กทท.บริหารจัดการ Big Data ด้วยระบบ PCS โดยเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงข้อมูลด้านการขนส่งทางน้ำและกิจกรรมโลจิสติกส์แบบไร้รอยต่อแก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในลักษณะ e-Logistics Platform ที่เป็นมาตรฐานสากล
เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูรผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ดำเนินโครงการพัฒนาการเชื่อมโยง Data Logistic Chain ด้วยระบบ Port Community System (PCS) ที่นำเทคโนโลยี Digital มาบริหารจัดการข้อมูลจำนวนมาก (Big Data) ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานด้านการขนส่งทางน้ำทั้งภาครัฐและเอกชน โดยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงข้อมูลแบบบูรณาการในกิจกรรมโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้าทางน้ำตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งระบบ ได้แก่ การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างภาครัฐกับภาครัฐ (G2G) ภาคธุรกิจกับภาครัฐ (B2G) และภาคธุรกิจกับภาคธุรกิจ (B2B) รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบ National Single Window (NSW) ในลักษณะของ e-Logistics Platform ที่เป็นมาตรฐานสากลและทุกหน่วยงานที่อยู่ต่างระบบสามารถเชื่อมโยงข้อมูลได้อัตโนมัติแบบไร้รอยต่อ (Seamless Operation) ช่วยลดต้นทุน ระยะเวลาและค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการในทุกขั้นตอนของการดำเนินงาน รวมทั้งกระบวนการต่างๆ ในการนำเข้าและส่งออก
สำหรับความคืบหน้าโครงการฯ นั้น อยู่ระหว่างการศึกษากระบวนการทำงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้แก่ ท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) เจ้าของและตัวแทนเรือกรุงเทพฯ ผู้ประกอบการขนส่ง ผู้นำเข้าส่งออกสินค้า/ตัวแทนเรือ กรมศุลกากร การรถไฟแห่งประเทศไทย กรมเจ้าท่า ฯลฯ เพื่อนำมาศึกษา วิเคราะห์ เปรียบเทียบข้อดีข้อเสียกับต้นแบบระบบ PCS ในต่างประเทศ พร้อมทั้งจัดรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้แทนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการออกแบบระบบ PCS และโครงสร้างพื้นฐานระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT Infrastructure) ให้เหมาะกับบริบทของประเทศ หลังจากนั้นจะจัดประชุมเพื่อประชาสัมพันธ์และนำข้อคิดเห็นมาปรับปรุงการออกแบบระบบ PCS จัดทำระบบจำลอง (Mock up Simulation) เพื่อทดสอบตามกระบวนการที่ออกแบบ คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือนมกราคม 2563 และจะดำเนินการจัดจ้างผู้ดำเนินการพัฒนาระบบ PCS ต่อไป
อนึ่ง ระบบดังกล่าวจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานต่างประเทศ โดยเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่าง ทกท. และ ทลฉ. ไปยังท่าเรือต้นทางและปลายทาง ณ ต่างประเทศ อันเป็นการขับเคลื่อนการดำเนินกิจกรรมท่าเรือและบริการให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ “มุ่งสู่มาตรฐานท่าเรือชั้นนำระดับโลก ด้วยการให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่เป็นเลิศ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในปี 2573” และภายใต้แนวคิดในการนำเทคโนโลยี Digital มาใช้ตามนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล