หนังม้วนยาว?กลุ่มขนส่งฯเปิดศึกสตช.ปมกม.จราจรฯใหม่

0
349

กลายเป็นประเด็นร้อนฉ่ากระแทกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.)อย่างจังหลัง“สหพันธ์ขนส่งฯ”ผนึกกำลัง 10 สมาคมขนส่งฯ ประกาศกร้าวค้านหัวชนฝาพระราชบัญญัติจราจร (ฉบับที่ 12 ) พ.ศ. 2562ที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 22 พ.ค.62 ก่อนจะมีผลบังคับใช้ 20 ก.ย.ศกนี้

โดยกลุ่มสหพันธ์ขนส่งฯ อ้างไม่ผ่านประชาพิจารณ์ ไม่เห็นด้วยอย่างแรงในหลายมาตรา ทั้งกรณีใบสั่งจราจรทางบกทวีคูณระวังถูกปรับ 5 เท่า กระทบผู้ประกอบการขนส่งเป็นวงกว้างขยี้ซ้ำออกกฎหมายเพื่อเอื้อ “ค่าปรับ”ให้แก่เจ้าพนักงานจราจ

เดินเกมรุกล่า 5 หมื่นรายชื่อตบเท้าคัดค้านเสนอนายกรัฐมนตรีในวันที่ 15 มิ.ย. ขู่หากยังเมินเฉยพร้อมยกระดับการคัดค้านด้วย 4 มาตรการเข้มตามลำดับ เบาสุดหยุดวิ่งให้บริการ 3 วัน แรงสุดหยุดวิ่งรถบรรทุกขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง 3-7 วัน

สหพันธ์ขนส่งฯจวกสตช.เละ!

คุณอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยประมุขสิบล้อไทยกับบทบาทหัวหมู่ทะลวงฟันออกโรงจวกสตช.อย่างหนักหน่วงว่าการออกกฎหมายครั้งนี้ไม่ผ่านการจัดทำประชาพิจารณ์ สหพันธ์ฯ ถือเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากกฎหมายดังกล่าว อีกทั้งในหลายมาตราได้สร้างความเดือดร้อนกับผู้ประกอบการขนส่งเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะบทโทษปรับที่จะสูงขึ้น 5 เท่าด้วย

“กฎหมายฉบับนี้เป็นการให้อำนาจเจ้าพนักงานตำรวจในการจับและตรวจสอบการขับขี่และออกคำสั่งว่ากระทำความผิดกฎหมายจราจรและคำสั่งเป็นที่สุด ไม่สามารถต่อสู้คดีต่อศาลได้ตามหลักสากล อีกทั้งยังเสนอให้ยกเลิกรางวัลนำจับค่าปรับอย่างสิ้นเชิง เพราะนี้คือต้นตอจูงใจให้มีการตั้งด่านทั่วบ้านทั่วเมือง นี้ เราอดทนและอัดอั้นมานานแล้ว สตช.ไม่ได้เห็นความสำคัญผู้ประกอบการขนส่ง ที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ของประเทศ กลุ่มสมาชิกสหพันธ์ฯจะเดินหน้าคัดค้านสุดกำลัง”

ประธานสหพันธ์ขนส่งฯระบุอีกว่าวันที่ 15 มิ.ย.นี้ ตนเตรียมยื่นข้อเสนอพร้อมรายชื่อจากสมาชิกของสหพันธ์ฯ รวมกว่า 5 หมื่นรายชื่อคัดค้าน พ.ร.บ.จราจรฯฉบับนี้ต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายในบางมาตราก่อนที่จะมีผลบังคับใช้

“หลังการไปยื่นข้อเสนอและรายชื่อคัดค้านดังกล่าวแล้ว หากยังไม่มีการตอบรับหรือยังเพิกเฉย ที่ประชุมสหพันธ์ฯ พร้อมยกระดับการคัดค้านด้วยมาตรการเข้ม4 ระดับ คือ ระดับ 1 รถบรรทุกทั้งหมดที่เป็นสมาชิกสหพันธ์ฯจะหยุดวิ่งให้บริการ 3 วัน, ระดับ 2 จะหยุดวิ่งรถบรรทุกขนส่งวัสดุก่อสร้าง 3 วันระดับ 3 จะหยุดวิ่งรถบรรทุกขนส่งสินค้าอุปโภค-บริโภคไปยังห้างสรรพสินค้าและร้านค้าต่างๆ 3 วัน และระดับ 4 จะหยุดวิ่งรถบรรทุกขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง 3-7 วัน”

อย่างไรก็ตาม ประธานสหพันธ์ฯยืนยันจะไม่มีการปิดถนนอย่างเช่นที่ผ่านมา และไม่ได้เป็นการกระทำผิดกฎหมายอย่างแน่นอน แต่เป็นการดำเนินการให้ได้รับทราบถึงความเดือดร้อนของผู้ประกอบการเท่านั้น

สตช.ตอกกลับสหพันธ์ฯ ยัน“ร่างกม.ถูกต้องทุกขั้นตอน

ขณะที่สตช.ก็ออกโรงตอกกลับสหพันธ์ฯทันควัน แจงยิบพ.ร.บ.จราจรฯ ใหม่ผ่านร่างกฎหมายอย่างถูกต้องตามขั้นตอน ชี้แก้โทษปรับให้สูงขึ้น 5 เท่า แท้จริงปรับผู้ขับขี่เท่าเดิมที่เปลี่ยนคือโทษปรับนิติบุคคล ยันกม.ฉบับนี้ผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวสามารถปฏิเสธข้อหา และไปต่อสู้คดีในชั้นศาลได้ตามเดิม

โดยพล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ หนึ่งในคณะทำงานแก้ไขกฎหมายจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) เปิดเผยว่า ว่าประเด็นแรกยืนยันกฎหมายฉบับนี้ผ่านการทำประชาพิจารณ์และรับฟังความเห็นจากประชาชนโดยตรงกว่า 500 คน ความเห็นจากสื่อมวลชนและทางเว็บไซต์ของสตช. อีกทั้งยังมีการผ่านร่างกฎหมายอย่างถูกต้องตามขั้นตอน ทั้งให้คณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อแก้ไขให้กฎหมายคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ให้ประชาชนได้รับความปลอดภัย ไม่ใช่คุ้มครองเฉพาะกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

ส่วนประเด็นที่สหพันธ์การขนส่งฯ ไม่เห็นด้วยเรื่องที่แก้โทษปรับให้สูงขึ้น 5 เท่านั้นพล.ต.ต.เอกรักษ์ ชี้แจงว่าจริง ๆ แล้วโทษปรับของผู้ขับขี่ยังคงเท่าเดิม แต่ที่เปลี่ยนคือโทษปรับของนิติบุคคล คือเมื่อรถในสังกัดของบริษัททำผิดกฎจราจรได้รับใบสั่ง บริษัทต้องแจ้งชื่อผู้ขับรถให้เจ้าหน้าที่ทราบภายใน 30 วัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ไปออกใบสั่งใหม่กับบุคคลที่กระทำความผิด มิฉะนั้นบริษัทจะมีโทษปรับ 5 เท่า

“มันเป็นความรับผิดชอบต่อสังคม เพราะมิฉะนั้นรถของบริษัทหรือองค์กรใดก็ตามที่เป็นนิติบุคคลกระทำผิดกม.จราจรแล้วลงโทษไม่ได้  ก็จะให้เกิดอันตรายกับบุคคลในทางสาธารณะ บทบัญญัตินี้จึงเพิ่มความรับผิดชอบของนิติบุคคลว่ามีหน้าที่ต้องดูแลรถของตัวเอง เมื่อมีการกระทำผิดเกิดขึ้นต้องแจ้งต่อรัฐว่าใครคือผู้กระทำความผิด ถ้าไม่แจ้งจึงจะเป็นความผิดที่จะถูกปรับเป็น 5 เท่าถ้าเกิดคุณมีความรับผิดชอบแล้วแจ้งว่าใครเป็นผู้กระทำความผิดก็จบแล้ว คนขับของบริษัทเอารถไปขับแล้วไปทำผิดกม.อะไรบริษัทต้องรับรู้และรับผิดชอบต่อสังคม” 

ส่วนประเด็นที่อ้างว่ากฎหมายให้อำนาจตำรวจจับและออกคำสั่งว่าทำผิดกฎหมายเป็นที่สุด ไม่สามารถต่อสู้คดีต่อศาลได้ตามหลักสากลนั้น พล.ต.ต.เอกรักษ์ ยืนยันว่าไม่จริง กฎหมายฉบับนี้ผู้ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหายังสามารถปฏิเสธข้อหา และไปต่อสู้คดีในชั้นศาลได้ตามเดิม รวมถึงสามารถร้องเรียนเจ้าพนักงานได้ หากถูกแจ้งข้อหาโดยไม่เป็นธรรมด้วย

