2564 จากนั้นจึงจะเปิดให้ประชาชนได้ทดลองใช้บริการในเดือนกรกฎาคม 2564 และเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในเดือนพฤศจิกายน 2564

หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีและคณะได้ทดลองเดินทางด้วยรถไฟฟ้าสายสีแดงจากสถานีกลางบางซื่อไปยังสถานีรังสิต เพื่อดูความคืบหน้าของงานก่อสร้าง ซึ่งรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อถึงดอนเมืองเป็นทางรถไฟยกระดับใช้ความเร็วในการเดินทาง 120 กม./ชม. และช่วงดอนเมืองถึงรังสิต ซึ่งเป็นทางรถไฟระดับผิวดิน มีรั้วกันสองข้างทางและสร้างถนนยกระดับข้ามทางรถไฟ สามารถใช้ความเร็วในการเดินทางได้ 140 กม./ชม. หลังทดสอบแล้วเสร็จจะสามารถให้บริการแก่ประชาชนในจังหวัดปทุมธานี