ท่ามกลางภาวการณ์การแข่งขันธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในรูปแบบต่างๆตามวงล้อการเปลี่ยนของเศรษฐกิจโลก เทรนด์เทคโนโลยีโลก และพลังผู้บริโภค ทุกองค์กรจำเป็นต้องเร่งปรับตัวให้ทันกับทุกการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจและสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันในเวทีการค้าทั้งในและต่างประเทศ นำพาองค์กรพุ่งชนการเติบโตอย่างยั่งยืน
เช่นเดียวกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.)รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม ที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนธุรกิจของประเทศด้านศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางน้ำและโลจิสติกส์ เชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยสู่อาเซียนและโลก สำแดงภารกิจรองรับ “ภาคธุรกิจส่งออกไทย”อีกหนึ่งในเครื่องยนต์หลักทางธุรกิจที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตต่อเนื่องทุกปี
เมื่อก่อนกทท.ได้ชูวิสัยทัศน์มุ่งเน้นภารกิจกับการเป็น”ศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำและโลจิสติกส์ เชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยสู่อาเซียน”แต่ทว่า ล่าสุด กทท.ออกโรงโชว์ลุกใหม่ของวิสัยทัศน์ที่ว่า”มุ่งสู่มาตรฐานท่าเรือชั้นนำระดับโลก ด้วยการให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่เป็นเลิศ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในปี 2573”
พร้อมเดินหน้ายึดในค่านิยม “ยึดมั่นธรรมาภิบาล บริการด้วยใจ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม พร้อมร่วมมือเพื่อองค์กร” ภายใต้ภารกิจการขยายบริการท่าเรือและธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับโลจิสติกส์ทางน้ำในประเทศและเชื่อมโยงโครงข่ายโลจิสติกส์สู่การค้าโลกแบบไร้รอยต่อ การพัฒนาและบริหารทรัพยากรต่างๆภายในองค์กรให้เต็มศักยภาพ ยกระดับมาตรฐานระดับโลกในการให้บริการมีความทันสมัย มีธรรมาภิบาล และมีมาตรฐานสากล
LogisticsTime ขอใช้เวทีนี้อัพเดทผลการดำเนินงานและภารกิจของกทท.พร้อมสะท้อนถ้อยแถลงวิสัยทัศน์ดังกล่าว ค่านิยม และทิศทางการดำเนินงานของการท่าเรือฯ โดยร.ต.ต. มนตรีฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง รักษาการแทนผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.) ดังนี้
กางยุทธศาสตร์หลักปักหมุดท่าเรือระดับโลก
“ท่ามกลางภาวการณ์แข่งเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบต่างๆ ปัจจัยที่มีส่วนสำคัญให้กระตุ้นเกิดลงทุนในโครงการต่างๆ ภายใต้การพัฒนาประเทศผ่านระบบเศรษฐกิจ นับเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ โดยการเติบโตภายใต้โครงสร้างและการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม จะสามารถผลักดันให้มีการเพิ่มศักยภาพและสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันในเวทีการค้าโลก ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเติบโตก้าวหน้าต่อไปได้ในระยะยาว”
ปรารภแรกที่ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร ได้ฉายภาพเบื้องต้นกับผู้ร่วมงานแถลงวิสัยทัศน์ ค่านิยม และทิศทางการดำเนินงานของการท่าเรือฯพร้อมกับระบุต่อว่าผมเชื่อมั่นอย่างยิ่งการที่การท่าเรือฯได้จัดแผนยุทธศาสตร์การดำเนินงานเป็นไปตามแนวทางการดำเนินงานการท่าเรือรูปแบบใหม่ตามนโยบายรัฐบาล ที่มุ่งสู่ท่าเรือทันสมัยสะดวกรวดเร็ว รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกและของประเทศ ด้วยการพัฒนาระบบริหารจัดการท่าเรือให้มีมาตรฐานระดับโลก และเป็นกลไกขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ สามารถเชื่อมโยงโครงข่ายขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ทั้งภายในและภายนอกประเทศ
“อีกทั้งยังการใช้สร้างมูลค่าเพิ่มในการใช้ประโยชน์สินทรัพย์เชิงธุรกิจ และยกระดับการให้บริการและการพัฒนาองค์กรให้มีสมรรถนะ สร้างความมั่นใจได้ว่าการท่าเรือฯจะสามารถนำพาองค์กรไปสู่มาตรฐานชั้นนำ ภายใต้วิสัยทัศน์ที่ว่า “มุ่งสู่มาตรฐานท่าเรือชั้นนำระดับโลก ด้วยการให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่เป็นเลิศ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในปี 2573”และค่านิยมที่ว่ายึดมั่นธรรมาภิบาล บริการด้วยใจ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม พร้อมร่วมมือเพื่อองค์กร”
สยายปีกเติบโตอย่างยั่งยืน
ร.ต.ต.มนตรี ยังสะท้อนชัดถึงการกำหนดแนวทางในการดำเนินงานขององค์กรในช่วงระยะเวลา 5 ปีแรกว่าเป็นการขับเคลื่อนเพื่อนำมาจัดทำแผนวิสาหกิจการท่าเรือฯ ปีงบประมาณ 2562-2566 ทั้งนี้ ในกระบวนการทบทวนและจัดทำแผนวิสาหกิจการท่าเรือฯ ได้ทำการทบทวนวิสัยทัศน์ ภารกิจ ค่านิยม ยุทธศาสตร์ วัตถุประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ ตัวชี้วัด เป้าหมายขององค์กร และภาพรวมยุทธศาสตร์ ปีงบประมาณ 2562-2566
“องคาพยพทั้งหมดมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินกิจการ การปฏิบัติงาน การประเมินผลในภาพรวมขององค์กร และสามารถตอบสนองหรือเป็นกลไกหนึ่งในการสนับสนุนเศรษฐกิจในฐานะการเป็นประตูการค้าหลักและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งสามารถสรุปสาระสำคัญของแผนวิสาหกิจ การท่าเรือฯ ปีงบประมาณ 2562-2566 ใน 5 ท่าเรือภายใต้การกำกับของการท่าเรือฯ”
ถึงกระนั้น ร.ต.ต. มนตรี กล่าวอีกว่าต้องยอมรับประเทศไทยมีการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง สินค้าที่ส่งออกจากประเทศไทยมากกว่าละ 90 เป็นการส่งออกทางเรือ บางเพียงจำนวนเท่านั้นส่งออกทางอากาศ และทางถนนที่วิ่งทะลุทางชายแดนออกไป เป็นการบ่งชี้ว่าประเทศไทยเราทำมาค้าขายทางทะเลเป็นหลัก ดังนั้น ตัวเลขทางเศรษฐกิจจะเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปในทิศทางไหน อย่างไร
“แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2020-50 เป็นต้นไป ประเทศไทยจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง สะท้อนว่าการท่าเรือฯต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านแผนพัฒนาจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อนำมาประกอบแผนการพัฒนาท่าเรือให้มุ่งหน้าสู่เป้าหมายที่เราวางเอาไว้”
ท่าเรือกรุงเทพ หนุนการค้าของประเทศ