เป็นที่น่าสังเกตว่าทางสตช.ได้ชี้แจงเกือบทุกประเด็นร้อนยกเว้นปม “รางวัลนำจับ”ทั้งที่ก่อนหน้านี้สตช.ย้ำหนักย้ำหนาจะยกเลิกในกม.จราจรฯฉบับแก้ไขนี้ เพื่อลบล้างข้อครหาของสังคม

สตช.จ่อยกเลิกรางวัลนำจับ เปลี่ยนให้ค่าโอทีแทน

จากนั้นไม่ถึงสัปดาห์กับปมร้อนรางวับนำจับที่กลุ่มขนส่งรุมจวกหนักพล.ต.ต.เอกรักษ์ทนกระแสสังคมไม่ไหวต้องออกโรงแจงอีกครั้งว่าตามที่ สตช. มีแนวคิดที่จะยกเลิกเงินรางวัลค่าปรับ พ.ร.บ.จราจรทางบก ที่ผ่านมาคณะทำงานฯได้ศึกษารายละเอียดและหลักเกณฑ์ เพื่อให้เป็นไปตามที่กรมบัญชีกลางและได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานย่อยเพื่อศึกษาแนวทางการจัดสรรเงินรางวัลค่าปรับจาก พ.ร.บ.จราจรทางบก 2522 และการนำเงินรางวัลค่าปรับมาเป็นค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานด้านการจราจร

“ที่ผ่านมาคณะทำงานฯไม่นิ่งนอนใจได้ดำเนินการศึกษาเพื่อหาแนวทางและรูปแบบการยกเลิกเงินรางวัลค่าปรับ พร้อมหาแนวทางการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและข้อบังคับกระทรวงการคลังที่เกี่ยวกับการหักเงินรางวัลค่าปรับไว้ใช้จ่ายในการดำเนินการเกี่ยวกับจราจรเพื่อเป็นไปตามตัวบทกฎหมาย”

พล.ต.ต.เอกรักษ์แจงอีกว่าการยกเลิกรางวัลนำจับโดยคิดค่าตอบเป็นค่าล่วงเวลา (โอที) แทนในอัตราชั่วโมงละ 50 บาท โดยตามระเบียบจะให้โอทีได้ไม่เกินวันละไม่เกิน 4 ชั่วโมง รวมเป็นเงินโอทีต่อเดือนสูงสุดไม่เกิน 7,400 บาท จากเดิมที่ให้การให้เงินรางวัลค่าปรับแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและฝ่ายอำนวยการที่ชั้นยศไม่เกินพันตำรวจโท ได้ไม่เกิน 10,000 ต่อคนต่อเดือน 

“ส่วนการส่งเงินค่าปรับยังคงส่งให้ท้องถิ่นร้อยละ 50 และส่งให้เป็นเงินรายได้แผ่นดินร้อยละ 5 ส่วนที่เหลือจากเดิมที่เป็นเงินรางวัลของเจ้าหน้าที่ก็จะปรับมาเป็นส่งให้คลังแล้วขอจัดสรรคืนมาเพื่อใช้งานในเรื่องการบริหารจัดการงานจราจรทั่วประเทศ ซึ่งจะต้องพิจารณาก่อนว่ามีการตั้งเป็นกองทุนหรือหรือในรูปแบบใดที่เหมาะสม แนวทางดังกล่าวยังจะต้องรอคณะทำงานสรุปและพิจารณาเห็นชอบในหลักการอีกครั้ง ซึ่งรายละเอียดที่ได้ศึกษาไว้จะนำเข้าที่ประชุมในวันที่ 7 มิ.ย.นี้” 

“รางวัลนำจับ” อ้อยเข้าปากช้าง!

เป็นที่จับตาอย่างมากสำหรับประเด็นร้อนรางวัลนำจับสุดท้ายแล้วจะออกมาในรูปแบบใด ถึงกระนั้น สตช.ก็ยังเป็นเป้าถูกโจมตีอยู่วันยังค่ำ หากคลี่ดูไส้ในรายละเอียดสูตรการยกเลิกรางวัลนำจับของสตช. แม้จะดั๊นเมฆคิดค่าตอบเป็นค่าล่วงเวลา (โอที) แทนก็ตาม

