ผลพวงจากวิกฤติการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่พ่นพิษใส่ทุกภาคส่วนของสังคมไทยต้องเผชิญวิบากกรรมจนงอมพระราม พร้อมกระทืบซ้ำเศรษฐกิจไทยให้จมธรณี จำเป็นที่รัฐนาวาภายใต้การนำของ บิ๊กตู่ – พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 (ศบค.) โต้องเร่งออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนทุกกล่มที่ได้รับผลกระทบ
ไล่ดะตั้งแต่สั่งการให้ทุกกระทรวงตัดงบประมาณปี 63 ลงร้อยละ 10 เป็นคงคลังกองกลางสู้วิกฤติโควิด ควบคู่กับการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดไวรัสโควิด-19 และเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบอีกด้วย
ขณะที่ผลกระทบด้านคมนาคมาขนส่งหลังรัฐบาลออกแนวทางการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ด้วยการจำกัดและควบคุมการเดินทางของประชาชน โดยเฉพาะในระบบขนส่งสาธารณะ รวมทั้งมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม และส่งเสริมการทำงานจากที่บ้าน ส่งผลให้ปริมาณผู้ใช้บริการระบบขนส่งลดลง ผู้ประกอบการด้านคมนาคมขนส่งประสบปัญหาขาดสภาพคล่องและเกิดการเลิกจ้างแรงงาน
ในเรื่องนี้กระทรวงคมนาคมในฐานะกระทรวงผู้กำกับดูแลด้านคมนาคมขนส่ง ได้มีมาตรการดูแลและเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทั้งทางบก ราง น้ำ และอากาศ อย่างไรบ้าง?
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม และหมวกอีกหนึ่งใบในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านคมนาคมและการขนส่งทั่วราชอาณาจักร เปิดเผยว่ากระทรวงฯได้มีมาตรการดูแลและเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบในทุกรูปแบบการเดินทาง เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินกิจการให้บริการด้านคมนาคมขนส่ง ตลอดจนกิจการเชิงพาณิชย์ที่เกี่ยวข้องได้อย่างต่อเนื่อง และไม่เกิดผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการระบบคมนาคมขนส่ง
พักหนี้ผู้ประกอบการขนส่ง 6 เดือน ยืดได้อีก 96 เดือน
เริ่มต้นที่การช่วยเหลือผู้ประกอบการขนส่งและผู้ประกอบการอาชีพขับรถสาธารณะ โดยกระทรวงฯได้กำหนดมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการขนส่งให้พักชำระหนี้ได้ 3 – 6 เดือน และขอขยายเวลาชำระหนี้ออกไปได้ไม่เกิน 96 เดือน ซึ่งมาตรการนี้มีผลแล้ว โดยกรมขนส่งฯ ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย สมาคมประกันวินาศภัยไทย และผู้ให้บริการระบบติดตามรถ (GPS Vendor) ได้มีมาตรการและแนวทางการเยียวยาผู้ประกอบการขนส่ง ดังนี้
– สถาบันการเงินภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดมาตรการพักชำระหนี้ผู้ประกอบการขนส่งที่เช่าซื้อรถสูงสุดเป็นระยะเวลา 6 เดือน และสามารถขอขยายระยะเวลาชำระหนี้สูงสุดได้ไม่เกิน 96 เดือน (ผ่อนชำระหนี้ทั้งหมดไม่เกิน 8 ปี)
– บริษัท ลีสซิ่ง (Non Bank) มาตรการและเงื่อนไขการพักชำระหนี้/การปรับปรุงโครงสร้างหนี้/การลดอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม เป็นไปตามเงื่อนไขและศักยภาพของแต่ละบริษัท
