กินเจ ซ้ำกลไกตลาดถูกตรึง เติมทุกข์เกษตรกรเลี้ยงหมู

0
152

คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรเดือนตุลาคม 2563 ของศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. ระบุว่าราคาหมูมีชีวิตอยู่ที่ 76.12 – 76.86 บาทต่อกิโลกรัม ลดลงจากเดือนกันยายน 1.28 – 2.23% เนื่องจากเข้าสู่เทศกาลกินเจ ที่จะเริ่มต้นขึ้นในอีก 1 สัปดาห์ข้างหน้า ระหว่างวันที่ 17 – 25 ตุลาคม ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งงดบริโภคเนื้อสัตว์ ส่งผลให้ความต้องการบริโภคเนื้อหมูลดลง

เรื่องนี้ถือเป็นปัจจัยที่เข้ามาซ้ำเติมปัญหาของเกษตรกรคนเลี้ยงหมู จากภาวะที่ต้องถูกกดราคาหมูหน้าฟาร์มให้ขายได้ไม่เกินกิโลกรัมละ 80 บาท

ทั้งๆ ที่เกษตรกรต้องเผชิญหน้าอยู่กับการป้องกันโรคสำคัญในหมูอย่างโรคเพิร์ส (PRRS) ที่กำลังพบการระบาดในเวลานี้ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ทำให้หมูทั้ง 8 จังหวัด ต้องถูกทำลายไปเป็นจำนวนมาก

เกษตรกรที่ถือว่าได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้อย่างเห็นได้ชัด คือ กลุ่มผู้เลี้ยงหมูรายย่อย สมาชิกสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรเชียงใหม่-ลำพูน ที่มีจำนวนรวมกันถึง 90 ราย ปัจจุบันเหลือสมาชิกที่ยังเลี้ยงหมูอยู่เพียง 20 รายเท่านั้น ส่วนอีก 70 ราย จำต้องหยุดเลี้ยงหมู เพราะปัญหาโรคเพิร์ส ทั้งในส่วนของฟาร์มที่เกิดโรค และฟาร์มรอบข้างในเขตพื้นที่การแพร่ระบาดของโรคในรัศมี 1-5 กิโลเมตร ที่จำเป็นต้องมีการทำลายหมู ตามความรุนแรงของการระบาด ซึ่งเป็นมาตรการตามปกติของปศุสัตว์ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคและตีกรอบความเสี่ยงให้อยู่ในวงจำกัด

อย่างไรก็ตาม จากค่าชดเชยที่ปศุสัตว์ให้กับเกษตรกรในกรณีที่ต้องมีการทำลายหมูที่สัดส่วน 75% ของมูลค่าหมู จึงไม่จูงใจเกษตรกรให้ร่วมสนับสนุนมาตรการป้องกันโรคของรัฐ ทำให้ภาวะโรคนี้ยังคงเกิดขึ้นและเป็นปัญหาจนถึงปัจจุบัน

ขณะที่เกษตรกรเลี้ยงหมูที่พ้นปากเหวกับวิกฤตินี้มาได้ แม้ยังไม่พบโรคในฟาร์มหรือพื้นที่เลี้ยงของตนเองก็ตาม แต่ก็ต้องร้อนๆหนาวๆวิตกว่าจะผ่านพ้นไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ จึงเลือกที่จะไม่เสี่ยงกับเรื่องนี้ โดยตัดสินใจขายหมูออกไปก่อน และจำต้องหยุดเลี้ยงหมูไปก่อนเพื่อรอดูสถานการณ์

สถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในตอนนี้คือ หลายพื้นที่ที่พบการระบาดของโรคเริ่มไม่มีหมูขาย ทั้งจากปัญหาเรื่องโรค รวมถึงมาตรการป้องกันโรคที่เข้มงวด ด้วยการทำลายหมู และการประกาศห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ข้ามเขต ขณะที่การบริโภคยังคงมีต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากการที่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับโรคเพิร์สนี้ว่า เป็นโรคที่เกิดเฉพาะในหมู ไม่ติดต่อสู่คน ผู้บริโภคจึงไม่ต้องกังวล และสามารถบริโภคเนื้อหมูได้ตามปกติและปลอดภัย

แต่วันนี้เกษตรกรยังถูกตรึงราคาหมูหน้าเป็นไม่เกิน 80 บาท บิดเบือนกลไกตลาด ทั้งที่รู้อยู่เต็มอกว่าหมูขาดแคลน และคนเลี้ยงต้องมีภาระค่าใช้จ่ายการป้องกันโรคที่ต้องแบกรับไม่ต่ำกว่าตัวละ 200 บาท เพราะต้องตั้งการ์ดให้สูงกว่าเดิม เพื่อป้องกันทั้งโรคเพิร์ส และโรค ASF ซึ่งเป็นโรคสำคัญที่เกษตรกรต้องร่วมกันป้องกันอย่างเข้มแข็งมาตั้งแต่ปี 2562

การตรึงราคาหมูโดยอ้างเหตุการดูแลปากท้องผู้บริโภคของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นนี้ คงจะลืมไปแล้วว่าเกษตรกรก็เป็นผู้บริโภคคนหนึ่งเช่นกัน

ถ้าปัญหาเกินเยียวยา ภาระหนักเกินจะแบก แถมยังขายหมูได้ราคาไม่คุ้มทุนแบบนี้ เกษตรกรคงมีอันต้องม้วนเสื่อเลิกอาชีพไป แล้วคนที่ต้องรับกรรมก็หนีไม่พ้นผู้บริโภค ที่เมื่อถึงเวลานั้นแม้จะอยากซื่อหมูมาบริโภคแค่ไหน ก็คงไม่มีหมูให้ต้องซื้อ เพราะคนเลี้ยงหมูล้มหายตายจากไปจนหมด

ปัญหานี้แก้ง่าย เพียงเข้าใจกลไกตลาด และปล่อยให้อุปสงค์-อุปทานได้ทำงานอย่างเสรี เพียงเท่านี้ก็มีทางออกให้กับเกษตรกรแล้ว

บทความโดย อุษณีย์ รักษ์กสิกิจ