จากแรงโน้มถ่วงผลกระทบภาวะวิกฤติโควิด-19 ธนาคารโลก (World Bank) ได้คาดการณ์ปี 63 เศรษฐกิจโลกจะหดตัว 5.2% ต่ำสุดในรอบเกือบ 100 ปีนับตั้งแต่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) ในช่วงทศวรรษ 1930 ขณะที่การค้าโลกจะหดตัว 13.4% เป็นการหดตัวรุนแรงเกินเลข 2 หลัก (-10% ขึ้นไป) ครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดวิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2552
ขณะที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สคช.)หรือสภาพัฒน์ คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีนี้จะติดลบ 5-6 % จากการลดลงอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก การลดลงรุนแรงของจำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ส่วนส่งออกคาดติดลบ 8 % การบริโภคเอกชนติดลบ 1.7% การลงทุนเอกชนติดลบ 2.1%
ด้านสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สภาผู้ส่งออก) หรือ สรท.โดยนางกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสรท.สะท้อนมุมมองต่อภาคส่งออกไทยปี 63 ท่ามกลางภาวะวิกฤติโควิด-19 ว่า สรท.คาดการณ์ส่งออกไทยปีนี้อาจหาดตัว 8% เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบเศรษฐกิจไตรมาสแรกของประเทศคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ จีน และสหภาพยุโรป (อียู) ติดลบค่อนข้างมาก อีกทั้งอียูและสหรัฐฯตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังคงเพิ่มขึ้นสูง ฉุดการส่งออกของไทยในช่วง 9 เดือนที่เหลือปีนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้
“หากไทยสามารถเปิดการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านได้ สถานการณ์การส่งออกจะกลับมาดีขึ้นได้บ้าง ส่วนสงครามการค้าระลอก 2 มองว่ามีโอกาสที่จะเกิดขึ้น เพราะสหรัฐฯจะมีการเลือกตั้งเดือนพ.ย.63 หรืออีก 6 เดือนข้างหน้าประธานาบิดีโดนัลด์ ทรัมป์ คนปัจจุบันต้องการที่จะกลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้งจึงต้องดำเนินการที่มองได้ว่าเป็นการรักษาผลประโยชน์ของสหรัฐ ขณะที่วันนี้ประเทศจีนฟื้นตัวเร็วกว่าสหรัฐจะต้องหาทางลดการขาดดุลการค้า”
3 กลุ่มส่งออกทรุด-ฟื้นตัวแบกราฟตัว V,U,L
ประธานสรท.ระบอีกว่าสรท.ต้องการเห็นเงินบาทอยู่ในระดับ 34 บาท ขณะนี้กังวลความผันผวนการแข็งค่าของเงินบาท จึงขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ช่วยดูให้เงินบาทอยู่ในระดับที่ผู้ส่งออกสามารถส่งออกสินค้าได้สะดวกขึ้น ด้านราคาน้ำมันลดลงช่วยลดต้นทุนภาคอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันไม่เกิดประโยชน์สินค้าบางรายการอิงราคาตามภาวะน้ำมันโลก แต่เป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้เป็นปัจจัยจากต่างประเทศที่ส่งผลกระทบความไม่แน่นอนต่อการส่งออกได้
“สรท.มองว่าการส่งออกของไทยในช่วง 9 เดือนที่เหลือปีนี้ระดับการฟื้นตัวของการส่งออกแบ่งได้ 3 กลุ่มคือ กลุ่มฟื้นตัวรวดเร็วหรือลักษณะทรุดตัวลงเร็วและฟื้นตัวรวดเร็วแบบกราฟตัว “V” ฟื้นตัวได้ในช่วงไตรมาสที่ 2-3 เพราะยังมีความต้องการสินค้าต้องการ ขณะที่สินค้าบางรายการฟื้นตัวช้าเป็นกลุ่มลักษณะรูปกราฟ ตัว “U” จะฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ถึงปีหน้า ท่ามกลางการผลิตในไทยต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้ง ขณะที่บางกลุ่มตัวฟื้นตัวช้า ลักษณะกราฟแบบตัว ” L” การฟื้นตัวจะเกิดขึ้นต้องข้ามไปในช่วงไตรมาส 2 ปีหน้า จึงต้องการเห็นมาตรการจากภาครัฐเข้ามาดูแลช่วยภาคอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมส่งออก และควรทำต่อเนื่อง”
4 ปัจจัยเสี่ยงฉุดส่งออกไทยปี 63
