ทันทีที่มีหนังสือคำสั่งด่วนที่สุด ลงนามโดยรมว.คมนาคม “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ”ส่งไปยัง 2 รมช.คมนาคม “อธิรัฐ รัตนเศรษฐ-ถาวร เสนเนียม” พร้อมแนบสำเนาคำสั่ง เรื่อง มอบอำนาจให้ 2 รมช.คมนาคม กำกับดูแลและปฏิบัติราชการแทน รมว.คมนาคม
คำสั่งใหม่ป้ายแดงนี้ได้สร้างความเคลือบแคลงสงสัย และมีการวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ผู้บริหารและข้าราชการของกระทรวงฯอย่างมาก ทั้งที่เมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งรมว.คมนาคมตอนแรกยังมอบอำนาจให้ รมช.สามารถกำกับดูแลและสั่งการได้แม้ต้องผ่านนายศักดิ์สยามก่อนก็ตาม
แต่ทว่า คำสั่งฉบับล่าสุดนี้นอกจากจะไม่ให้กำกับดูแลแบบเบ็ดเสร็จแล้ว ยังไม่สามารถสั่งการอะไรได้เลย ดูเหมือนว่าจะมีบทบาทแค่กำกับดูแล แต่ไม่สามารถสั่งการได้และห้ามยุ่งเกี่ยวสั่งการในส่วนงานบริหารบุคคลการอนุมัติงบประมาณ, การอนุมัติ, การอนุญาต, การออกใบอนุญาตใดๆ ที่เป็นอำนาจของ รมว.คมนาคม ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมมีหน่วยงานในกำกับดูแลเหลือ 20 หน่วยงาน มอบให้นายอธิรัฐกำกับดูแล 2 หน่วยงานเหมือนเดิม ขณะที่นายถาวร ลดเหลือ 4 หน่วยงาน จาก 7 หน่วยงาน
อีกทั้งยังถือเป็นคำสั่งที่แตกต่างจากคำสั่งมอบอำนาจ รมช.คมนาคม ของรมว.คมนาคมในยุคอื่น ด้วย เช่น ในสมัยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ อดีต รมว.คมนาคม ก็มีคำสั่งมอบอำนาจให้ รมช.คมนาคม กำกับดูแล และสามารถสั่งรวมถึงอนุมัติ หรืออนุญาตในเรื่องต่างๆได้ แต่ในยุคของนายศักดิ์สยามให้กำกับดูแลได้อย่างเดียวแต่ห้ามสั่งหรืออนุมัติใดๆ
ดูเหมือนว่าเจ้ากระทรวงจะยืนกระต่ายขาเดียวยึดคืนอำนาจ“อนุมัติงบฯ-ออกใบอนุญาต”ไว้เบ็ดเสร็จแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งอาจจะสร้างความไม่พอใจให้กับ 2 รมช.เพราะถูกลดบทบาท อำนาจหน้าที่ และเป็นการสร้างความขัดแย้งในการทำงานของ 3 รัฐมนตรีหรือไม่?อาจกลายเป็นปมนำไปสู่รอยร้าวกับ “เกาเหลาชามโต” พร้อมทุบทิ้งสโลแกนการทำงานร่วมกันเมื่อครั้งรับตำแหน่งใหม่ที่สวยหรูดูดีว่า “คมนาคม ยูไนเต็ด”ไม่มีโกงไม่มีเสียค่าโง่
“ศักดิ์สยาม”ยัน NO เกาเหลา NO ขัดแย้ง“อธิรัฐ-ถาวร”
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ออกโรงดับกระแสข่าวความขัดแย้งระหว่าง 3 รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมว่ายืนยันไม่ได้มีความขัดแย้งกันแต่อย่างใดและยังทำงานกันตามปกติ คำสั่งแบ่งงานให้รัฐมนตรีช่วยว่าการ คำสั่งที่ 429/2563 ล่าสุดเป็นการดำเนินการตามคำสั่งเดิม แต่ต้องออกคำสั่งใหม่เนื่องจากบมจ.การบินไทย , บจก.ไทยสมายล์แอร์เวย์ และบจก.ไทย-อะมาดิอุส เซาท์อีสต์เอเชีย ได้พ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ คำสั่งได้ศึกษาระเบียบกฎหมายและตัวแบบจากกระทรวงต่างๆ และคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีออกมา สำหรับคำสั่งที่ออกมานั้นไม่ใช่แค่กระทรวงคมนาคมเท่านั้น ทุกกระทรวงก็เขียนแบบเดียวกัน
“ยืนยันไม่ได้รวบอำนาจ 2 รมช.คมนาคม หากจะทำจริงก็ไม่ต้องทำหนังสือแจ้ง และก็ไม่ได้มีความขัดแย้งใดๆ เพียงแต่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมมีการเปลี่ยนแปลง ก็ต้องดำเนินการปรับคำสั่งให้ถูกต้อง ซึ่งผมทำงานให้เกียรติทุกคน และรมช.คมนาคมทั้ง 2 ก็ยังมีอำนาจเหมือนเดิมที่มอบหมายให้ ยกเว้นเรื่องการบริหารงานบุคคล งบประมาณ นโยบาย และมติครม. ที่เป็นอำนาจของรมว.คมนาคม ซึ่งก็เป็นปกติเหมือนกันทุกกระทรวงไม่ใช่แค่กระทรวงคมนาคมเท่านั้น”
“ถาวร”สวมบทเตมีย์ใบ้ “อธิรัฐ”ข้องใจหมดอำนาจทำงานยาก
ส่วนปฎิกิริยาจาก 2 รมช. คมนาคมกับคำสั่งล่าสุดที่ดูเหมือนถูกเจ้ากระทรวงรวบอำนาจไว้เบ็ดเสร็จแต่เพียงผู้เดียว ตามรายงานข่าวผู้สื่อข่าวได้สอบถามทางโทรศัพท์ไปยังนายถาวร แต่ได้รับการปฏิเสธที่จะพูดเรื่องนี้ พร้อมสวมบทเป็นพระเตมีย์ใบ้ไม่ขอให้สัมภาษณ์และให้ความคิดเห็นใดๆก่อนจะรีบวางสายทันที
