แก้รถติด ICD ลาดกระบัง สุดท้ายก็…“ลิงแก้แห”!?

0
1436

เป็นปัญหาเรื้อรังกระแทกใจผู้ประกอบการส่งออก-นำเข้าของไทยมานาน สำหรับปัญหาการจราจรภายในสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง ลาดกระบัง  หรือ ICDที่ยังคงสถานะตี๊ดติดและก็ยิ่งติดขัดหนักขึ้นทุกวัน เหตุปริมาณการขนส่งสินค้าหนาแน่นเกินพิกัดอัตรากำลังที่ ICD ลาดกระบังจะแบกรับไว้ได้ เพราะแต่เดิม ICD ลาดกระบังแห่งนี้ถูกออกแบบไว้เพื่อรองรับปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ได้ปีละ 4-6 แสน ทีอียูเท่านั้น แต่ปัจจุบันประชากรคอนเทนเนอร์ผุดเพิ่มขึ้นพุ่งทะยานเฉลี่ยถึงปีละ 1,400,000 ทีอียู

ยังไม่รวมปัญหาขบวนรถสิบล้อขนาดใหญ่เข้า-ออกเฉลี่ยวันละ 3,000 คัน ปัญหาอันเกิดจากการบริหารจัดการของหน่วยงานที่รับผิดชอบภายใน ICD ลาดกระบัง ที่ยังหละหลวมในแง่มุมประสิทธิภาพ เหตุซ้ำซ้อนในบทบาทและหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ตลอดถึงปัญหาการขาดอัตรากำลังพลของเจ้าหน้าที่ตำรวจรถไฟต่อการอำนวยความสะดวก และการบังคับใช้กฎหมายที่ยังขาดความเด็ดขาด

แม้ปัญหาเหล่านี้จะถูกหน่วยงานที่รับผิดชอบหยิบยกขึ้นมาถกและร่วมกันหาทางของและมาตรการแก้ไข ถึงกระนั้นก็ยังไม่สะเด็ดน้ำซะที หรือบางมาตรการที่ถูกนำไปใช้ก็ดูเหมือน “เกาไม่ถูกที่คัน”กลายเป็นปัญหาซ้ำซากกระชวกใจผู้ประกอบการที่ใช้บริการถึงขนาดออกอาการ “อ่อนเพลียระเหี่ยใจ”จนถึงทุกวันนี้

 

ผู้ว่าฯร.ฟ.ท.ลงพื้นที่เร่งรัดแก้ไขปัญหา/เข้มกฎหมายจับ-ปรับจริงจัง

ล่าสุด คุณวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และคณะติดตามการแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณพื้นที่โดยรอบ ICD ลาดกระบัง ได้ลงพื้นที่เพื่อสั่งการและติดตามการแก้ไขปัญหาจราจรตามจุดเข้า-ออกตามประตูต่างๆ ภายในพื้นที่ไอซีดีลาดกระบังเปิดเผยว่า การรถไฟฯ ได้ร่วมกับกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการแก้ปัญหาจราจรภายในบริเวณพื้นที่โดยรอบสถานี ICD ลาดกระบัง พร้อมได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาในส่วนของการรถไฟฯ ให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานที่ประชุมรับทราบ เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรภายใน ICDลาดกระบัง รับทราบในหลายประเด็น

“การรถไฟฯ ได้เสนอแนวทาง ให้เพิ่มความเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายจราจรภายในพื้นที่อย่างจริงจัง โดยนอกจากการขอกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรเพิ่มเติมลงในพื้นที่แล้ว ยังเสนอให้มีการบังคับใช้กฎหมายจราจรเกี่ยวกับการจอดรถทั้ง 2 ข้างทางเคร่งครัด และต้องมีการจับกุมผู้ฝ่าฝืนอย่างเด็ดขาด เนื่องจากที่ผ่านมามีรถขนส่งสินค้าของบริษัทภายนอกเข้ามาจอดริมถนนภายในจำนวนมาก เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาการแออัดภายในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น”

