กลายเป็น Talk of the town เขย่ากระทรวงหูกวางทันทีหลังเจ้ากระทรวงไอเดียกระฉูกแตกรายวัน “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” ประกาศยืนยันจะเลื่อนเปิดการเดินรถไฟชานเมืองสายสีแดง (ตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต)จากเดิมต้นปี 64 เป็นปี 66 อ้างการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อยังไม่แล้วเสร็จต้องขยายสัญญาให้ผู้รับเหมา เกรงผู้โดยสารจะไม่ปลอดภัยหากเปิดบริการก่อน และต้องรอการเปิดประมูล PPPให้เอกชนมาเดินรถเสียก่อนท่ามกลางข้อสงสัยสังคม “อื้อเอกชน”หรือไม่?
หลังข่าวนี้ถูกตีแผ่ในโลกข่าวที่ไม่มีวันหยุดนิ่งเท่านั้นแหล่ะทัวร์ก็ลงถล่มเดือดในโลกออนไลน์ ณ บัดนาว พลเมืองโซเซียลสาดคอมเม้นต์สนุกปากพลางวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง บ้างก็ว่ารมว.คมนาคมบริหารงานไม่เป็น ไม่เข้าใจหัวอกประชาชนที่รอใช้รถไฟฟ้าสายตำนานเส้นนี้ บ้างก็ว่าไม่เห็นหัวอกประชาชนย่านรังสิตที่ต้องอดทนกับปัญหารถติดมาค่อืนชีวิต แทนที่จะเปิดเดินรถไปก่อน ระหว่างรอ PPP เพื่อไม่ให้ประชาชนเสียโอกาส
ถึงขนาดที่ต้องสนอให้นายกรัฐมนตรีปรับนายศักดิ์สยาม ออกจากคณะรัฐมนตรี และขอนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ อดีตรมว.คมนาคมกลับมาดำรงตำแหน่งแทน เนื่องจากสร้างผลงานไว้มากมาย หลายคนแสดงพลังรวมกลุ่มเพื่อผลักดันขับเคลื่อนให้รัฐบาลเปิดเดินรถทันทีเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ ไม่ควรเสียโอกาสอีกต่อไป
สร้างเสร็จเกือบ 100 รออะไร?
ทั้งนี้ ตามรายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทยถึงภาพรวมการก่อสร้างโครงการระบบรถไฟชานเมือง(สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อมีความคืบหน้า 99% โดยสัญญาที่ 1 งานโยธาสถานีกลางบางซื่อ และศูนย์ซ่อมบำรุง คืบหน้าประมาณ 99% สัญญาที่ 2 งานโยธาทางรถไฟ ช่วงบางซื่อ-รังสิต เสร็จ 100% และสัญญาที่ 3 งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมจัดหาตู้รถไฟ ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน คืบหน้ากว่า 80%
ขณะนี้ขบวนรถจากประเทศญี่ปุ่นเดินทางมาถึงประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันรับขบวนรถแล้ว 13 ขบวน จากทั้งหมด 25 ขบวน ประกอบด้วย 6 ตู้ 7 ขบวน และ 4 ตู้ 6 ขบวน โดยปลายเดือน ก.ค.นี้ จะมาเพิ่มอีก 2 ขบวน ประกอบด้วย 6 ตู้ 1 ขบวน และ 4 ตู้ 1 ขบวน ส่วนที่เหลือคาดจะเดินทางมาครบทั้งหมดภายในปีนี้ อย่างไรก็ตามระหว่างที่รอการเปิดเดินรถอย่างเป็นทางการ จะทดสอบเดินรถต่อเนื่องจนกว่าจะเปิดให้บริการ รวมทั้งเตรียมฝึกอบรมบุคลากร เพื่อให้พร้อมกับการเปิดเดินรถด้วย
เวลานี้เอกชนได้ติดตั้งงานระบบไฟฟ้าบริเวณราง และสถานีเกือบครบทั้งหมดตลอดเส้นทางจากตลิ่งชัน-รังสิตแล้ว โดยในส่วนของสายสีแดง (ตะวันตก) ช่วง ตลิ่งชัน-บางซื่อ ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จเกือบ 10 ปี ยอมรับว่าก่อนที่จะดำเนินการติดตั้งงานระบบไฟฟ้า ต้องตั้งงบประมาณในการซ่อมแซมปรับปรุง “เนื่องจากมีบางพื้นที่เริ่มชำรุดสึกหรอ และบางส่วนปลวกกัดกินแล้ว คาดว่าในเดือน ก.ค.นี้ จะเริ่มทดสอบเดินรถในฝั่งตะวันตกได้ และพร้อมเปิดเดินรถบริการประชาชนก่อน ในระหว่างรอ PPP แต่ทั้งนี้ต้องรอนโยบายผู้บริหารรฟท.และกระทรวงคมนาคม”
ไม่แปลกหรอที่สังคมจะพาสามัคคีต้องข้อสงสัยเมื่องานก่อสร้างแทบจะแล้วเสร็จเกือบ 100 % ขบวนรถในปีนี้ก็จะทยอยถึงไปไทยครบทุกขบวนแล้ว ถามชัดๆว่าทำไมการเลื่อนเปิดไปเป็นปี 66 ?