เมื่อถามว่าอะไรคือปัจจัยเสี่ยงที่เป็อุปสรรคต่อการส่งออกไทยปี 63 ประธานสรท.สะท้อนมุมมองว่าอย่างแรกคือความไม่แน่นอนของการระบาดโควิด-19 ระยะต่อไป ทำให้หลายประเทศยังคงมาตรการล็อกดาวน์อย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และอาจส่งผลให้ความต้องการสินค้าของตลาดโลกลดลง โดยเฉพาะสินค้าคงทน และสินค้าอุตสาหกรรม
ต่อมาปัญหาค่าเงินบาทที่เริ่มมีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าขึ้นตลอดเดือนพ.ค. เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในไทยมีการจัดการที่ดีกว่าหลายประเทศ ทำให้ถูกมองว่าเป็น Safe Heaven อีกครั้ง ประกอบกับตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ต่ำกว่าคาดการณ์ กลายเป็นปัจจัยกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง อาจส่งผลกระทบกับความเปราะบางของเศรษฐกิจ และซ้ำเติมผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา
อุปสรรคต่อมาคือราคาน้ำมันที่เริ่มกลับมาสู่ขาขึ้นได้อีกครั้ง หลังจากสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ในหลายประเทศเริ่มคลี่คลาย และมีการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันดิบเริ่มกลับมาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีแรงหนุนจากข้อตกลงของกลุ่มโอเปก และพันธมิตร เพื่อปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลง 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งอาจส่งผลต่อต้นทุนของผู้ประกอบการส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้น
สุดท้ายคือความขัดแย้งที่เริ่มกลับมาปะทุอีกครั้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน จากการที่สหรัฐอเมริกากล่าวหาว่าจีนเป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาด และมีแนวโน้มที่จะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศจีน รวมถึงการเพิกถอนการจดทะเบียนของบริษัทสัญชาติจีนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ และการกดดันจีนผ่านการสนับสนุนผู้ประท้วงในฮ่องกง ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจทั่วโลกได้
6 ข้อเสนอแนะรักษาเสถียรภาพส่งออกไทยปี 63
อย่างไรก็ดี ประธานสรท.แนะ 6 ข้อเสนอถึงภาครัฐต่อการรักษาเสถียรการส่งออกไทยว่าอย่างแรกขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้แข็งค่ากว่า 34 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ต่อมาเป็นการเร่งใช้งบประมาณภาครัฐเพื่อลงทุนสร้างความยั่งยืนให้กับระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการปรับตัวไปสู่ Digital Disruption ของภาครัฐ
สามคือช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยเข้าร่วมเจรจา CPTPP เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้กับระบบเศรษฐกิจ โดยสงวนสิทธิ์ให้สามารถถอนตัว หากทราบรายละเอียดเงื่อนไข หรือไม่สามารถเจรจาให้เกิดประโยชน์ในภาพรวมของประเทศ สี่พิจารณาการค้าในรูปแบบ Trade to Localization มุ่งเน้นไปที่ประเทศเพื่อนบ้านใน Asean and CLMV (CLMV is our home market) เนื่องจากเป็นตลาดที่ใกล้ชิด และสามารถขนส่งข้ามแดนได้โดยง่าย
ห้าคือขอให้ภาครัฐพิจารณาส่งเสริมรายอุตสาหกรรมที่มี Potential ที่เกี่ยวเนื่องในช่วงสถานการณ์ดังกล่าว เพื่อกระตุ้นปริมาณการส่งออก อาทิ สินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ยาง (ในกลุ่มเวชภัณฑ์ทางการแพทย์) กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก และหากเสนอให้ศูนย์บริหารสถานการ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พิจารณาปลดล็อกธุรกิจทั้งด้านการค้า และบริการในภาคส่วนต่าง ๆ เพิ่มเติม ภายใต้การติดตามควบคุมอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินกิจกรรมได้คล่องตัวมากขึ้น