ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดฯ จัดพิธีบำเพ็ญกุศล ให้แก่ผู้เสียชีวิตที่บริจาคอวัยวะ

0
191

ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย ได้ดำเนินงานมาเป็นเวลาถึง 25 ปี โดยมีนโยบายหลักในการส่งเสริมให้มีการบริจาคอวัยวะให้มากเพียงพอต่อการปลูกถ่ายอวัยวะภายในประเทศ จัดสรรอวัยวะที่ได้รับบริจาคอย่างเป็นกลาง เสมอภาค โดยไม่มีการซื้อขายอวัยวะ และนำอวัยวะที่ได้รับบริจาคไปใช้ให้ได้รับประโยชน์สูงสุด

นายแพทย์วิศิษฏ์ ฐิตวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย กล่าวว่า ปัจจุบันการรักษาผู้ป่วยอวัยวะหัวใจ ปอด ตับ และไต เสื่อมสภาพนั้น การปลูกถ่ายอวัยวะเป็นการเพิ่มโอกาสและอัตราการรอดชีวิตให้กับผู้ป่วย ที่เปรียบเสมือนการได้ชีวิตใหม่ “การปลูกถ่ายอวัยวะ” เป็นการรักษาทางการแพทย์ที่แตกต่างจากการรักษาประเภทอื่น เนื่องจากอวัยวะที่จะนำมาปลูกถ่ายทดแทนอวัยวะเดิมของผู้ป่วย ยังไม่สามารถสังเคราะห์ขึ้นมาได้ เราต้องเสาะหาอวัยวะเหล่านั้นจากผู้ป่วยที่เสียชีวิต  โดยอวัยวะที่จะนำมาเปลี่ยนให้ผู้ป่วยนั้น ต้องได้มาจาก 2 กลุ่มคือ กลุ่มผู้บริจาคที่มีชีวิต โดยอวัยวะที่สามารถบริจาคได้คือ ไต และตับ ผู้บริจาคกลุ่มนี้ได้ต้องเป็นญาติ หรือสามี ภรรยาที่อยู่กินกันเปิดเผยอย่างน้อย 3 ปี  ของผู้รับอวัยวะเท่านั้น หากผู้รออวัยวะไม่มีญาติที่สามารถบริจาคอวัยวะให้กันได้ เช่น อวัยวะเข้ากันไม่ได้ ผู้บริจาคมีสุขภาพไม่สมบูรณ์ ฯลฯ จึงต้องรออวัยวะจากผู้บริจาคกลุ่มที่สอง คือ ผู้บริจาคที่เสียชีวิตจากภาวะสมองตาย ซึ่งผู้บริจาคสมองตายสามารถบริจาคหัวใจ ปอด ตับ ไต ตับอ่อน ให้แก่ผู้อื่นได้ ทางแพทย์ได้วินิจฉัยลงความเห็นแล้วว่า มีภาวะสมองตาย ซึ่งเป็นภาวะที่สมองถูกทำลาย จนสูญเสียการทำงานโดยสิ้นเชิง และถาวร ถึงจะกระตุ้นด้วยวิธีไหน ก็ไม่ตอบสนอง ไม่ไอ จาม หายใจเองไม่ได้ จะใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือยากระตุ้น ก็ไม่สามารถฟื้นคืนชีวิตได้อีก ถือว่าคนนั้นได้เสียชีวิตแล้ว


นายแพทย์วิศิษฏ์ ฐิตวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย

การได้มาซึ่งอวัยวะเพื่อนำไปปลูกถ่ายทดแทนให้แก่ผู้ป่วยนั้น นับเป็นภารกิจที่สำคัญของกระบวนการปลูกถ่ายอวัยวะ แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันมีสัดส่วนของผู้บริจาคอวัยวะที่เสียชีวิตด้วยภาวะสมองตาย กับผู้ป่วยที่ลงทะเบียนรอรับอวัยวะ มีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยขณะนี้มีผู้ป่วยลงทะเบียนรอรับการบริจาคอวัยวะ ไว้กับศูนย์รับบริจาคอวัยวะมากถึง 6,401 ราย แต่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะเพียง 585 ราย โดยลงทะเบียนรอรับไตมากที่สุดถึง 6,082 ราย จึงทำให้เกิดภาวะการขาดแคลนอวัยวะในประเทศไทย

ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้เล็งเห็นความสำคัญของการบริจาคอวัยวะ จึงได้พัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) สาขาการรับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะอย่างต่อเนื่องในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งนอกจากดำเนินงานด้านการรับบริจาคอวัยวะจากผู้เสียชีวิตสมองตายแล้ว ยังจัดกิจกรรมวิชาการ และการประชาสัมพันธ์เพื่อพัฒนาทีมสุขภาพในเขตบริการให้สามารถดำเนินงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ  นอกจากนี้ศูนย์รับบริจาคอวัยวะยังได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “ร่วมคิด ร่วมสร้าง ร่วมก้าวสู่ยุคใหม่ ของการบริจาคอวัยวะ” เพื่อพัฒนาระบบการบริจาคอวัยวะจากผู้เสียชีวิตสมองตาย โดยเชิญผู้บริหารของโรงพยาบาลจำนวน 22 แห่ง บุคลากรทางการแพทย ศัลยแพทย์ หัวหน้าพยาบาล ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องในงานรับบริจาค และปลูกถ่ายอวัยวะ อาทิกระทรวงสาธารณสุข คณะแพทยศาสตร์ ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย เข้าร่วมสัมมนา เพื่อกำหนดทิศทางในการดำเนินงานให้เป็นในทิศทางเดียวกัน และยกระดับการบริจาคอวัยวะให้อยู่ในระดับมาตรฐานสากล

ในส่วนของภาคประชาชน ศูนย์รับบริจาคอวัยวะฯ ได้รณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ความเข้าใจ ในความจำเป็นของการบริจาคอวัยวะเพื่อช่วยเหลือชีวิตเพื่อนมนุษย์ โดยการสร้างการรับรู้เผยแพร่ข่าวสารในสื่อต่างๆ ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ รวมถึงภาพยนตร์โฆษณาอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนั้น ศูนย์รับบริจาคอวัยวะฯ ได้ทำภารกิจต่างๆ เป็นเวลากว่า 25 ปี โดยมีความมุ่งหวังให้ประชากรในประเทศไทยมีสุขภาพที่ดี และกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ และครอบครัวของผู้ป่วยมีความสุข นั้นเอง

เนื่องในโอกาสครบรอบ 25 ปี ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย จึงขอเชิญชวนท่านผู้มีจิตศรัทธาร่วมแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะ โดยสามารถขอรับแบบฟอร์มใบแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะได้ที่สายด่วนศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย 1666 หรือดาวน์โหลดได้ที่ www.organdonate.in.th