ทัวร์ลงถล่ม!กลับลำเปิดก่อนปี 66
หลังทนกระแสสังคมค้านได้ไม่กี่วัน เจ้ากระทรวงหูกวาง ก็กลับลำทันควันจากที่ยืนกรานจะเลื่อนเปิดไปเป็นปี 66 มาวันนี้จ้อให้ข่าวกับสื่อเสียงอ่อยจะเปิดเดินก่อนปี 66 อ้างว่าขณะนี้งานโยธาเสร็จเกือบทั้งหมดแล้ว แต่เดิมจะเปิดให้บริการได้ในปี 64 แต่เนื่องจากผู้รับจ้างขอยื่นขยายสัญญาการก่อสร้างออกไปอีกเป็น 1,122 วัน จึงทำงานล่าช้าออกไป
“สัปดาห์หน้าจะประชุมร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางราง(ขร.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เพื่อพิจารณาหาข้อสรุปว่าจะให้ขยายสัญญาหรือไม่ แต่เบื้องต้นได้รับรายงานจากนายสรพงษ์ ไพฑูรย์พงศ์ อธิบดี ขร.ว่าจากการดูกรอบเวลาการขยายสัญญาแล้วน่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ก่อนปี 66
ส่วนการเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) จะทำให้โครงการรถไฟสีแดงไม่เป็นหนี้ และรูปแบบนี้ประชาชนจะต้องได้รับประโยชน์สูงสุด ค่าโดยสารก็ต้องต่ำที่สุด รัฐต้องไม่เสียเปรียบ แต่เอกชนก็ต้องเดินหน้าได้ อย่างไรก็ตามในเรื่อง PPP นั้น ต้องเสนอให้คณะกรรมการ PPP และคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) พิจารณาต่อไป
นายศักดิ์สยาม ยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่มีข้อเคลือบแคลงอะไรปกปิดแน่นอน ไม่ต้องกังวล และไม่เอื้อประโยชน์ให้ใครเพราะใช้หลักธรรมาภิบาลในการทำงาน โปร่งใส มีส่วนร่วม และตรวจสอบได้ ไม่มีการมุมมิบทำ
“ผมอยากเนรมิตให้เปิดใช้ในวันนี้พรุ่งนี้ หากประเมินว่าเปิดเดินรถได้ส่วนไหนก่อนจะเร่งเปิดเดินรถทันทีภายใต้พื้นฐานความปลอดภัยและความสะดวก ส่วนรถที่ซื้อมามีระบบและคู่มือบำรุงรักษาอยู่แล้ว ไม่ได้จอดทิ้งเฉยๆ พอไม่เปิดก็หาว่าจะชะลอ พอเปิดไม่คุ้มก็หาว่าเอาอะไรมาคิด จุดที่เหมาะสมคืออะไรจะประชุมสัปดาห์หน้า พร้อมเหตุผลอธิบายทำให้ดีที่สุด ถามว่าจะเปิดเดินรถก่อนปี 66 ได้หรือไม่ ยืนยันว่าเปิดบริการประชาชนได้ก่อนปี 66 แน่นอน”
PPP ผ่าทางตันเดินรถ ย้ำรฟท.ไม่ต้องแบกหนี้9 หมื่นล้าน
ด้านนายนิรุต มณีพันธ์ ผู้ว่าการรฟท.เปิดเผยว่า โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต ยังเดินหน้าต่อเนื่อง ล่าสุดที่ประชุมบอร์ด รฟท. มีมติเห็นชอบให้ผู้รับจ้างสัญญาที่ 3 งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมจัดหาตู้รถไฟ ขยายสัญญาจากเดิมสิ้นสุดเดือน มิ.ย.63 ออกไปอีก 87 วัน หรือประมาณเดือน ก.ย.63 เพราะติดปัญหาการจ่ายไฟฟ้า
ถึงกระนั้นคณะทำงานของกระทรวงคมนาคม กำลังช่วยพิจารณาเรื่องการขอขยายสัญญาว่าควรจะเหมาะสมที่กี่วัน เพราะหากให้ผู้รับจ้างสัญญาที่ 3 ขยายได้ประมาณ 500 วันตามที่เสนอ อายุสัญญาจะจบลงประมาณเดือน ต.ค.64
สำหรับเรื่องการเดินรถบอร์ด รฟท. มีมติเห็นชอบให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) เพราะผลการศึกษาระบุชัดเจนว่า การ PPP จะเกิดประโยชน์และเป็นผลดีต่อทั้งประชาชน, รฟท. และประเทศชาติโดยรวม อาทิ รฟท. ไม่ต้องแบกหนี้สิน 9 หมื่นล้าน และลดความเสี่ยงในการบริหารการเดินรถด้วย เป็นต้น
อย่างไรก็ตามเมื่อการก่อสร้าง รวมถึงวางระบบต่างๆ แล้วเสร็จ และพร้อมที่จะเดินรถ ก็ต้องเปิดเดินรถทันที โดยจะให้บริษัทลูกของ รฟท. เป็นผู้เดินรถไปก่อนคู่ขนานไปกับขั้นตอนการทำ PPP หาเอกชนมาเดินรถ.
