กทพ.ก้าวสู่ปีที่ 45 มุ่งมั่นพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษเพื่อแก้ไขปัญหาจราจร-ลดการสูญเสียเชื้อเพลิง-เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม

0
328

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ก้าวสู่ปีที่ 45 มุ่งมั่นพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษ เพื่อแก้ไขปัญหาจราจร ลดการสูญเสียพลังงานและน้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างสรรค์และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติต่อไป
พลเอก วิวรรธน์ สุชาติ ประธานกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นประธานในงานวันคล้ายวันก่อตั้ง กทพ. ครบรอบปีที่ 44 เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2559 ที่ผ่่านมา โดยมี นายณรงค์ เขียดเดช ผู้ว่าการ กทพ. ผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้าง กทพ. ร่วมให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุม 2301 สำนักงาน กทพ. จตุจักร
นายณรงค์ เขียดเดช ผู้ว่าการ กทพ. กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 44 ปีที่ผ่านมา กทพ. ได้มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงจังหวัดในภูมิภาค ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้สอดคล้อง กับนโยบายของรัฐบาลที่พัฒนาเครือข่ายระบบทางพิเศษให้เชื่อมโยงกันอย่างบูรณาการ เพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางของประชาชน โดยได้เปิดให้บริการทางพิเศษแล้ว จำนวน 7 สายทาง 4 เชื่อมต่อ ได้แก่ ทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทางพิเศษศรีรัช ทางพิเศษฉลองรัช ทางพิเศษอุดรรัถยา ทางพิเศษบูรพาวิถี ทางพิเศษสายบางนา – อาจณรงค์ (S1) ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี – สุขสวัสดิ์) ทางยกระดับด้านทิศใต้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเชื่อมทางพิเศษบูรพาวิถี ทางเชื่อมต่อทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี – สุขสวัสดิ์) กับทางพิเศษบูรพาวิถี ทางเชื่อมต่อเฉลิมราชดำริ 84 พรรษา และทางเชื่อมต่อทางพิเศษศรีรัช (อโศก – ศรีนครินทร์) กับถนนจตุรทิศช่วง ค. และได้ขยายโครงข่ายทางพิเศษเชื่อมโยงพื้นที่กรุงเทพมหานครด้านตะวันตกเข้าสู่เมืองด้วยโครงการทางพิเศษสายศรีรัช – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ระยะทาง 16.7 กิโลเมตร ซึ่งได้เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2559 รวมระยะทางทางพิเศษที่เปิดให้บริการแล้วทั้งสิ้น 224.6 กิโลเมตร ปัจจุบันมีผู้ใช้ทางพิเศษเฉลี่ยวันละมากกว่า 1.8 ล้านเที่ยว สูงสุดวันละ 2.1 ล้านเที่ยว และมียอดผู้ใช้บัตร Easy Pass มากกว่า 1.2 ล้านบัตร ทั้งนี้ กทพ. ได้ร่วมกับกรมทางหลวงพัฒนาระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติ (Electronic Toll Collection System : ETCS) เพื่อให้บัตร Easy Pass สามารถใช้ร่วมกับระบบบัตร M-Pass ของทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และ 9 ของกรมทางหลวง โดยเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อเวลา 24.00 น. ของวันที่ 31 ตุลาคม 2559 ทำให้ผู้ใช้ทางได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้น
สำหรับในรอบปีที่ผ่านมา กทพ. ได้ดำเนินงานสำคัญ สรุปได้ดังนี้
1. โครงการเร่งด่วนที่อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 4 โครงการ ได้แก่ โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 ช่วงจากแยกเกษตรศาสตร์เชื่อมต่อกับทางพิเศษฉลองรัชและทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 โครงการปรับปรุงทางเชื่อมต่อทางพิเศษสายศรีรัช – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร และโครงการทางพิเศษสายกะทู้ – ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต
2. โครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม จำนวน 4 โครงการ ได้แก่ โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช – นครนายก – สระบุรี โครงการทางพิเศษอุดรรัถยา – พระนครศรีอยุธยา โครงการทางพิเศษในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดขอนแก่น รวมทั้งวางแผนดำเนินโครงการทางพิเศษเพื่อรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ และเตรียมความพร้อมการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ของรัฐบาล
3. การดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม กทพ. ได้มอบพื้นที่ในเขตทางพิเศษ เพื่อสาธารณประโยชน์มากกว่า 300,000 ตารางวา อาทิ มอบพื้นที่ใต้ทางพิเศษอุรุพงษ์ให้กับสำนักราชเลขาธิการเพื่อจัดสร้างลานกีฬาพัฒน์ มอบพื้นที่ใต้ทางพิเศษฉลองรัช บริเวณรามอินทราให้กับกระทรวงมหาดไทยเพื่อจัดทำศูนย์กระจายสินค้า OTOP เป็นต้น ส่งเสริมการศึกษาของเยาวชน ด้วยการมอบทุนการศึกษาและอุปกรณ์การเรียนในโครงการจักรยานเพื่อเด็กไทยจากใจ กทพ. โครงการทางด่วนเพื่อเยาวชน และโครงการแบ่งปันรอยยิ้มแด่น้องริมทางด่วน การช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติด้วยการจัดโครงการทางพิเศษคู่ใจสู้ภัยหนาว และการดูแลสิ่งแวดล้อม ด้วยการจัดโครงการให้พนักงานและผู้ใช้บริการทางพิเศษร่วมกันทำกิจกรรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประจำทุกปี