รฟม.จ่องานเข้าอีก หลังดั้นเมฆรื้อเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ไม่ยี่หระคำสั่งศาล องค์กรสื่อมวลชนออกโรงยื่น ป.ป.ช.-คตง. สอบสวนหาไอ้โม่งชักใยอยู่เบื้องหลัง-เอื้อประโยชน์ใครหรือไม่
เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 นายคฑาภณ สนธิจิตร นายกสมาคมผู้สื่อข่าวและสื่อมวลชน (ประเทศไทย) และรองประธานเครือข่ายสื่อมวลชนต่อต้านทุจริตแห่งชาติ (ส.ท.ช.) ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขอให้ตรวจสอบเอาผิด ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกเอกชนเข้าลงทุนโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม (คณะกรรมการตามมาตรา 36) เนื่องจากมีพฤติการณ์ที่ไม่โปร่งใส เอื้อประโยชน์แก่บริษัทเอกชนบางรายหรือไม่
นายคฑาภณ ระบุว่า จากการติดตามและตรวจสอบเส้นทางการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กม. วงเงินลงทุน 142,789 ล้านบาท) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ที่ออกประกาศเชิญชวนเอกชนให้เข้าร่วมลงทุนในโครงการนี้ ตั้งแต่ วันที่ 3 กรกฎาคม 2563 โดยมีกำหนดยื่นซองข้อเสนอใน วันที่ 23 กันยายน 2563 พบว่า หลังปิดขายซองประมูลไปร่วม 2 เดือน ฝ่ายบริหาร รฟม. และคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือก ที่มี นายกิตติกร ตันเปาว์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ รฟม. และรักษาการรองผู้ว่าการ รฟม.(วิศวกรรมและก่อสร้าง) เป็นประธาน กลับมีการพิจารณาเห็นชอบ ให้ปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอการร่วมลงทุนโครงการดังกล่าว จากรูปแบบเดิม ที่จะพิจารณาซองข้อเสนอด้านการเงิน และผลตอบแทนการลงทุนจากบริษัทเอกชนที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคแล้วเท่านั้น ซึ่งเป็นเกณฑ์ปกติสำหรับการประมูลโครงการลงทุนรัฐ/ร่วมลงทุนของรัฐโดยทั่วไป มาเป็นการพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิค ควบคู่กับด้านราคา(สัดส่วน 30:70) โดยอ้างว่า มีบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมประมูลร้อง และคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกฯ (คณะกรรมกาตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุน ระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562) เสียงส่วนใหญ่ให้ความเห็นชอบแล้ว พร้อมมีมติให้ขยายระยะเวลาในการยื่นข้อเสนอออกไป 45 วัน เป็นวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563
อย่างไรก็ตาม การพิจารณาปรับปรุงเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกในโครงการดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์จากหลายภาคส่วนที่เห็นว่า ไม่มีความโปร่งใส และส่อไปในทางทุจริต โดยองค์การต่อต้านการคอร์รัปชัน(ประเทศไทย) หรือ ACT รวมทั้งบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BTS ที่เข้าประมูล ซึ่งได้แสดงจุดยืน คัดค้านการปรับปรุงเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกดังกล่าว เพราะ เป็นการดำเนินการภายหลังจากที่ รฟม. ได้ปิดขายซองประมูลไปแล้วนับเดือน ทั้งยังถือเป็นการดำเนินการที่ขัดกฎหมาย และเป็นการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ตัดสิน ไปจากที่ คณะรัฐมนตรี (ครม) ให้ความเห็นชอบไว้ จึงได้ยื่นหนังสือเปิดผนึกถึง ประธานคณะกรรมการตามมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนฯ และ กระทรวงคมนาคม เพื่อคัดค้านการปรับปรุงเกณฑ์การประมูลดังกล่าว พร้อมยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับใช้เกณฑ์ดังกล่าว เพราะเห็นว่า ไม่โปร่งใส และไม่มีความเป็นธรรม ส่อเอื้อผลประโยชน์แก่บริษัทเอกชนบางราย
ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตต่อการปรับปรุงเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกในครั้งนี้ ที่ส่อไปในทางทุจริต เอื้อประโยชน์ต่อบริษัทเอกชนบางราย เพราะในการประมูลพิจารณาคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีอื่นๆ ของ รฟม.เอง หรือแม้กระทั่งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ที่มีความซับซ้อนและต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงกว่ารถไฟฟ้า สายสีต่างๆ ของรฟม.หลายเท่าตัว ก็ยังไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเอกชนสุดพิสดาร เช่นที่ รฟม. และคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกดำเนินการกับโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้มนี้ แม้แต่การพิจารณาคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้า สายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย (หัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ) ที่ต้องก่อสร้างเป็นระบบใต้ดิน และก่อสร้างอุโมงค์ลอดใต้แม้น้ำเจ้าพระยา เช่นเดียวกับโครงการนี้ รฟม. ก็ยังไม่เคยมีการกำหนดเงื่อนไขสุดพิสดารเช่นที่กำลังดำเนินการอยู่นี้
ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 63 ศาลปกครองกลาง ได้มีคำสั่งให้ รฟม. และคณะกรรมการตามมาตรา 36 ทุเลาการบังคับใช้เกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกใหม่ไว้ จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอื่น โดยให้กลับไปใช้หลักเกณฑ์เดิม ในการประมูลโครงการ แต่ผู้ว่าการ รฟม. และคณะกรรมการตามมารตารา 36 ยังคงยืนกรานที่จะเดินหน้าอุทธรณ์คำสั่งศาลเพื่อขอใช้เกณฑ์ปรับปรุงการประเมินเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าวใหม่ อันเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่า ยังคงมีความพยายามที่จะใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเพื่อหวังเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทเอกชนบางรายอย่างชัดเจน โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้น
ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมผู้สื่อข่าวและสื่อมวลชน(ประเทศไทย) จึงได้ยื่นหนังสือต่อ ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบเอาผิดกับคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกฯ (คณะกรรมการตามมาตรา 36) และผู้ว่าการ รฟม. รวมทั้งบุคคลที่เกี่ยวข้องการการดำเนินโครงการนี้ ว่ามีพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางทุจริตหรือไม่ เอื้อประโยชน์ต่อบริษัทเอกชนบางรายหรือไม่ พร้อมกันนี้ ทางสมาคมฯ ยังจะเดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อประธานคณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) เพื่อให้ คตง. ได้เข้ามาตรวจสอบการทุจริตในโครงการดังกล่าอีกด้วย เพื่อจรรโลงไว้ซึ่งความโปร่งใสในการดำเนินโครงการรัฐต่อไป