ร.ต.ต.มนตรี ไล่เรียงการพัฒนาใน 5 ท่าเรือว่าโดยสถิติตู้สินค้าที่ส่งออกจากประเทศไทยสู่ประเทศทั่วโลก 71 % ออกจากท่าเรือแหลมฉบัง 16 % ออกจากท่าเรือกรุงเทพ ดังนั้น ท่าเรือคีย์หลักก็คือท่าเรือแหลมฉบังกับท่าเรือกรุงเทพ ถึงกระนั้น ท่าเรืออื่นๆทั้งเชียงแสน เชียงของ และระนอง ก็ยังมีความสำคัญและยังต้องมีการพัฒนาและผลักดันให้ทั้ง 3 ท่าเรือนี้เติบโตและมีบทบาทสำคัญในพื้นที่นั้นๆควบคู่ไปด้วย
“ตามกลยุทธ์การเดินหน้าสร้างศักยภาพให้กับ 5 ท่าเรือภายใต้การกำกับของการท่าเรือฯนั้น เริ่มที่ท่าเรือกรุงเทพ ที่เรามุ่งเน้นให้เป็น“เป็นท่าเรือแม่น้ำที่ได้มาตรฐานสากล บริการที่เป็นเลิศ สร้างมูลค่าเพิ่ม สนับสนุนการค้าของประเทศ” สำหรับความคืบหน้าการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพนั้น ขณะนี้ กทท.ได้ดำเนินการปรับปรุงแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ ตามแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพจะมีการใช้ประโยชน์ที่ดิน 2,353 ไร่ คาดมูลค่าลงทุนไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 3 โซน ได้แก่ โซน A พื้นที่พัฒนาด้านการค้า (Commercial Zone) และพัฒนาเพื่อการอยู่อาศัยในชุมชน (Smart Community) มูลค่าการลงทุน7,500 ล้านบาท พื้นที่ A2 พัฒนาศูนย์โลจิสติกส์ มูลค่าการลงทุน 3,536 ล้านบาท พื้นที่ A3 พัฒนาเป็นอาคารสำนักงาน ) มูลค่าการลงทุน 3,478 ล้านบาท”
ขณะที่พื้นที่ A4 พัฒนาเป็นศูนย์การค้าธุรกิจครบวงจร
มูลค่าการลงทุน 10,145 ล้านบาท พื้นที่ A5 (องค์การฟอกหนัง) 21 ไร่ นำมาพัฒนาจุดแรกเป็นอาคาร โซน B พื้นที่ท่าเรือ
ปัจจุบันมีจำนวน 943 ไร่ จะปรับเหลือ 534 ไร่ เป็นสถานีบรรจุสินค้า โซน C พัฒนาเมืองธุรกิจขนาดใหญ่เป็นแลนด์มาร์กประเทศและจุดท่องเที่ยวเชื่อมโยงท่องเที่ยวทางน้ำ
ท่าเรือโดยสารหรือท่าเทียบเรือโดยสารขนาดใหญ่ (Cruise) เป็นต้น
ทุ่ม7.5 พันล้าน เคลียร์พื้นชุมชนคลองเตยพัฒนาเชิงพาณิชย์
สำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อที่อยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย (Smart Community) นั้น ร.ต.ต.มนตรี ระบุว่าโครงการนี้ ท่านไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม ก็เพิ่งให้เกียรติเป็นประธานเปิดไปเมื่อไม่นานมานี้เอง โดยโครงการนี้มีเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความแออัดของชุมชนคลองเตยที่เข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่ของ กทท. ตัวโครงการจะตั้งอยู่บนพื้นที่ขององค์การฟอกหนังเดิมทั้งสิ้น 58 ไร่ รูปแบบเป็นอาคารสูง 25 ชั้น จำนวน 4 อาคาร อาคารละ 1,536 ยูนิต รวมทั้งหมด 6,144 ยูนิต มูลค่าก่อสร้างเบื้องต้นรวมประมาณ 7,500 ล้านบาท โดยเป็นเงินลงทุนของ กทท.เองทั้งหมด
“ภายในบริเวณนี้นอกจากมีที่อยู่อาศัยแล้วยังมีหน่วยงานราชการต่างๆ เช่น สำนักงานเขตคลองเตย, สน.คลองเตย, โรงเรียน, มูลนิธิ รวมถึงจัดพื้นที่ค้าขายให้คนในชุมชนด้วย และในอนาคตมีแผนที่จะทำรถไฟโมโนเรลจากสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เชื่อมต่อเข้ามาในบริเวณนี้ด้วย ความคืบหน้ากระบวนการต่อไป กทท.จะต้องไปทำสำรวจสำมะโนประชากร เพื่อสำรวจจำนวนประชากรและสอบถามความต้องการของแต่ละครัวเรือน คาดว่าจะใช้เวลาสำรวจประมาณ 5 เดือน โดยจะทำการศึกษาออกแบบในรายละเอียด (Detail Design) และทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ควบคู่กันไปด้วย และจะสามารถเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2563และเปิดใช้ในปี 2565”