2 สหภาพรถไฟฯ โดนร่วมค้าน PPP ขอรัฐเดินเอง
ขณะที่นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) เปิดเผยว่า สร.รฟท. และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท รถไฟฟ้า รฟท.จำกัด (สร.รฟฟท.) ไม่ต่ำกว่า 100 คน จะเดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ที่กระทรวงคมนาคม เพื่อคัดค้านนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ(PPP)ในการบริหารจัดการเดินรถโครงการระบบรถไฟชานเมือง(สายสีแดง) พร้อมทั้งยืนยันว่า รฟท. มีความพร้อมและมีความสามารถในการบริหารจัดการเดินรถไม่แพ้เอกชน ซึ่งเวลานี้ทุกอย่างอยู่ระหว่างการเตรียมพร้อมโดยเฉพาะบุคลากร
อีกทั้งจะสอบถามถึงนโยบายการให้เลื่อนเปิดเดินรถไฟสายสีแดงจากประมาณปี 64 เป็นปี 66 ด้วย เพราะขณะนี้ภาพรวมการก่อสร้างโครงการระบบรถไฟชานเมือง(สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อคืบหน้ากว่า 99% ขณะที่ขบวนรถก็ทยอยเดินทางมาถึงเมืองไทยแล้ว จึงไม่เข้าใจว่าเหตุใดต้องเลื่อนออกไป นอกจากจะทำให้ รฟท. เสียประโยชน์ สูญเสียรายได้แล้ว ยังทำให้ประชาชนเสียโอกาสในการได้ใช้บริการรถไฟฟ้าสีแดง และต้องทนต่อไปกับการเดินทางเข้าเมืองบนถนนวิภาวดีรังสิตที่สภาพการจราจรค่อนข้างติดขัดด้วย
“ยืนยันรฟท.ต้องเดินรถเอง ส่วนพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีรถไฟสีแดงตลอดสาย และสถานีกลางบางซื่อจะเป็นรูปแบบ PPP ก็ไม่ได้ขัดข้อง แม้ผลการศึกษาการ PPP ทำให้ รฟท. ไม่ต้องแบกหนี้สินอีก 9 หมื่นล้าน แต่สหภาพฯ มองว่าถ้าการเป็นหนี้สิน แต่เกิดประโยชน์กับประชาชน รัฐก็ควรต้องลงทุน เชื่อว่ายังสามารถนำไปหาผลประโยชน์ด้านอื่นๆ ทดแทนได้ ขณะนี้รัฐลงทุนโครงการไปทั้งหมดแล้ว ทั้งการก่อสร้าง และขบวนรถ มีคำถามว่าทำไมรัฐไม่คิดจะเก็บรถไฟสายสีแดงไว้เดินรถเองบ้าง”
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ท่านรัฐมนตรีผู้พกความมั่นใจไว้เต็มกระบุง จะถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์แรงจนต้องติดคิสเบรก ABS ดังเอี๊ยดและใส่เกียร์ถอยไม่เป็นท่า หากจำกันไม่ได้ก็ไอเดียบังคับรถยนต์ส่วนตัวต้อง GPS ทุกคันไงล่ะ จริงหรือไม่?ท่านรมต.