“ทว่า การสัดส่วนการส่งเงินค่าปรับ 100 %แม้สตช.อ้างยังคงส่งให้ท้องถิ่นร้อยละ 50 และส่งให้เป็นเงินรายได้แผ่นดินร้อยละ 5 ส่วนที่เหลือจากเดิมที่เป็นเงินรางวัลของเจ้าหน้าที่ก็จะปรับมาเป็นการส่งให้คลังแล้วขอจัดสรรคืนมาเพื่อใช้งานในเรื่องการบริหารจัดการงานจราจรทั่วประเทศในรูปแบบกองทุนหรืออื่นๆ หรือในรูปแบบใดที่เหมาะสม”

นั้นหมายความว่าสัดส่วนเงินรางวัลนำจับที่ถูกสังคมครหาอย่างหนักหน่วงก็ไม่ได้ถูกยกเลิกไปแต่อย่างใด เพียงแค่ถูกเล่นแร่แปรธาตุนำส่งเข้าคลังแล้วขอจัดสรรคืนมาใช้ประโยชน์แปรสภาพในรูปแบบอื่นๆ(เท่านั้นเอง)

แล้วแรงจูงใจในการตั้งด่านเพื่อหวังเงินรางวัลค่าปรับ….ก็มิได้จางหายไปไหนเลย?

หวยออกแบบนี้มันก็ไม่ต่างอะไรกับการยื่น “อ้อยเข้าปากช้าง”ไปแล้วเป็นการยากจะได้คืน เพราะนี้คือ“ขุมทรัพย์”ที่เจ้าหน้ารัฐในยูนิฟอร์มผู้พิทักษ์สันติราษฎร์น้ำเลวบางคนบางกลุ่ม ทำมาหารับประทานบนความเดือดร้อนประชาชนจนพุงกลาง

มาเฟียสิบล้อ-กฎหมู่เหนือกม.?

การที่กลุ่มขนส่งฯได้ผนึกกำลังคัดค้านกม.จราจรฯใหม่นี้ อีกหนึ่งมุมมองของสังคมอาจมองในแง่งบว่าเป็น“มาเฟียสิบล้อ” ปลุกระดมมวลสมาชิกในสายอาชีพเดียวกันหวังปกป้องผลประโยชน์ตนเองและพวกพ้องหรือไม่?

ทั้งที่กม.ฉบับนี้หลัง 20 ก.ย.62ก็มีผลบังคับใช้กับประชาชนทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย หาใช่เจาะจงเฉพาะกลุ่มขนส่งฯไม่!

“หากมองอีกมุมกลุ่มขนส่งฯถือเป็นกลุ่ม Target ที่เจ้าหน้าที่รัฐน้ำเลวหมายตาหวังเรียก “ค่าน้ำร้อนน้ำชา”ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีรถบรรทุกมีหลายช่องว่างและสุ่มเสี่ยงอย่างมากที่จะเข้าข่ายผิดกม.จราจรฯทั้งในแง่พฤติกรรมคนขับ รวมถึงมิติตัวรถ พิกัดความเร็ว น้ำหนักบรรทุก ข้อกำหนด-บังคับต่างๆที่ผูกโยงด้วยตัวบทกฎหมายค่อนข้างมากกว่ารถประเภทอื่นๆ”

จึงเป็นช่องโหว่ให้เจ้าหน้าที่รัฐในคราบโจรบางคนบางกลุ่มเรียกผลประโยชน์จากพวกเขา!?

ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่พวกเขาจะรวมตัวคัดค้านในบางข้อบังคับที่พวกเขาถูกกดขี่มานานจนอดทนและอดกลั้นไม่ไหว เพื่อทวงความชอบธรรมตามกรอบที่พวกเขาสามารถทำได้ อีกทั้งยังสะท้อนอีกมุมที่สังคมอาจมองข้าม

ทว่า การเปิดศึกกับสตช.ของกลุ่มขนส่งฯครั้งนี้ จะเสียงดังพอก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและแก้ไขตามความคาดหวังและเจตนารมณ์ของพวกเขาหรือไม่ ?หรือจะแค่ “ไฟไหม้ฟาง”?

เส้นทางการต่อสู้จากนี้ภายหลัง 15 มิ.ย.เป็นต้นไป หากภาครัฐ-สตช.ยังเพิกเฉย กลุ่มขนส่งฯจะยกระดับความเข้มข้นการคัดค้านให้สูงขึ้นตามคำขู่เอาไว้หรือไม่?หรือสุดท้ายแล้วต้องก้มหน้าก้มตารับชะตากรรมและยอมปฏิบัติตามเฉกเช่นประชาชนกลุ่มอื่นๆทั้งประเทศ ?

…หรืออาจเป็นหนังม้วนยาว!?