เป็นอีกประเด็นสุดฮอต เป็น Talk of the Town ในแวดวงโทรคมนาคม
กับเรื่องที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 31 มกราคม 62 เห็นชอบแผนบริหารจัดการดาวเทียมไทยคม หลังสิ้นสุดสัมปทานปี 2564 ที่จะไม่มีการต่อหรือขยายสัมปทานใดๆ ให้อีก แต่จะให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ดีอี) ไปพิจารณาแนวทางการบริหารทรัพย์สินที่ได้จากสัมปทานในรูปแบบการดึงเอกชนเข้าร่วมลงทุนในรูปแบบ “PPP” หรือปล่อยให้เอกชนเช่าใช้
ห้วงเวลาเดียวกันก็มีกระแสข่าวสะพัด กระทรวงดีอีเตรียมเสนอขออนุมัติให้ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT เข้าไปเทคโอเวอร์บริษัทไทยคมเพื่อผ่าทางตันปัญหาทั้งมวลแบบ “ม้วนเดียวจบ” ออกกมา ทำเอาแวดวงสื่อสารโทรคมนาคมหูผึ่ง
ถือเป็นโมเดลปั้นรัฐวิสาหกิจใหม่ที่ไม่รู้จะจบลงแบบ “ม้วนเดียวจบ” ของแคท หรือไทยคมกันแน่!
ย้อนรอยอภิมหาดีลแห่งปี
การดึงแคทเข้าไป Take over กิจการไทยคมนั้น นัยว่าถูกผลักดันและเร่งรัดจะต้องแล้วเสร็จก่อนการเลือกตั้ง วันที่ 24 มีนาคมศกนี้ เพื่อการันตีว่าจะไม่มีการพลิกผันใดๆ ตามมาอีก ทำให้คณะทำงานของทั้งสองฝ่ายต้องเร่งโม่แป้งปิดดีลแห่งปีนี้อย่างสุดลิ่ม
ท่ามกลางข้อกังขา ขนาดธุรกิจหลักที่เป็น Core Business ของตนเอง บริษัท กสท หรือแคท ยังแทบเอาตัวไม่รอด แล้วจะไปสยายปีกขยายกิจการเพื่อ Take over ไทยคมเพื่อแปรสภาพมาเป็นกิจการรัฐวิสาหกิจเพื่ออะไร มันจะไม่กลายเป็นรายการเตี้ยอุ้มค่อมเอาหรือ?
ยิ่งหากจะพิจารณาตลาดดาวเทียมในปัจจุบันและแนวโน้มของอุตสาหกรรมดาวเทียมในตลาดโลก ปฏิเสธไม่ได้ว่าอยู่ในสภาพ Decline จากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี แม้จะอยู่ภายใต้การบริหารของบริษัทเอกชนมืออาชีพมานับ 30 ปีก็ยังหืดจับกับการทำตลาดนี้ที่นับวันจะ “สาละวันเตี้ยลง”
การดึงไทยคมกลับมาซุกปักรัฐวิสาหกิจจะทำให้บริษัทมีความคล่องตัว สามารถดำรงสถานการณ์แข่งขันอันดุเดือดเลือดพล่านได้หรือ?
ระวังหลุมพรางทำรัฐบักโกรก 9 พันล้าน
แหล่งข่าวในแวดงวงโทรคมนาคมและดาวเทียม ออกมาตั้งข้อสังเกตดีลประวัติศาสตร์สุดพิสดารพันลึกในครั้งนี้หากท้ายที่สุดทำให้บริษัท กสท ต้องขาดทุนบักโกรก ก็ให้น่าสงสัยผู้ที่มีส่วนในการชงข้อเสนอสุดอัปยศครั้งนี้จะรับผิดชอบด้วยหรือไม่ หรืออย่างไร
“แม้ไทยคมต้องการผู้ถือหุ้นและมืออาชีพเข้ามาขับเคลื่อนเพื่อ Challenge กิจการและเดินหน้าไปสู่ Next Generation แต่การได้ผู้ถือหุ้นอย่างกิจการรัฐวิสาหกิจ CAT เข้าไปแปรสภาพไทยคมไปเป็นกิจการรัฐวิสาหกิจนั้น คงเป็นเรื่องยากที่จะตอบสังคมและผู้ถือหุ้นทั้งของไทยคมและแคทว่า จะทำให้ธุรกิจดาวเทียมภายใต้บริบทของความเป็นรัฐวิสาหกิจนี้เดินหน้าไปได้อย่างไร”
แหล่งข่าวยังเผยว่าด้วย ที่จริงก่อนหน้านี้ ผู้บริหารไทยคมเองมีการนำเสนอแนวทางการบริหารจัดการทรัพย์สินหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานปี 2564 ขณะที่อายุของดาวเทียมไทยคงยังมีอยู่ จากการใช้เทคโนโลยีโดรนเข้าไปเสริมศักยภาพของเชื้อเพลิงให้สามารถขับเคลื่อนและใช้งานต่อไปได้อีก 4-5 ปี
โดยแนวทางที่มีการนำเสนอไว้นั้นจะเป็นไปในรูปของการร่วมลงทุนระหว่างแคทและไทยคมเพื่อบริหารทรัพย์สินสัมปทานร่วมกัน โดยได้พยายามนำเสนอต่อภาครัฐและกระทรวงดีอีมาหลายต่อหลายครั้ง โดย ดร.ดำรงค์ เกษมเศรษฐ์ อดีตประธานและผู้บริหารไทยคม ที่ได้ชื่อว่าเป็นลูกหม้อและสัญลักษณ์ของไทยคมโดยตรง และพันธมิตร ได้เสนอขอซื้อหุ้นใหญ่จากบริษัท อินทัช เพราะยังเชื่อในศักยภาพของไทยคมว่ายังสามารถจะไปต่อได้
แต่ดีลดังกล่าวกลับถูกอดีตผู้บริหารบริษัทพลังงานแห่งชาติบอกปัดไม่ยอมนำเสนอบอร์ดขอความเห็นชอบ ด้วยอ้างว่า อดีตผู้บริหารไทยคมดังกล่าวเป็นคนของนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร และเกรงว่าหากนำเสนอแนวทางขึ้นไปยังคณะรัฐมนตรีที่จะต้องผ่านความเห็นขอบจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อน คงยากจะฝ่าด่านดังกล่าวได้
ก่อนที่อดีตผู้บริหารบริษัทพลังงานรายนี้ที่ถือเป็นมือฉมังด้านการควบรวมกิจการ (M&A) จะเสนอโมเดลสุดพิสดาร โดยดึงเอาบริษัทล็อบบี้ยิสต์มืออาชีพ สอดมือเข้ามาเป็นที่ปรึกษาในการเคลียร์หน้าเสื่อกับผู้มีอำนาจใน คสช.ให้ในทุกกรณี เพื่อแลกกับค่าต๋งในการปิดดีลพิเศษนี้
โดยไม่มีการพูดถึง อนาคตของธุรกิจไทยคมจะเดินไปอย่างไรภายใต้บังเหียนขอองบริษัทรัฐวิสาหกิจ กสท. ที่แม้กิจการหลักของตนเองก็ยังแทบเอาตัวไม่รอด