ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ 6 ทศวรรษ มจพ. และก้าวต่อไปเพื่อความเป็นเลิศและความยั่งยืน (KMUTNB 2040)
ในปี 2562 เป็นวาระครบรอบ 60 ปี ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) บนเส้นทางการพัฒนามหาวิทยาลัยสู่ความเป็นเลิศและยั่งยืนที่เดินทางมาครบ 6 ทศวรรษด้วยการสร้างผลงานทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้อย่างรวดเร็วพร้อม ๆ กับการเปลี่ยนแปลงด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนภายใต้รากฐาน “วิศวกรรมมือเปื้อน” และถึงเวลาการเปลี่ยนแปลง ก้าวสู่ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของ มจพ. มุ่งสู่ความเป็นเลิศและยั่งยืน เป็นไปตามยุทธศาสตร์ 4 เป้าหมาย (4 Goals: 4G) ภายใน 20 ปีข้างหน้า ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยในโลกยุค 4.0 การเรียนการสอนควบคู่การทำงานวิจัยต้องเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม และเอกชน เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับตลาดแรงงานยุคใหม่ที่ต้องผนึกกำลังเพื่อขับเคลื่อน ผ่านแผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ระยะ 20 ปี มุ่งเน้นการพัฒนามหาวิทยาลัย โดยการหลอมรวมทั้ง 3 วิทยาเขต สู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในการสร้างสรรค์ประดิษฐกรรมสู่นวัตกรรม (Invention to Innovation) ของโลกอย่างแท้จริง
มจพ. ได้นำความสามารถและผลงานอันโดดเด่นด้านการบริหารกลยุทธ์ (Strategic Management) และการพัฒนาองค์กร (Organization Development) ด้วย มจพ. เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มุ่งเน้นการเรียนรู้ จากการปฏิบัติจริง และการปลูกฝังวัฒนธรรมการทำงานอย่างมืออาชีพที่สามารถสื่อสารและถ่ายทอดเทคโนโลยี สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ให้กับนักศึกษา คณาจารย์ และบุคลากร ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้ปรากฏต่อสายตาสาธารณชนถึง 6 ทศวรรษ ที่ มจพ. สร้างความโดดเด่นและประสบความสำเร็จเป็นสุดยอดองค์กรจากเวทีระดับโลกที่หลากหลาย
ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เปิดเผยว่า เส้นทาง การพัฒนามหาวิทยาลัยในภาพรวมของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ระยะ 20 ปี ให้ความสำคัญและมุ่งเน้นการพัฒนามหาวิทยาลัยทั้ง 3 วิทยาเขตไปสู่ “ความเป็นผู้นำองค์กรด้านความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม (Leader in University-Industry Cooperation)” ผ่านยุทธศาสตร์เพื่อความเป็นเลิศและยั่งยืน 4 ยุทธศาสตร์เป้าหมาย สอดรับกับปณิธาน “มุ่งมั่นที่จะพัฒนา ทรัพยากรมนุษย์ให้มีความเป็นเลิศทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและวิชาการชั้นสูงที่เกี่ยวข้อง ให้มีความรู้คู่คุณธรรม เพื่อเป็นผู้พัฒนาและสร้างสรรค์เทคโนโลยีที่เหมาะสม อันก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน” และสอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สำหรับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัย ระยะ 20 ปี ประกอบไปด้วย 4 ยุทธศาสตร์ เพื่อความเป็นเลิศและยั่งยืน ดังนี้
G1) ความเป็นเลิศด้านการจัดการศึกษา (Academic Excellence)
G2) ความเป็นเลิศด้านการวิจัย สร้างสรรค์ประดิษฐกรรมสู่นวัตกรรม (Research, Invention and Innovation Excellence)
G3) ความเป็นเลิศด้านบริการวิชาการและบริการวิจัย (Academic and Research Service Excellence)
G4) ความเป็นเลิศด้านการจัดการ (Management Excellence)