ส่วนมาตรการคืนเบี้ยประกันภัย/การขยายระยะเวลาคุ้มครองก็มีผลแล้วเช่นกัน โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ได้กำหนดมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบสำหรับผู้ประกอบการขนส่งจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ให้สามารถขอรับเบี้ยประกันภัยคืน โดยการแจ้งหยุดใช้รถไม่น้อยกว่า 30 วัน หรือนำเบี้ยประกันภัยที่ได้รับมาขยายระยะเวลาคุ้มครองตามกรมธรรม์ โดยมีขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 : แจ้งหยุดใช้รถ ณ สำนักงานขนส่งที่อยู่ในความรับผิดชอบขั้นตอนที่ 2 : ติดต่อบริษัทประกันภัยขอรับเบี้ยประกันที่เหลือคืน หรือขั้นตอนที่ 3 : นำเบี้ยประกันที่เหลือมาขยายระยะเวลาคุ้มครองเมื่อแจ้งใช้ใหม่
รฟม.จัดหนักจัดเต็มเยียวผู้เช่าพื้นที่
ฟากการดูแลและเยียวยาผู้เช่าพื้นที่ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นั้น ปลัดกระทรวงคมนาคม ระบุว่า รฟม.ได้ยกเว้นค่าปรับกรณีผู้เช่าผิดนัดชำระค่าตอบแทนภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยเริ่มตั้งแต่งวดชำระค่าตอบแทนวันที่ 7 และ 25 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป และชำระค่าสาธารณูปโภคในอัตราปกติตามใบแจ้งหนี้ที่ได้รับจาก รฟม. ดังนี้
-ผู้เช่าพื้นที่ที่ถูกสั่งปิดตามประกาศกรุงเทพมหานคร/รัฐบาล ให้ยกเว้นการชำระค่าตอบแทนการใช้พื้นที่ ค่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ค่าบริการ และค่าบำรุงรักษาส่วนกลาง เป็นเวลา 2 เดือน หรือพิจารณาขยายระยะเวลาตามสถานการณ์
-ผู้เช่าพื้นที่ที่สามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติแต่มีผู้ใช้บริการลดลง ให้ลดค่าตอบแทนการใช้พื้นที่ค่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ค่าบริการ และค่าบำรุงรักษาส่วนกลาง ร้อยละ 50 เป็นระยะเวลา 4 เดือน หรือพิจารณาขยายระยะเวลาตามสถานการณ์ หากผู้เช่าชำระค่าตอบแทนตามใบแจ้งหนี้ให้บันทึกค่าตอบแทนในใบเสร็จรับเงินเป็นค่าตอบแทนจำนวน 2 เดือน
-ผู้เช่าพื้นที่ที่ไม่อยู่ในเกณฑ์ได้รับมาตรการดูแลและเยียวยา ให้ชำระค่าตอบแทนการใช้พื้นที่ ค่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ค่าบริการ และค่าบำรุงรักษาส่วนกลาง และค่าสาธารณูปโภค ในอัตราปกติตามใบแจ้งหนี้ที่ได้รับจาก รฟม.
-และผู้เช่าพื้นที่ชำระค่าตอบแทนงวดเดียวตลอดอายุสัญญา/การอนุญาต รฟม. จะเปลี่ยนแปลงกำหนดระยะเวลาการใช้พื้นที่ในภายหลัง
ทย.ทอท.พร้อมใจลดค่าธรรมเนียม-ค่าเช่า-ค่าตอบแทน
ขณะที่มาตรการช่วยเหลือด้านการขนส่งทางอากาศนั้น นายชัยวัฒน์ เปิดเผยรายละเอียดว่าได้ปรับลดค่าธรรมเนียมการใช้บริการภายในสนามบิน 28 แห่ง เพื่อเยียวยาและช่วยเหลือผู้ประกอบการภายในสนามบินและสายการบิน โดยกรมท่าอากาศยาน (ทย.) และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ปรับลดค่าบริการสนามบินที่สายการบินถูกเรียกเก็บจากผู้ประกอบการท่าอากาศยาน
ประกอบด้วยการปรับลดค่าบริการขึ้น – ลงของอากาศยาน (Landing charge) และค่าบริการที่เก็บอากาศยาน (Parking charge) ลงร้อยละ 50 สำหรับเที่ยวบินภายในประเทศและเที่ยวบินระหว่างประเทศที่ทำการบินเข้าหรือออกประเทศกลุ่มเสี่ยง โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 31 ธันวาคม 2563 และปรับลดค่าใช้จ่ายที่สนามบินอย่างอื่น ซึ่งมีผลต่อต้นทุนของผู้ประกอบการสายการบินสัญชาติไทยตามความเหมาะสม เช่น ค่าเช่าพื้นที่สำนักงาน เป็นต้น โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 31 ธันวาคม 2563
อีกทั้ง ทย. ยังลดค่าเช่าพื้นที่ลงร้อยละ 50 จากราคาค่าเช่าที่เพิ่งปรับขึ้นสำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการลดลงของผู้โดยสาร โดยที่อัตราการจัดเก็บค่าเช่าหลังหักส่วนลดต้องไม่ต่ำกว่าอัตราที่กรมธนารักษ์กำหนด ตั้งแต่เดือนมีนาคม – สิงหาคม 2563 เป็นระยะเวลา 6 เดือน และ ทอท.ก็ยังปรับลดค่าผลประโยชน์ตอบแทนให้กับผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ภายในสนามบินในอัตราร้อยละ 20 ของค่าผลประโยชน์ตอบแทนตามสัญญาตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 – 31 มกราคม 2564
ส่วนบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ปรับลดค่าบริการการเดินอากาศ (Air navigation service charge) ที่ถูกเรียกเก็บจากผู้ให้บริการการเดินอากาศ ร้อยละ 50 สำหรับเที่ยวบินภายในประเทศ และร้อยละ 20 สำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศที่ทำการบินเข้าหรือออกประเทศกลุ่มเสี่ยง ขณที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยปรับลดค่าธรรมเนียมการเข้าหรือออกนอกประเทศ (Regulatory fee) ที่เรียกเก็บจากสายการบินตามจำนวนผู้โดยสาร จากเดิมคนละ 15 บาท เหลือคนละ 10 บาท สำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศที่ทำการบินเข้าหรือออกประเทศกลุ่มเสี่ยง
สำหรับมาตรการทางการเงินได้ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ (Credit terms) ค่าบริการ ค่าภาระ หรือเงินตอบแทนที่สายการบินถูกเรียกเก็บจากผู้ประกอบการท่าอากาศยานผู้ให้บริการการเดินอากาศ และผู้ประกอบการจำหน่ายและให้บริการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน รวมทั้งจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เช่น สายการบิน โรงแรม และภาคบริการต่าง ๆ
การท่าเรือฯ คลอด 2 มาตรการเยียวยา
ส่วนมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาสายเรือที่ได้รับผลกระทบนั้น เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่าต้องยอมรับจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อธุรกิจต่างๆ รวมถึงธุรกิจขนส่งทางทะเล ทั้งในเรื่องจำนวนตู้สินค้าที่ลดลงและจำนวนเที่ยวเรือที่จำเป็นต้องถูกยกเลิก
เรื่องนี้คณะกรรมการฝ่ายบริหาร กทท. จึงได้พิจารณาเห็นชอบให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเสียหายของสายเดินเรือและตัวแทนเรือที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ดังนี้
1. ลดค่าธรรมเนียมพิเศษการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของการให้บริการตู้สินค้าและเรือลากจูง ทั้งที่ท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือแหลมฉบัง ในอัตราปรับลดลง 5% จากอัตราที่ได้ประกาศใช้อยู่ในปัจจุบันโดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563
2. ขยายระยะเวลาผ่อนผันให้ชำระเงินตามใบแจ้งหนี้จากเดิมที่กำหนดไว้ 15 วัน เป็น 45 วัน ทั้งนี้ให้มีผลตั้งแต่ใบแจ้งหนี้ที่ลงวันที่ 15 เมษายน ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563
ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิกฤติโควิด-19 เล่นงานทุกภาคส่วนของสังคมไทยสาหัสสากรรจ์ กับทุกมาตรการที่ภาครัฐคลอดออกมาเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจะครอบคลุมและเป็นมรรคเป็นผลมากน้อยแค่ไหนนั้น เป็นบทพิสูจน์ประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐกับการผลักดันทุกมาตรการสู่ภาคปฏิบัติให้เป็นเนื้อ-หนัง
วิกฤติครั้งนี้ไม่ต่างอะไรกับการเปิดสงครามที่ต่างต้องมีทั้งผู้บาดเจ็บ-ล้มตาย ถือเป็นความท้าทายครั้งประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้ เชื่อว่าฟ้าหลังฝนย่อมแจ่มใสเสมอ และก็เชื่อว่าทุกดวงใจไทยรอวันวันนั้น!