นอกจากนี้ ผู้ว่าฯร.ฟ.ท. ระบุอีกว่าร.ฟ.ท.ยังได้รายงานให้ทราบถึงแผนปรับการบริหารจัดการจราจรและการดูแลจุดเข้า-ออกตามประตูต่าง ๆ ภายใน ICD ลาดกระบังใหม่ ซึ่งแต่เดิมรถขนส่งสินค้าจะเข้า-ออกได้ทุกทางและผู้ประกอบการสถานี ICD ลาดกระบังมีผู้บริหารเอกชนหลายรายดูแลประตูเข้าออก แต่นับตั้งแต่สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2559 เป็นต้นไป การรถไฟฯ ได้มีการปรับปรุงการบริหารให้เหลือ ผู้ประกอบการสถานี ICDลาดกระบังเพียง 1 ราย เพื่ออำนวยความสะดวกในการบริหารจุดเข้าออกให้เกิดการเชื่อมโยงและเป็นแนวทางเดียวกัน

 

ย้ำ แนวทางแก้ปัญหามาถูกทางแล้ว

อย่างไรก็ดี ผู้ว่าฯร.ฟ.ท. สะท้อนแนวทางการแก้ปัญหาว่า การรถไฟฯ ยังได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาการจราจรภายในพื้นที่ อาทิ การติดตามการแก้ปัญหาการจัดทำวงเวียนเพื่อให้รถขนส่งสินค้ามีจุดหมุนเวียนเข้าพื้นที่เพิ่มขึ้น เพราะจากเดิมรถขนส่งสินค้าจะต้องเลี้ยวสะพานเข้าพื้นที่ทันที แต่ล่าสุดให้มีการขยับจุดวงเวียนจากที่เดิมไปอีกประมาณ 100 เมตร เพื่อให้มีพื้นที่หมุนเวียนรถมากขึ้น ตลอดจนได้ร่วมมือกับกรมทางหลวงในการปรับพื้นที่ผิวจราจรที่ชำรุดเสียหายให้สามารถกลับมาใช้การได้เป็นอย่างดี รวมทั้งนำแท่งแบริเออร์มากั้นเป็นแนวเขต เพื่อให้ผู้ขับขี่ยวดยานพาหนะสามารถใช้งานได้สะดวกและป้องกันปัญหาการไม่เคารพกฎจราจร

ที่ผ่านมาการรถไฟฯ และกระทรวงคมนาคม ได้รับรายงานปัญหาการจราจรในบริเวณพื้นที่โดยรอบบริเวณพื้นที่ ICD ลาดกระบัง จนมีผลให้เกิดความล่าช้าในการขนย้ายสินค้า แต่หลังจากได้เร่งติดตามแก้ไขปัญหาการจราจรอย่างจริงจัง และมีการดำเนินแนวทางแก้ไขต่างๆ หลากหลายแนวทาง เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาจราจรภายในพื้นที่ได้ เป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้า ตู้คอนเทนเนอร์ให้เกิดความคล่องตัว อีกทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และกระทรวงคมนาคม ในอันที่จะเป็นการส่งเสริมให้การขนส่งระบบรางเป็นระบบขนส่งหลักของประเทศในอนาคตอีกด้วย”

 

“จุฑานุช” ชี้ ทุกภาคส่วนต้องบูรณาการความร่วมมือ

ฟากฝั่งคุณจุฑานุช ชุมมานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์ ที เอ็น โลจิสติกส์ จำกัด และอีกหมวกใบหนึ่งในฐานะนายกสมาคมขนส่งสินค้าเพื่อการนำเข้าและส่งออก สะท้อนมุมมองในเรื่องนี้ว่าการใช้บริการพื้นที่ ICD ลาดกระบังของผู้ประกอบการเพื่อการขนส่งสินค้านำเข้า-ส่งออกในเวลานี้ ต้องเผชิญกับปัญหาจราจรติดขัดทั้งภายในและรอบนอก ICD ลาดกระบัง ซึ่งเป็นปัญหาก่อนเกิดมาหน้านี้นานแล้ว  และยิ่งเป็นปัญหาหนักขึ้นทุกวัน ส่งผลให้ดำเนินธุรกิจขนส่งตู้สินค้า การเคลื่อนย้ายตู้สินค้าเป็นไปอย่างลำบากและล่าช้า

