5 ทศวรรษแห่งการให้โลหิตที่ยิ่งใหญ่ต่อชีวิตเพื่อนมนุษย์กว่า 50 ล้านคน

0
242

เป็นเวลากว่า 5 ทศวรรษแล้ว ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ดำเนินภารกิจหลักของประเทศในการจัดหาโลหิตเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยมากกว่า 16 ล้านยูนิต และส่งต่อให้ผู้ป่วยมากกว่า 50 ล้านชีวิต เพราะทุกวินาทีมีความต้องการโลหิต เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยในภาวะวิกฤติ และผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับโลหิตเพื่อใช้ในการรักษาอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต        

นาวาโทหญิงแพทย์หญิงอุบลวัณณ์  จรูญเรืองฤทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า  เป็นเวลากว่า 5 ทศวรรษแล้วที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ได้ดำเนินงานบริการโลหิตตอบสนองความต้องการของผู้บริจาคโลหิต ผู้ป่วย รวมไปถึงโรงพยาบาลต่างๆ มีภารกิจโดดเด่นและมีการพัฒนาต่อเนื่อง อย่างเห็นได้ชัดในด้านต่างๆ อาทิ ด้านการรณรงค์จัดหาผู้บริจาคโลหิต  ดำเนินการตามเป้าหมายที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดการจัดหาโลหิตของแต่ละประเทศ ต้องได้มาจากผู้บริจาคโลหิตด้วยความสมัครใจ ไม่หวังสิ่งตอบแทน 100% ให้บรรลุเป้าหมายในปี ค.ศ. 2020 หรือ ปี พ.ศ.2563 ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย จึงได้รณรงค์ประชาสัมพันธ์จัดหาผู้บริจาคโลหิตเชิงรุก โดยใช้กลยุทธ์การจัดหาโลหิตต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถจัดหาโลหิตได้เพิ่มขึ้นตามเป้าหมาย จะเห็นได้ชัดเจนจากตัวเลขการจัดหาโลหิตโดยสภากาชาดไทย ย้อนหลัง 20 ปี จากปี 2542-2561 ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 400,000 ยูนิต เป็น 1.09 ล้านยูนิต ในภาพรวมทั่วประเทศการรับบริจาคโลหิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันในระยะเวลา19 ปี จาก 1.3 ล้านยูนิต เป็น 2.6 ล้านยูนิต ในขณะเดียวกัน ความต้องการโลหิตของผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มได้ขยายศักยภาพการจัดหาโลหิตเพื่อช่วยสนับสนุนโรงพยาบาลในต่างจังหวัดทั่วประเทศ โดยการจัดตั้งภาคบริการโลหิตแห่งชาติ และงานบริการโลหิต ในจังหวัดใหญ่ๆ จำนวน 13 แห่ง ให้เป็นศูนย์กลางการให้บริการโลหิตแบบครบวงจร และเป็นมาตรฐานเดียวกันกับศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ  และมีการขยายการรับบริจาคโลหิตไปยังจังหวัดใกล้เคียง สนับสนุนการจัดหาโลหิตให้แก่สาขาบริการโลหิต โรงพยาบาลในเครือข่ายเพิ่มมากขึ้น

