ยังคงเป็นที่วิพากษ์กันในวงกว้าง
กับเรื่องที่รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายจักกพันธุ์ ผิวงาม ตัดสินใจไขก๊อกยื่นลาออกจากตำแหน่งอย่างปัจจุบันทันด่วน เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลที่เจ้าตัวได้โพสต์เปิดใจใน FB ไม่ต้องการเข้าไปรับ “เผือกร้อน” เป็นหนังหน้าไฟรับผิดชอบลงนามในสัญญาโครงการเตาเผาขยะ กทม. วงเงินกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท
คล้อยหลังไม่ถึงสัปดาห์ รองผู้ว่าฯ กทม. อีกคน คือ นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ ที่ต้องรับผิดชอบงานแทนนายจักกพันธุ์ก็ได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งตามนายจักกพันธุ์ไปอีกคน เนื่องจากต้องเข้าไปรับหน้าเสื่อรับผิดชอบงานแทน จึงไม่ต้องการตกเป็นแพะ เป็นผู้รับผิดชอบลงนามในสัญญาโครงการดังกล่าว
อย่างที่รับรู้กันดี สาเหตุที่ 2 รองผู้ว่าฯ กทม.ไขก๊อกลาออกจากตำแหน่งอย่างกะทันหันนั้น ก็เนื่องจากไม่ต้องการเข้าไปรับหน้าเสื่อกระเตง “เผือกร้อน” รับผิดชอบและลงนามในสัญญาโครงการเตาเผาขยะ กทม. ขนาด 1,000 ตันต่อวัน ที่หนองแขมและอ่อนนุช มูลค่ารวมกว่า 13,000 ล้านบาท ที่คณะกรรมการพิจารณาผลประมูลได้เสนอขึ้นไปยังผู้ว่า กทม. ผ่านรองผู้ว่าฯ ตามขั้นตอน
ด้วยโครงการดังกล่าวถูกบริษัทเอกชนด้วยกันร้องเรียนว่า ส่อเอื้อประโยชน์ให้เอกชนบางราย และยังอยู่ระหว่างตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ทำให้ทั้งนายจักกพันธุ์และนายทวีศักดิ์ ไม่อยากตกเป็นแพะที่ต้องเอาชีวิตราชการที่เหลือในบั้นปลายไปรับเผือกร้อน
แม้ผู้ว่า กทม. จะยืนยันนั่งยันว่า โครงการดังกล่าวมีความโปร่งใส แต่ก็ให้น่าแปลกใจที่ตนเองกลับโยนเผือกร้อนไปให้รองผู้ว่าฯกทม. ลงนามแทนซะงั้น และแม้จะ 2 รองผู้ว่าฯ จะไขก๊อกเนื่องจากไม่สามารถทนแรงกดดันให้ต้องรับผิดชอบโครงการได้ และจำเป็นต้องตั้งรองผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่เข้ามารับหน้าเสื่อ แต่ พล.ต.อ.อัศวิน ก็ยังคงจะให้รองผู้ว่า กทม. คนใหม่ลงนามในสัญญาโครงการอยู่ดี
ท่ามกลางข้อกังขาจากสังคม หากโครงการดังกล่าวมีความโปร่งใส ไม่มีนอก-ในอะไรแล้ว เหตุใดตัวผู้ว่า กทม. ถึงไม่ลงนามในสัญญาโครงการเสียเองให้รู้แล้วรู้รอด จะโยนเผือกร้อนไปให้คนอื่นดำเนินการแทนทำอะไร!