“ต้องยอมรับควาจริงว่ามการจราจรภายใน ICD ลาดกระบังติดขัดมาก บางครั้งต้องใช้เวลานานกว่า 8-16 ชั่วโมงต่อตู้สินค้า 1 ตู้ สาเหตุก็เพราะว่า ICD ลากกระบังแห่งนี้ได้ถุกออกแบบให้มีศักยภาพและมีขีดความสามารถรองรับปริมาณตู้ตอนเทนเนอร์ไว้ประมาณ 4-6 แสนทีอียูเท่านั้น ปัจจุบันปริมาณตู้สินค้าพุ่งทะยานเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 ล้านเข้าไปแล้ว และยิ่งนับวันยิ่งเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องเร่งแก้ปัญหาโดยด่วน ไม่เช่นนั้นจะยิ่งสร้างความลำบากกับผู้ประกอบการในการทำธุรกิจ”

นอกจากนี้ กล่าวเพิ่มเติมว่าหากจะให้สรุปสรุปดังกล่าวมาจากอะไรบ้าง อย่างแรกเลยเป็นเรื่องของการบริหารจัดการจราจรภายในยังขาดบุคลากรในการกำกับดูแล ทำให้มีผู้ประกอบการบางรายทำพื้นที่จอดรถใกล้กับพื้นที่พักรถตู้คอนเทนเนอร์ เป็นเหตุทำให้พื้นที่จอดรถภายในไม่สามารถจอดได้ ต้องไปหาที่จอดริมถนนบ้าง หน้าถนนบ้าง

“ปัญหาต่อไปเกิดจากการเพิ่มขึ้นของตู้สินค้าที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่เหลือพื้นที่สำหรับรองรับแล้ว สุดท้ายเป็นการซ้ำซ้อนของหน่วยงานที่รับผิดชอบทั้งภายในและภายนอก ICD ลาดกระบัง ไม่ว่าจะเป็นการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.)กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม การดูแลจราจรขึ้นตรงกับกองตำรวจรถไฟ สน.รถไฟมักกะสัน การปรับปรุงผิวจราจรขึ้นตรงกับกรมทางหลวง ส่วนการปรับปรุงพื้นที่ถนนขึ้นตรงกับสน.ร่มเกล้า สน.ฉลองกรุง และถนนมอเตอร์เวย์ขึ้นตรงกับตำรวจทางหลวง ทำให้การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นสำเร็จลุล่วงได้ยาก

ส่วนมุมมองต่อการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดนั้น คุณจุฑานุช กล่าวว่าผู้ประกอบการได้ร่วมตัวกันและผนึกความร่วมมือเพื่อหาทางแก้ไขปัญหากับภาครัฐ ซึ่งการแก้ปัญหาระยะเร่งด่วนนั้น เราก็ขอความร่วมมือจาก

ตำรวจรถไฟในการแก้ปัญหาจราจร ซึ่งทางตำรวยรถไฟได้ทำการเคลียร์พื้นที่และจับปรับผู้ใช้พื้นที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และเรายังได้ยื่นเรื่องไปถึงการการรถไฟฯ โดยทางผู้ว่าฯร.ฟ.ท.ก็ได้กำหนดแผนงานการจราจรใหม่ ออกแบบเขียนแผนการเดินรถใหม่ในพื้นที่บริเวณ ICD ลาดกระบัง ซึ่งนั่นน่าจะเป็นแนวทางการแก้ไขที่ดีต่อการแก้ไขปัญหาโดยรวม ส่วนระยะยาวคงต้องให้ภาครัฐเร่งหาผู้เชี่ยวชาญทำการวิจัยเพื่อเป็นแนวทางแก้ไขอย่างยั่งยืนต่อไป

ทั้งหลายทั้งปวงของปมปัญหาสุดคลาดสิคในการแก้ไขปัญหาการจราจรภายใน ICD ลาดกระบังนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องบูรณาการความร่วมมือ ปัญหาถึงเกิดเป็นมรรคเป็นผลและถูกปลดล็อคได้ หากต่างคนต่างแก้ต่างต่างคนต่างเดินก็ยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาให้หนักและเรื้อรังไปกว่าเดิม

ยิ่ง ICD ลาดกระบังมีหลายหน่วยงานร่วมเอี่ยวด้วยแล้ว อาจถูกสังคมมองว่ายิ่งแก้ก็ยิ่งเละ ยิ่งแก้ก็ยิ่งเข้าทำนอง “แก้ผ้าเอาหน้ารอด”ไปวันๆ และดูเหมือนจะไม่ต่างอะไรกับ “ลิงแก้แห”

….จริงหรือไม่จริงถามใจท่านดู!!!