นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า EXIM BANK มีผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจ มีกำไรสุทธิ 931ล้านบาท บรรลุเป้าหมายในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ให้แข่งขันได้มากขึ้น ทั้งด้านการค้าและการลงทุน ณ สิ้นเดือนกันยายน 2559 มีเงินให้สินเชื่อคงค้างจำนวน 74,468 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นปี 2558 จำนวน 928 ล้านบาท ซึ่งเป็นสินเชื่อใหม่ที่เบิกจ่ายเพิ่มขึ้นในระหว่างปีจำนวน 16,020 ล้านบาท และมีการชำระคืนของสินเชื่อเดิมบางส่วน ทำให้เกิดปริมาณธุรกิจ (Business Turnover) 90,717 ล้านบาท โดยเป็นปริมาณธุรกิจของ SMEs เท่ากับ 59,707 ล้านบาท และมีเงินให้สินเชื่อคงค้างแก่ SMEs จำนวน 30,867 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7,604 ล้านบาท หรือร้อยละ 32.68 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
“ ผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นนั้น เป็นผลจากการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อผู้ส่งออก SMEs โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ ส่วนอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคาร (NPLs Ratio) ณ สิ้นเดือนกันยายน 2559 อยู่ที่ร้อยละ 5.07 โดยมีสินเชื่อด้อยคุณภาพจำนวน 3,774 ล้านบาท และมีเงินสำรองหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 6,424 ล้านบาท เป็นสำรองหนี้พึงกันตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 3,111 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินสำรองที่กันไว้แล้วต่อสำรองพึงกันร้อยละ 206.52 ทำให้ธนาคารยังคงดำรงฐานะการเงินที่มั่นคง”
ประกันส่งออกทันใจ หนุนปริมาณส่งออก-ลงทุน 41,671 ล.
นอกจากนี้ นายพิศิษฐ์ กล่าวอีกว่า EXIM BANK ยังใช้จุดแข็งในการทำหน้าที่องค์กรรับประกัน ช่วยให้ผู้ส่งออกไทยแข่งขันได้มากขึ้น เสนอเงื่อนไขการชำระเงินที่ผ่อนปรนและขยายตลาดได้อย่างมั่นใจ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศ โดยออกบริการ “ประกันส่งออกทันใจ SMEs (Instant SMEs Export Insurance)” เมื่อกลางปี 2559 ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของ EXIM BANK ด้านการรับประกันในช่วง 9 เดือนของปี 2559 มีจำนวนรายลูกค้าเพิ่มมากขึ้น เกิดปริมาณธุรกิจส่งออกและลงทุนรวม 41,671 ล้านบาท โดย 8,135 ล้านบาทเป็นธุรกิจส่งออกของ SMEs หรือร้อยละ 19.52 ของธุรกิจรับประกันรวม ทั้งนี้ คาดว่าปริมาณธุรกิจสะสมของบริการประกันการส่งออกจะค่อยๆ ทยอยเพิ่มขึ้นและสามารถเป็นไปตามเป้าหมายได้ในสิ้นปี 2559
“ไตรมาส 4 ปี 2559 และปี 2560 EXIM BANK จะเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อช่วยขยายการค้าการลงทุนของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะในตลาดใหม่ที่ศักยภาพที่เรียกว่า New Frontiers และ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) โดยปัจจุบัน EXIM BANK มีวงเงินอนุมัติสะสมของสินเชื่อเพื่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ รวม 52,328 ล้านบาท มีเงินให้สินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นเดือนกันยายน 2559 เท่ากับ 31,641 ล้านบาท และมีแผนจะเปิดสำนักงานตัวแทนในเมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนามภายใน 1-2 ปีข้างหน้า เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการค้าการลงทุนของไทยใน CLMV”
เปิดตัวสินเชื่อส่งออกทันใจ เสริมสภาพคล่อง SMEs ดันส่งออกไตรมาส 4
อย่างไรก็ดี นายวิศิษฐ์ เปิดเผยถึงสินเชื่อที่ช่วยเสริมสภาพคล่องผู้ส่งออกในไตรมาสสุดท้ายของปีว่าไตรมาส 4 เป็นช่วงเวลาที่ผู้ส่งออกไทยจะได้รับคำสั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมาก เพื่อรองรับความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคและของขวัญในช่วงเทศกาลตั้งแต่ปลายปีจนถึงต้นปีหน้า เราจึงได้พัฒนาบริการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือให้ผู้ส่งออกไทยให้มีเงินทุนหมุนเวียนในช่วงก่อนและหลังการส่งออกเพิ่มมากขึ้น เรียกว่า สินเชื่อส่งออกทันใจ เป็นสินเชื่อหมุนเวียนระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน พร้อมบริการรับซื้อตั๋วส่งออก อัตราดอกเบี้ยต่ำ 3.5% ต่อปี ใช้เพียงบุคคลค้ำประกัน อนุมัติเร็วภายใน 7 วันทำการ และมีวงเงินสูงสุด 500,000 บาทต่อราย คาดจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs สามารถเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจส่งออกได้มากขึ้น
“ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเป็นผู้ส่งออก SMEs ประมาณ 24,000 ราย หรือประมาณ 10% ของผู้ประกอบการ SMEs รวมทั้งหมด แม้ว่าภาคการส่งออกของไทยจะเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่ผู้ส่งออกยังคงต้องเผชิญความเสี่ยงจากปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจทั้งภายในและภายนอก อาทิ การขาดสภาพคล่อง เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อยู่ในระดับต่ำ เป็นต้น EXIM BANK จึงมีนโยบายพัฒนาบริการที่มีเงื่อนไขผ่อนปรนเพื่อสนับสนุนผู้ส่งออก SMEs ของไทยให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน มีความพร้อมในการขยายธุรกิจได้มากขึ้น”
“ผู้ส่งออก SMEs เป็นกลไกสำคัญที่ช่วยผลักดันให้การส่งออกขยายตัวมากขึ้น EXIM BANK จึงได้พัฒนาบริการสินเชื่อ ควบคู่ไปกับเครื่องมือบริหารจัดการความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศให้แก่ผู้ส่งออก SMEs โดยเน้นความรวดเร็วและความสะดวกในการเข้าถึงบริการของ SMEs โดยสินเชื่อส่งออกทันใจเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เกิดขึ้น เพื่อช่วยอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบและขับเคลื่อนการเติบโตของภาคการส่งออกไทยในไตรมาสสุดท้าย” นายพิศิษฐ์กล่าวในตอนท้าย