ไม่รู้ว่าจะเข็นขึ้นสู่แผนฟื้นฟูกันกี่รอบก็ยังย่ำอยู่กับที่เหมือนเดิมสำหรับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) รัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคม ที่ไม่เคยสะกดคำว่า “กำรี้กำไร”เหมือนกับรัฐวิสาหกิจอื่นๆ หนี้สินเพิ่มพูนขึ้นทุกปีจนบานเบอะเป็นแสนล้านแล้ว กับปัญหาโลกแตกที่ไม่รู้จะอีกกี่สิบปีจะสามารถสางหนี้มหาศาลนี้ให้หมดไป
ล่าสุด ก็ฮือฮาอีกระลอกเมื่อเจ้ากระทรวงหูกวาง “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีที่ได้ว่ามาแรงแถมไอเดียกระฉูดแรกรายวัน แต่จนแล้วจนรอดนับตั้งแต่ดำรงตำแหน่งเสนาบดีคมนาคมถึงวันนี้ยังคลำหาผลงานเป็นชิ้นเป็นอันไม่สักที
คราวนี้ร่ายมนต์ใหม่ถึงแผนฟื้นฟูขสมก.เสร็จแล้ว และได้ผ่านความเห็นชอบจากบอร์ดขสมก.และกระทรวงคมนาคมแล้วอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คนร.) หากผ่านความเห็นชอบคาดจะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้ภายในเดือนก.ค.นี้ และเมื่อครม.ไฟเขียวแล้ว
จากนั้นขสมก.จะลุยไฟต้องดำเนินการ 5 เรื่อง ถือเป็นบันได 5 ขั้นแห่งการฟื้นฟูขสมก.ปูทางสู่การสางหนี้สินให้หมดเกลี้ยง และนำเสนอสิ่งดีๆให้กับประชาชนผู้ใช้บริการรถเมล์ขสมก.ในรูปแบบที่ทันสมัย ล้างคราบเน่าๆเก่าๆที่เคยมีในสายประชาชน
ไปคลี่ดูสิว่าไส้ในบันได 5 ขั้นสู่เป้าหมายปลายทางขสมก.นั้นมันไฉไลอย่างไร? และมีความเป็นไปมากน้อยแค่ไหน?ที่จะประสบความสำเร็จ สมคำอวดสรรพคุณของเจ้ากระทรวงหูกวางหรือไม่?
ลดค่าโดยสารหาใช่คำตอบสุดท้าย?
บันไดขั้นแรกจะเริ่มด้วยการลดค่าครองชีพของประชาชน โดยปรับลดอัตราค่าโดยสารให้ถูกลงจากอัตราเดิม 15-25บาท ปรับเป็นใน 3 ลักษณะ คือตั๋วรายวันในราคา 30 บาทตลอดวันสามารถใช้ขึ้นรถเมล์ได้ทุกเที่ยวทุกเส้นทาง ส่วนตั๋วรายเดือนที่ใช้ขึ้นรถเมล์ได้ทุกสายทุกเส้นทางเช่นกันแต่เฉลี่ยแล้วจะอยู่ที่วันละ25บาทเท่านั้น และตั๋วที่จ่ายตามการใช้บริการจริง กรณีที่ผู้โดยสารใช้บริการในเส้นทางสั้นๆ หรือวันละไม่เกิน 30 บาท
รวมถึงมีการออกบัตรส่วนลดให้กับบุคคลกลุ่มต่างๆ เช่น นักเรียน นักศึกษา และผู้สูงอายุ เป็นต้น ทั้งนี้จากผลการศึกษาระบุว่าการปรับลดค่าโดยสารเหลือวันละ 30 บาทจะทำให้ประชาชนได้รับผลต่างค่าใช้จ่ายที่ลดลงไม่น้อยกว่า 20 บาทต่อคนต่อวัน
มุกการลดค่าโดยสาร ขสมก.เคยเล่นมาจนกลายเป็นตลกมุกแป๊กไปแล้ว ปัญหาใต้พรมที่ซุกเอาไว้ไม่มีแค่เรื่องราคาตั๋ว ขสมก.ก็รู้แก่ใจเป็นอย่างดี ตั๋วถูกแต่รถเก่าๆเน่าๆบริการห่วยแตกอีก แล้วใครหน้าไหนจะขยันไปใช้บริการ
ฝันกลางวัน?ปี 65 จะไม่มีรถร้อนแล้วว่างั้น!
บันไดที่สองเร่งปรับปรุงเส้นทางการเดินรถไม่ให้ทับซ้อนกัน ซึ่งเป็นปัญหาหนักอกขสมก.มาโดยตลอด เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดบนถนน ปัจจุบัน ขสมก.มีเส้นทางเดินรถเดิม 269 เส้นทาง จากนี้ไปได้ปฏิรูปเส้นทางเดินรถเหลือเพียง162 เส้นทาง แบ่งเป็นขสมก.108เส้นทาง และเอกชนร่วมบริการ 54เส้นทาง
หากเป็นเช่นนี้จะช่วยปลดล็อคปัญหาการทับซ้อนระหว่างรถเมล์ ขสมก. และผู้ประกอบการรถเอกชนร่วมบริการ ช่วยลดจำนวนรถเมล์ที่ให้บริการลงประมาณ 300-500 คัน จากเดิมที่มีรถประมาณ 4,800-5,000 คัน ก็จะเหลือรถที่ให้บริการเพียง 4,500 คัน
ส่วนรูปแบบรถเมล์ที่นำมาให้บริการจะเป็นรถปรับอากาศ (แอร์) ทั้งหมด โดยไม่มีรถเมล์ร้อนแล้ว รถแอร์จะมีขนาด 10-12 เมตร มีทั้งสีฟ้า-สีขาว มีการออกแบบเบาะที่นั่งตามหลักการออกแบบรถเมล์ ภายในรถจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมทั้งครอบคลุมทุกวัยที่ใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ เด็ก สตรี และผู้พิการ คาดว่าจะใช้เริ่มต้นมีรถแอร์ให้บริการได้ในเดือนมี.ค.64 และจะส่งมอบรถได้ครบทั้งหมดภายในเดือนก.ย.65
ลำพังการประมูลเมล์ 489 คันยังเล่นปาหี่กินเวลากว่า 1 ทศวรรษ ประชาชนคงไม่อยากจินตนาการว่ามหกรรมประมูลเมล์แอร์รอบนี้กว่าประชาชนจะได้มีบุญวาสนาได้นั่งก็จะอีกสิบปี?