             นอกจากการจัดหาโลหิตแล้ว ยังมีการพัฒนางานด้านต่างๆ อาทิ

ด้านการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี

การตรวจคัดกรองโลหิตบริจาค จากเทคโนโลยีด้านงานบริการโลหิต ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จึงมีการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ขึ้นอย่างมากมายเพื่อความปลอดภัยสูงสุดของโลหิตก่อนส่งต่อไปยังผู้ป่วย  อาทิ การตรวจคัดกรองโลหิตบริจาคแบบรวมศูนย์ (Centralized Blood Screening) โลหิตบริจาคทุกยูนิตจะได้รับการตรวจคัดกรองทางห้องปฏิบัติการ ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ประกอบด้วย การตรวจหมู่โลหิต ระบบ ABO และ Rh การตรวจคัดกรองแอนติบอดีต่อเม็ดโลหิตแดง และตรวจหาร่องรอยเชื้อที่สามารถติดต่อทางโลหิต ก่อนนำไปให้ผู้ป่วย ได้แก่ เชื้อไวรัสตับอักเสบ บี เชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี เชื้อเอชไอวี และซิฟิลิส มี 2 วิธีร่วมกัน วิธีที่ 1 การตรวจ Serology คือ การตรวจหาโปรตีนของเชื้อโรคและตรวจหาภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้น เพื่อต่อต้านเชื้อโดยวิธีน้ำเหลืองวิทยา  และ วิธีที่ 2 การตรวจหาสารพันธุกรรม ( RNA และ DNA) โดยวิธี Nucleic Acid Testing (NAT) เป็นวิธีทดสอบหาเชื้อเอชไอวี  โดยการเพิ่มขยายยีน หรือพันธุกรรม ซึ่งเป็นเทคนิคที่มีความไวมากในการตรวจหาเชื้อ ซึ่งเป็นประโยชน์ช่วยในการวินิจฉัย ผู้ติดเชื้อในระยะที่ตรวจไม่พบ โดยมีวิธีตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งการตรวจวิธีนี้เป็นการตรวจที่เป็นมาตรฐานเดียวกันกับทั้งอเมริกา และยุโรป

ด้านการผลิต

  • จัดตั้งศูนย์ผลิตผลิตภัณฑ์จากพลาสมาขึ้นเป็นแห่งแรกในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่ ณ ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี มีการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์เป็นไปตามเภสัชตำรับของยุโรป (European Pharmacopeia) ได้รับการรับรองมาตรฐานตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต (GMP) และได้รับการขึ้นทะเบียนยาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข มีกำลังการผลิตพลาสมาสูงถึง 200,000 ลิตรต่อปี  โดยนำพลาสมาที่ได้รับบริจาค ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ยา 3 ชนิด คือ Albumin, IVIG และ Factor VIII เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยด้วยโรครุนแรงและเรื้อรังต่างๆ ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาที่ที่มีคุณภาพได้มาตรฐานสากล 
  • การผลิตถุงบรรจุโลหิตระบบดิจิทัลที่ทันสมัย เรียกว่า Quadruple blood bag top & bottom system เครื่องเชื่อมถุงบรรจุโลหิตอัตโนมัติ สามารถเพิ่มกำลังการผลิตถุงบรรจุโลหิตจากเดิม ผลิตได้ประมาณ 350 ใบต่อชั่วโมง    เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า คือ ประมาณ 700 ใบต่อชั่วโมง สามารถสนับสนุนถุงบรรจุโลหิตให้กับศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ และภาคบริการโลหิตแห่งชาติ ทั่วประเทศ  
  • การผลิตน้ำยาตรวจหมู่โลหิต โดยมีการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และพัฒนาการผลิตน้ำยาตรวจหมู่โลหิตระบบ เอบีโอ และระบบอื่นๆ ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเซลล์  ที่เรียกว่า Hybridoma techique  และได้ทดลองวิจัยการผลิต โมโนโคลนัล แอนติบอดี (MoAb) ผลิตน้ำยาตรวจหมู่โลหิตต่างๆ ได้สำเร็จ เป็นแห่งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  และสามารถผลิตผลิตภัณฑ์เซลล์มาตรฐานสำหรับห้องปฏิบัติการธนาคารเลือด ได้สำเร็จเป็นแห่งเดียวในภูมิภาคเอเชีย      
  • การผลิตเซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า (HRIG)  และเซรุ่มป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ บี (HBIG) เป็นการนำพลาสมาจากการบริจาคโดยตรงผ่านเครื่องแยกส่วนโลหิตอัตโนมัติ นำมาผลิตเป็นเซรุ่ม โดยผู้บริจาคต้องได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้นสร้างภูมิก่อนบริจาค และต้องเข้าโครงการฯ อย่างน้อย 3 ปี และได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้นอย่างสม่ำเสมอทุก 3 เดือน

ด้านการให้บริการเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต หรือ Stem Cell 

ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ  ได้รับมอบหมายจากแพทยสภาให้ทำหน้าที่จัดหาอาสาสมัครผู้บริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตที่ไม่ใช่ญาติให้แก่ผู้ป่วย  เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2545 เพื่อเป็นศูนย์กลางการลงทะเบียนผู้บริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตที่ไม่ใช่ญาติ และตรวจคัดกรองเนื้อเยื่อ HLA  เพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตเพิ่มมากขึ้นในอนาคต และได้รับการรับรองจาก The World Marrow Donor Association (WMDA) ให้เป็นองค์กรที่สามารถดำเนินงานด้านคุณภาพในการจัดหาผู้บริจาคสเต็มเซลล์ จนประสบความสำเร็จมีผู้ลงทะเบียนเพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบันมีอาสาสมัครลงทะเบียนบริจาค Stem Cell จำนวน 241,238  มีจำนวนผู้ป่วยขึ้นทะเบียนรอการปลูกถ่าย Stem Cell จำนวน 1,941 ราย  และมีจำนวนผู้บริจาค Stem Cell ให้ผู้ป่วย จำนวน 321 ราย

ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ 

การนำระบบสารสนเทศ  Hematos IIG (H2G) ที่มีความทันสมัยมาใช้ในงานบริการโลหิต โดยได้รับการพัฒนาจากสภากาชาดประเทศฝรั่งเศส  เป็นฐานข้อมูลแบบรวมที่ส่วนกลาง เริ่มที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ภาคบริการโลหิตแห่งชาติทั้ง 12 แห่ง  งานบริการโลหิต สถานีกาชาดหัวหินเฉลิมพระเกียรติ และศูนย์ผลิตผลิตภัณฑ์จากพลาสมา  เพื่อรองรับงานบริการโลหิตในหลากหลายมิติ อาทิ การวางแผนการรับบริจาคโลหิต การลงทะเบียนรับบริจาคโลหิต การตรวจสอบประวัติและคัดกรองผู้บริจาคโลหิต การลงทะเบียนอาสาสมัครบริจาคสเต็มเซลล์ การตรวจคัดกรองโลหิต  การเตรียมส่วนประกอบโลหิต การผลิตผลิตภัณฑ์โลหิต การควบคุมคุณภาพ การจ่ายโลหิตและส่วนประกอบโลหิต เป็นต้น   

จากผลสำเร็จของการดำเนินภารกิจตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมาและเป็นต้นแบบการดำเนินงานบริการโลหิตของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ  จึงได้รับการแต่งตั้งจากองค์การอนามัยโลก ให้เป็นศูนย์ฝึกอบรมด้านเวชศาสตร์บริการโลหิตประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (WHO Collaborating Centre for Training in Blood Transfu­sion Medicine)  ตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ.2547 อย่างต่อเนื่องจวบจนถึงปัจจุบัน

ในโอกาสวาระ 50 ปี หรือ 5 ทศวรรษ แห่งการสถาปนาศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ในวันที่  13 ตุลาคม พ.ศ. 2562  พร้อมแล้วที่จะเดินหน้าขับเคลื่อนการดำเนินงานบริการโลหิตมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นเลิศทางด้านวิชาการ เทคโนโลยี และนวัตกรรม  ในอนาคตได้วางแผนการดำเนินงานที่สำคัญทั้งในด้านของการจัดหาโลหิต จะต้องรณรงค์กลุ่มเยาวชน คนรุ่นใหม่ให้เกิดความตระหนักว่าการบริจาคโลหิตเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบต่อสังคม  มีการนำ Social Media ที่ทันสมัยมาใช้ในการสื่อสารเพื่อให้เข้าถึงและตอบสนองความต้องการของผู้บริจาคโลหิตเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันต้องพัฒนาการให้บริการควบคู่กันไป ทั้งในด้านของการให้บริการมีการพัฒนาหลักสูตรกระบวนการเจาะเก็บโลหิต ร่วมกับ ราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทย เน้นหน้าที่ของพยาบาลวิชาชีพในระดับการกำกับดูแลและด้านวิชาการ และด้านเทคโนโลยี จะมีการนำเครื่องอัตโนมัติที่มีประสิทธิภาพ คุณภาพ ความแม่นยำสูงสุด และการใช้น้ำยาตรวจวิเคราะห์ที่ดีที่สุด เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของโลหิตที่จะนำไปใช้กับผู้ป่วย