นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่ากระทรวงคมนาคมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติการจัดทำและลงนามร่างบันทึกความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟระหว่างหนองคาย – เวียงจันทน์ พร้อมทั้งอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามฝ่ายไทย ในการประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ (Belt and Road Forum for International Cooperation) ครั้งที่ 2 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 – 27 เมษายน 2562 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
ทั้งนี้ ร่างบันทึกความร่วมมือฯ ดังกล่าว มีสาระสำคัญที่เกี่ยวกับการเชื่อมต่อโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน และโครงการรถไฟระหว่างจีน – ลาว จะเป็นการสนับสนุนการเชื่อมโยงด้านระบบรางในภูมิภาค ส่วนทางรถไฟขนาดทางมาตรฐาน (Standard gauge) ของโครงการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟระหว่างหนองคาย – เวียงจันทน์ จะใช้มาตรฐานทางเทคนิครถไฟของจีน โดยจะมีการสร้างสะพานรถไฟแห่งใหม่ ซึ่งจะตั้งอยู่ทางด้านท้ายน้ำของสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย – เวียงจันทน์) และจะมีทางรถไฟทั้งขนาดทางมาตรฐานและขนาดทาง 1 เมตร
ขณะที่พิธีการศุลกากรและสิ่งอำนวยความสะดวกบริเวณชายแดนจะตั้งอยู่ทั้งในบริเวณายแดนของฝั่งไทยและฝั่งลาว โดยจะมีการพิจารณาความเป็นไปได้ในการลดขั้นตอนพิธีการศุลกากรบริเวณชายแดน
2.4 กำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จของโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน และโครงการรถไฟจีน – ลาว ไม่ตรงกัน จึงมีการแบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ระยะ คือระยะที่ 1 จะพิจารณาให้จัดตั้งสถานีท่าและสถานีเปลี่ยนถ่ายสินค้าทั้งในฝั่งไทยและฝั่งลาว เพื่อเชื่อมต่อโครงการรถไฟจีน – ลาว มายังโครงข่ายรถไฟขนาดทาง 1 เมตรที่มีอยู่ของประเทศไทย ระยะที่ 2 โครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย จะเชื่อมต่อกับสถานีดังกล่าวตามระยะที่ 1 เพื่อเชื่อมต่อโครงการรถไฟจีน – ลาว และโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน
นอกจากนี้ ไทยและลาวจะดำเนินการตามกระบวนการภายในเพื่อขอความเห็นชอบในการก่อสร้างเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างหนองคาย – เวียงจันทน์ ของแต่ละฝ่ายโดยเร็ว และจะพยายามให้การก่อสร้างโครงการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟระหว่างหนองคาย – เวียงจันทน์ แล้วเสร็จในช่วงเวลาเดียวกับโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย โดยฝ่ายจีนจะเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินโครงการเชื่อมต่อฯ ในงานที่เกี่ยวข้องตามที่ไทยและลาวเห็นชอบและเป็นไปตามขั้นตอนภายในของประเทศตน และอาจพิจารณาจัดให้มีการประชุมประสานงานสามฝ่าย เพื่อแก้ไขประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการดำเนินโครงการเชื่อมต่อฯ และโครงการเชื่อมต่อฯนี้จะไม่กระทบสิทธิของไทยและลาว เกี่ยวกับเขตแดนของทั้งสองประเทศตามกฎหมายระหว่างประเทศ