ด้านนายอธิรัฐ กล่าวว่า เห็นหนังสือฉบับดังกล่าวเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้วก็ยังรู้สึกงงๆอยู่ และคิดว่าคงทำงานยากขึ้นเพราะไม่รู้ว่าจะสามารถทำอะไรได้บ้าง ซึ่งกำลังศึกษารายละเอียดและขอบเขตของคำสั่งว่ายังมีอำนาจในส่วนไหน และทำอะไรได้บ้าง อีกทั้งยังไม่ได้พูดคุยกับนายศักดิ์สยาม เกี่ยวกับคำสั่งฉบับนี้ว่าเป็นอย่างไร คงจะนัดหารือเพื่อสอบถามความชัดเจน
“ส่วนของการลงพื้นที่ตรวจราชการในสายงานกำกับดูแลจะยังปฏิบัติเช่นเดิม เพราะเข้าใจว่าหลายเรื่องเป็นอำนาจของระดับหัวหน้าหน่วยงานที่สามารถสั่งการเจ้าหน้าที่ได้อยู่แล้ว ไม่ต้องถึงระดับรัฐมนตรี จึงไม่ต้องไปสั่งการอะไร เพียงแต่ไปติดตามกำกับดูแลให้เรียบร้อยเท่านั้น”นายอธิรัฐ กล่าวสั้นๆ
2 รมช.เจ็บกระดองใจซ้ำซาก
นี่ไม่เพียงแค่ครั้งแรกที่เกิดปมปัญหาระหว่าง 2 เสนาบดีคมนาคม หากยังกันได้เมื่อครั้งรับตำแหน่งกันใหม่ๆกับการแบ่งงานรับผิดชอบในกระทรวงฯ เจ้ากระทรวงหูกวาง “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ”เล่นกวาดเรียบกรม,สำนัก,รัฐวิสาหกิจเกรดเอยาวเป็นหางว่าวถึง 13 แห่ง เน้นทางบกและทางรางเป็นหลัก อาทิกรมทางหลวง (ทล.), กรมทางหลวงชนบท (ทช.), องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.), บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.), กรมการขนส่งทางบก (ขบ.), การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.), การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.), และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เป็นต้น
ส่วนกรมเจ้าท่า (จท.) และการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ถูกเจียดให้รมช.“อธิรัฐ รัตนเศรษฐ” ให้กำกับดูแล และนายถาวร เสนเนียม ได้ดูแลหน่วยงานทางอากาศเป็นหลักรวม 7 แห่ง ได้แก่ กรมท่าอากาศยาน (ทย.), บมจ.การบินไทย ,วิทยุการบินแห่งประเทศไทย(บวท.), บจก. ไทย-อะมาดิอุส เซาท์อีสต์ เอเซีย , สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.), บจก.ไทยสมายล์แอร์เวย์ และบจก. โรงแรม ท่าอากาศยาน สุวรรณภูมิ ที่ล่าสุดตัดออก 3 เหลือแค่ 4
ถัดมาก็สร้างความเจ็บกระดองใจ 2 รมช.ไม่แพ้กัน เมื่อเจ้ากระทรวงคมนาคมเล่นออกคำสั่งด่วนที่สุด ลงวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เรื่อง การนำนโยบายกระทรวงคมนาคมไปสู่การปฏิบัติ รวม 7 ประการ ส่งไปยัง ปลัดกระทรวงคมนาคม อธิบดีทุกกรม และผู้บริหารรัฐวิสาหกิจทุกแห่งในสังกัดกระทรวงหูกวาง ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นการออกคำสั่งแบบข้ามหน้าข้ามตา “2 รมช.”โดยเจ้ากระทรวงหูกวางอ้างเหตุผลสำคัญว่า
เพื่อให้กรม รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม นำนโยบายไปสู่การปฏิบัติภายใต้การบูรณาการให้ประสานสอดคล้อง และตอบสนองต่อแนวนโยบายแห่งรัฐ ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2561-2580 รวมทั้งนโยบายของรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและสนับสนุนแผนกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อแบ่งเบาภาระของประชาชนเพื่อให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พร้อมกำชับให้กระทรวง กรม รัฐวิสาหกิจนําเสนอเรื่องต่างๆให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมทราบก่อนไม่น้อยกว่า 7 วันทําการ
คำถาม คือแนวทางการทำงานหลังจากนี้ที่ให้ต้องรายงานทุกเรื่องกับเจ้ากระทรวง แล้วการแบ่งงานให้กับ นายถาวร เสนเนียม และ นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ 2 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ก่อนหน้านี้ จึงไม่มีความหมายแต่อย่างใดหรือไม่ อย่างไร?
นี่อาจจะไม่ใช่แค่ครั้งสุดท้ายกับปมทำให้ 3 รมต.คมนาคมต่างพรรคร่วมรัฐบาลอาจต้องซดเกาเหลาชามโตจนลิ้นพอง เพราะขึ้นชื่ออำนาจไม่เข้าใครออกใคร เมื่ออยู่ในมือใครก็สามารถชิ้นกเป็นนกชี้ไม้เป็นไม้จริงหรือไม่จริง?ท่านเจ้ากระทรวงหูกวาง