นวัตกรรมจุฬาฯ พัฒนาต้นแบบหน้ากาก N95

0
403

สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 (COVID-19) ที่แพร่กระจายไปทั่วทุกมุมโลกและทวีความรุนแรงอย่างมากในหลากหลายประเทศ อีกทั้งความสามารถในการติดต่อของโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่สามารถแพร่กระจายทางอากาศและสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้โดยตรง ส่งผลให้ประชากรทั่วโลกมีความตื่นตัวต่อการป้องกันตนเองต่อการติดเชื้อ เช่น การรักษาระยะห่าง (Social Distancing) การทำงานที่บ้าน (Work from home) การล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ หรือ การสวมใส่หน้ากากอนามัยทั้งแบบหน้ากากผ้า หน้ากากอนามัย (Surgical mask) และหน้ากากอนามัย N95 เป็นต้น จากการตื่นตัวเหล่านี้ ทำให้แอลกอฮอล์และหน้ากากอนามัยเกิดการขาดแคลนไม่เพียงพอต่อความต้องการและการใช้งานของประชาชนทั่วไปและบุคลากรทางการแพทย์

หน้ากากอนามัย N95 ถือเป็นหน้ากากที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อก่อโรคต่างๆ ในอากาศได้ดีกว่าและราคาต่อชิ้นค่อนข้างสูงกว่าหน้ากากประเภทอื่น การขาดแคลนของหน้ากากอนามัยและหน้ากากอนามัย N95 ในช่วงที่มีการระบาดอย่างมากในช่วงที่ผ่านมานั้น ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์เป็นอย่างมาก เนื่องจากบุคลากรทางการแพทย์ เป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูงในการรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 ดังนั้น การผลิตหน้ากากอนามัย N95 ให้เพียงพอต่อความต้องการและการใช้งานในประเทศไทยมีความสำคัญอย่างมาก เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์รวมถึงประชาชนทั่วไปก็สามารถเข้าถึงหน้ากากอนามัย N95 ได้

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย ศ.นพ.สมรัตน์ จารุลักษณานันท์ และ นพ.มาร์วิน เทพโสพรรณ ภาควิชาวิสัญญีวิทยา ผศ.ดร.นพ.อมรพันธุ์ เสรีมาศพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมทางการแพทย์ และ อาจารย์ประจำภาควิชากายวิภาคศาสตร์ ร่วมกับ รศ.ดร.บุญรัตน์ โล่วงศ์วัฒน ภาควิชาวิศวกรรมโลหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร.รัฐพล รังกุพันธุ์ สถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นายชานนทร์ เนียมก้องกิจ และ นายรัฐฐา วัธนะชัย กลุ่มบริษัท KIJ Marketing จำกัด ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์จากผ้าใยสังเคราะห์แบบ non-woven ได้ร่วมกันพัฒนาหน้ากากอนามัย N95 (N95 Respirator) ขึ้น เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการสำหรับทางการแพทย์และสำหรับใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน โดยหน้ากากอนามัย N95 ที่พัฒนาขึ้นนี้ เป็นหน้ากากอนามัย N95 ชนิดขึ้นรูปที่มีการปรับปรุงเทคนิคการผลิตเพื่อเพิ่มคุณสมบัติการสะท้อนน้ำ และเพิ่มความสามารถในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียบนพื้นผิวของหน้ากากอนามัย N95 อีกทั้งตัวหน้ากากถูกออกแบบให้ผู้สวมใส่หายใจได้สะดวกขึ้นและพื้นผิวสัมผัสของหน้ากากช่วยลดการระคายเคืองต่อผิวหน้า

ผลิตภัณฑ์ต้นแบบหน้ากากอนามัย N95 ที่พัฒนาขึ้น ได้ผ่านการทดสอบการรับรองมาตรฐานของหน้ากากอนามัยเบื้องต้นแล้ว ได้แก่ ประสิทธิภาพการกรองอนุภาคขนาดเล็ก จากสถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประสิทธิภาพการกรองเชื้อแบคทีเรีย จากภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การทดสอบการแนบสนิทของหน้ากากกับใบหน้า (Fit test) จากหน่วยควบคุมและป้องกันการติดเชื้อ ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย การผ่านได้ของอากาศ และการกระจายของเปลวไฟ จากสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ อย่างไรก็ตาม หน้ากากอนามัย N95 นี้ ยังคงพัฒนาต่อยอดเพื่อให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตนเองในการผลิตหน้ากากอนามัย N95 ให้มีคุณสมบัติที่ดีในราคาที่เหมาะสม ลดปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัย N95 ในระยะยาว ทั้งยังเป็นการลดการนำเข้าหน้ากากอนามัยจากต่างประเทศ สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์นวัตกรรมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทร. 02-6494000 ต่อ 3686 E-mail: cmic.chula@gmail.com