ไม่เพียงแต่โครงการเตาเผาขยะอื้อฉาว 1.3 หมื่นล้านข้างต้น ที่กำลังงานเข้า อีกโครงการที่กำลังระอุแดดไม่แพ้กัน ที่ผู้ว่า ฯ กทม. ที่กำลังปล้ำผีลุก ปลุกผีนั่ง เร่งทิ้งทวนโครงการก่อนลงจากตำแหน่งนั้นก็คือ โครงการท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดิน ระยะทาง 2,450 กม. มูลค่าโคนงการกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท ที่ กทม. อ้างว่าเป็นการสนองนโยบายการจัดระเบียบสายสื่อสารระโยงระยางให้เป็นระเบียบเพื่อความปลอดภัยของประชาชน และทำให้กรุงเทพเป็นเมืองไร้สายอย่างแท้จริง
แต่ไม่รู้ กทม. ไปทำอีท่าไหนถึงได้เล่นแร่แปรธาตุให้วิสาหกิจของ กทม. คือ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ “เคที” รับหน้าเสื่อดำเนินโครงการแทน ซึ่งแน่นอน หากเคที (KT) เป็นผู้ดำเนินการโครงการดังกล่าวโดยตรงก็คงไม่เป็นเรื่องแน่
แต่ที่มันระอุแดดขึ้นมาก็เพราะ แทนที่บริษัทเคทีจะลงทุนหรือดำเนินโครงการเอง ก็กลับไปประเคนสัมปทานโครงการให้บริษัทสื่อสารยักษ์อย่าง ทรูอินเตอร์เน็ตคอมมินิเคชั่น “กินรวบ” โครงข่ายท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินทั้งหมดไปบริหารทำตลาดถึง 30 ปีไปซะงั้น ทำเอาทั้งบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) และ กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) 2 บริษัทสื่อสารโทรคมนาคมของรัฐที่มีการลงทุนในโครงข่ายท่อร้อยสายสื่อสาร ทั้งบนดิน-ใต้ดินอยู่ด้วย ตลอดจนผู้ให้บริการสายสื่อสารรายอื่น ๆ ร้องแรกแหกกระเชอเรียกร้องให้รัฐ และ กทม. ได้พิจารณาทบทวนกันเป็นการใหญ่
ก่อนจะมีการขุดคุ้ยไส้ในโครงการนี้ ที่มีการเล่นแร่แปรธาตุเปิดให้เอกชนเข้ามา “ชุบมือเปิบ” โครงข่ายท่อร้อยสายสื่อสาร ทั้งที่เป็นอภิมหาโครงการยักษ์ที่ต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) ทุกกระเบียดนิ้ว
และแม้บริษัทสื่อสารโทรคมนาคมที่ให้บริการสายสื่อสาร รวมทั้งทีโอทีและแคท จะออกโรงร้องแรกแหกกระเชอให้รัฐและ กทม. ได้ทบทวนการให้สัมปทานโครงการท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินที่ว่านี้ แต่ดูเหมือนผู้บริหาร กทม. จะไม่อินังขังขอบ ยังคงเดินหน้าเจรจาจัดทำร่างสัญญาโครงการสัมปทานนี้ ที่นัยว่าจะมีมหกรรมทิ้งทวนก่อนผู้ว่าฯ กทม. ก้าวลงจากตำแหน่งแน่
ก็ไม่รู้ว่าท้ายที่สุดแล้ว งานนี้ผู้ว่าฯ อัศวิน จะโยนเผือกร้อนโครงการหลังนี้ไปลงเอยให้รองผู้ว่า กทม. คนใดรับผิดชอบหรือเซ็นสัญญาแทนอีก เพราะโครงการนี้ไม่ว่าจะอย่างไรทั้งทีโอที-แคท และบริษัทสื่อสารที่ต้องถูกมัดมือชกให้ใช้โครงข่ายท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดิน กทม. นั้นก็ไม่ยอมง่าย ๆ และคงร้องแรกแหกกระเชอไปถึง ป.ป.ช. อีกโครงการด้วยแน่
ถ้าจะใฟ้แฟร์ๆ ตัวท่านผู้ว่าฯ กทม. ก็น่าจะเซ็นสัญญาเองเสียให้รู้แล้วรู้แร่ดกันไป ก็ในเมื่อยืนยันนั่งยัน ทุกอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ จะไปกลัวอะไรจริงไหมคร้าบ ท่านผู้ว่าฯ อัศวินที่เคารพ!!!
เนตรทิพย์