วาดวิมาน?สางหนี้แสนล้านภายใน 7 ปี
ส่วนการลดมลภาวะฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาหนักอกของขสมก.และมักจะถูกสังคมตราหน้าว่าเป็นต้นตอฝุ่นในเมืองกรุงกับการปล่อยรถเก่าๆเน่าๆอีกมาวิ่งให้บริการประชาชน ตามคำอวดของรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงร่ายตามแผนฟื้นฟูซะสวยหรูกับบันไดขั้นที่ 3 บอกถึงเวลาขสมก.ต้องใช้รถที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การใช้รถเอ็นจีวี หรือรถไฟฟ้า(อีวี) เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่ารถที่ใช้พลังงานเชื้อเพลงก่อให้เกิดมลพิษ
ส่วนขั้นที่ 4 ถือว่างานยากมากๆที่ขสมก.พยายามแก้ไขมาโดยตลอด และเป็นหนามหยอกอกขสมก. นั่นก็คือปัญหาสางหนี้สินล้นต้ว ตามแผนฟื้นเวอร์ชั่นนี้ขสมก.คุยโวต้องการแก้ปัญหาการขาดทุนอย่างยั่งยืน บอกหากดำเนินการตามแผนฟื้นฟูภายใน 7 ปี ขสมก.จะพ้นภาวะขาดทุน
ปัจจุบัน ขสมก. มีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย เพราะเก็บค่าโดยสารต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริง ทำให้ประสบผลการขาดทุนมาโดยตลอด ขาดสภาพคล่องทางการเงิน มีภาระหนี้สินและดอกเบี้ยสูงขึ้นต่อเนื่อง โดย ณ วันที่ 29 ก.พ.63 พบว่ามีหนี้สะสมรวม 129,507.311 ล้านบาท
ขณะเดียวกันยังมีรถเมล์ที่มีอายุใช้มานานมากกว่า 20 ปี เกิดสภาพชำรุด ทรุดโทรม ต้องจ่ายค่าซ่อมบำรุงรักษาสูงตามสภาพรถเมล์เก่า และบางคันจอดเสียไม่สามารถซ่อมได้ ทำให้จำนวนรถไม่เพียงพอต่อการให้บริการอย่างทั่วถึง
อีกทั้ง ขสมก.ยังมีพนักงานรวม 13,961 คน แบ่งเป็นพนักงานขับรถ 5,781 คน พนักงานเก็บค่าโดยสาร 5,917 คน พนักงานสำนักงาน 2,263 คน ถือว่ามีจำนวนมากส่งผลให้ขสมก.มีภาระที่ต้องจ่ายค่าตอบแทนมาก ทำให้เกิดเป็นต้นทุนสะสมที่สูงจึงต้องเร่งแก้ปัญหา
ส่วนบันไดขั้นสุดท้ายถือเป็นไม้ตาย เพราะขสมก.จะแปรงร่างเป็นลูกอีช่างขอเหมือนทุกปี โดยจะขอรับเงินสนับสนุนจากรัฐจำนวน 9,674ล้านบาท ซึ่งอ้างว่าจะทำให้ขสมก.เลี้ยงตนเองได้ แถมยังหยอดคำหวานพลางคุยโม้อีกในปีต้นๆ ขสมก.อาจจะมีรายได้น้อยกว่ารายจ่าย แต่เมื่อครบ 7 ปีแล้วมั่นใจว่าขสมก.จะมีรายได้มากกว่ารายจ่ายแน่นอน
ดูจากทิศทางลมตามการร่ายมนต์ในแผนฟื้นฟูเวอร์ชั่นนี้ ยังนึกภาพไม่ออกเลยว่าจะสามารถปลดหนี้กว่าแสนล้านภายใน 7 ปีจากนี้ไปได้ และจะสามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำนำแก้ปัญหาการขาดทุนอย่างยั่งยืนอย่างที่คุยใหญ่คุยโตได้
นอกเสียจากการวาดวิมานล้มๆแล้งๆหลอกตัวเองไปวันๆกับแผนฟื้นฟูไม่รู้กี่รอบหลอกขอเงินสนับสนุนจากรัฐก่อหนี้เน่าๆ แต่เนื้อในการทำได้จริงหรือไม่? คนในขสมก.ที่ร่างแผนนี้มากับมือจนป่านนี้ก็ยังมืดแปดด้านจะสางหนิ้กองโตนี้ได้อย่างไร?
…จริงหรือไม่จริงครับท่านรัฐมนตรีศักดิ์สยาม?