หากย้อนกลับไปเมื่อ 60 ปีก่อน มจพ. มีรากฐานการศึกษาที่ได้รับมาจากประเทศเยอรมัน ปัจจุบัน มจพ. จัดการเรียนการสอนที่เน้นการสอนทฤษฎีควบคู่ปฏิบัติ โดยโรงเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ ไทย-เยอรมัน (Thai-German Pre-engineering School) เป็นแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้พัฒนาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เพื่อเตรียมความพร้อมการเป็นวิศวกรนักปฏิบัติ ซึ่งสอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทยในปัจจุบัน และเป็นที่ต้องการของภาคอุตสาหกรรมและเอกชน รวมถึง มจพ. เน้นการสร้างและพัฒนาหลักสูตรโดยให้มีความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม (University-Industry Partnership) ทุกหลักสูตรของ มจพ. มีการฝึกงาน (Internship) สหกิจศึกษา (Co-operative Education) รวมไปถึงการยกระดับให้เป็นระบบการเรียนรู้ผสมผสานกับการทำงานจริง (Work Integrated Learning : WIL) ซึ่งใช้เวลาอย่างน้อย 1 ภาคการศึกษาหรือมากกว่า เพื่อพัฒนา ส่งเสริม และเชื่อมโยงการจับคู่ความร่วมมือด้านงานวิจัยระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคอุตสาหกรรม เป็นรูปแบบการเชื่อมโยงการทำงานของคณาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษา ร่วมกับภาคอุตสาหกรรม ที่ให้ความสำคัญในการพัฒนางานวิจัยซึ่งครอบคลุมการพัฒนาตัวชี้วัดและกลไกการรับรองงานบริการวิชาการเพื่อสังคม และพัฒนามิติด้านต่างๆ โดย มจพ. มีแผนการพัฒนาเชิงพื้นที่ของทั้ง 2 วิทยาเขต โดยวิทยาเขตปราจีนบุรีมีพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับการจัดการเรียนการสอนและงานวิจัยที่มีสเกลขนาดใหญ่ อาทิ ด้านการซ่อมบำรุงและบริการอากาศยาน (Aircraft Maintenance and Service) และด้านเซรามิก ซึ่งมีพื้นที่สำหรับโรงเตาเผาเซรามิก สำหรับวิทยาเขตระยอง มุ่งเน้นการสร้างมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University) ซึ่งจะเป็น ต้นแบบในการประยุกต์ใช้กับโรงงานให้เป็นโรงงานสีเขียว (Green Industry) ในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) รวมไปถึงการพัฒนากลุ่มวิจัยเฉพาะทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพ และการเป็นศูนย์โลจิสติกส์อัจฉริยะ (Intelligence Logistic Center) กอปรกับมหาวิทยาลัยมีศูนย์วิจัยและฝึกอบรมทรัพยากรมนุษย์อุตสาหกรรม (มาบตาพุด) ในเขตพื้นที่ EEC เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาศักยภาพในการทำงานของบุคลากรในโรงงานโดยการอบรมเพื่อ upskill/reskill ซึ่งเป็นที่ต้องการสูงในปัจจุบัน
ในอนาคตอันใกล้นี้ “KMUTNB Technology Park” จะเป็นศูนย์กลางการวิจัยและการให้บริการวิชาการที่มีความพร้อมด้านทรัพยากรบุคคลในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม อย่างครบวงจร ด้วยทิศทางที่ชัดเจนมีกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน และใช้ ความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมและเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการด้วยหลักการสมัยใหม่
จาก 4 ยุทธศาสตร์สู่เป้าหมายความเป็นเลิศและความยั่งยืน มจพ. ตระหนักถึงแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยใช้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัย ระยะ 20 ปี ครบทุกมิติอย่างรอบด้านเป็นตัวนำการขับเคลื่อน และในปี พ.ศ. 2562 มจพ. ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานที่ทุกๆ ผลงานล้วนแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของนักวิจัย บุคลากร คุณภาพงานวิจัยของ มจพ. ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ได้สร้างสรรค์งานวิจัยให้ก้าวไปสู่ระดับชาติและนานาชาติที่เป็นเลิศอย่างยั่งยืน