ท่าเรือแหลมฉบัง“ฮับขนส่งทางเรือ”ชั้นนำระดับโลก
ขณะที่ความคืบหน้าการลงทุนพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 2 ร.ต.ต.มนตรี เปิดเผยว่าอย่างที่เกริ่นไว้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นคีย์ท่าเรือของไทย เพราะสถิติตู้สินค้าที่ส่งออกจากประเทศไทยสู่ประเทศทั่วโลกกว่า 71 %ออกจากท่าเรือแห่งนี้ โดยปี 2561 มีประมาณ 8 ล้านทีอียู เติบโตจากปีก่อน 4% โดยปี 60 ที่มี 7.6 ล้านทีอียู คาดปี 2562 การเติบโตจะอยู่ที่ประมาณ 4-5% ดังนั้น การลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 จึงความสำคัญและจำเป็นอย่างมาก เพราะหากสร้างเสร็จจะสามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าเพิ่มได้อีก 7 ล้านทีอียู อีกทั้งยังสร้างความเชื่อมั่นให้กับสายเดินเรือและภาคอุตสาหกรรมที่ต้องส่งออกและนำเข้ามากขึ้น โดยกทท.จะเชื่อมโยง 3 ท่าเรือในภาคตะวันออกด้วยรถไฟทางคู่ คือ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือจุกเสม็ด และท่าเรือมาบตาพุด ซึ่งจะทำให้ท่าเรือแหลมฉบังสามารถเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางเรือ กรุยทางสู่เป้าหมายความเป็นท่าเรือชั้นนำระดับโลก เชื่อมโยงโครงข่ายโลจิสติกส์สู่การค้าโลกแบบไร้รอยต่อ
“หลังจากกทท. ได้ดำเนินการประกาศเชิญชวนให้เอกชนผู้สนใจเข้าร่วมบริหารและประกอบการในโครงการนี้ในวันที่ 1 พ.ย.61 และเปิดขายซองเอกสารเมื่อ วันที่ 5 -19 พ.ย61 โดยมีเอกชนจากทั่วทุกมุมโลกให้ความสนใจเข้ามาซื้อเอกสารทั้งสิ้น 32 ราย ถือเป็นเรื่องน่ายืนดีแม้จะมีเอกชนรายเดียวยี่นข้อเสนอก็ตาม แต่เวลานี้กทท.อยู่ในขั้นตอนการผ่อนคลายเงื่อนไขต่างๆและปรับทีโออาร์ให้เอกชนคลายข้อกังวล คาดจะได้ทำการเปิดประมูลโครงการอีกครั้งภายใน 2 เดือนนับจากนี้ไป”
ปั้นท่าเรือระนองเชื่อมการค้าเอเชียใต้
ส่วนความคืบหน้าการพัฒนาท่าเรือระนองนั้น ร.ต.ต.มนตรี ระบุว่าตามเป้าหมายเราที่วางไว้ให้ : “เป็นประตูการขนส่งหลักทางฝั่งทะเลอันดามันที่ได้มาตรฐาน” โดยเวลานี้ กทท.กำลังเตรียมจ้างบริษัทที่ปรึกษาทำการศึกษาแผนการพัฒนาการเดินเรือขนส่งสินค้าจากท่าเรือระนองเชื่อมโยงไปยังประเทศในกลุ่มประเทศบิมสเทค (BIMSTEC) ซึ่งมีสมาชิก 7 ประเทศ คือ บังกลาเทศ ศรีลังกา อินเดีย พม่า เนปาล ภูฎาน และไทย โดยอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการจ้างที่ปรึกษาศึกษารายละเอียดใน 2-3 เดือน คาดว่าจะได้ความชัดเจนในอีก 6 เดือน
“เบื้องต้นได้คัดเลือกท่าเรือที่มีความเหมาะสมจำนวน 3 แห่งในการศึกษาเดินเรือเชื่อมกับท่าเรือระนอง ได้แก่ ท่าเรือจิตตะกอง ประเทศบังกลาเทศ, ท่าเรือเชนไน ประเทศอินเดีย และท่าเรือโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา โดยหลังจากศึกษาประเมินความเหมาะสมของท่าเรือที่มีความพร้อมได้แล้วจะมีการเจรจาเพื่อทำความตกลงและทำบันทึกความร่วมมือ (MOU) ร่วมกัน คาดจะใช้เวลาอีกประมาณ 1 ปี หรือภายในปี 2563 จึงจะสามารถเปิดเดินเรือเชื่อมกันได้”
ดันเชียงแสน/เชียงของปักหมุดฮับขนส่งทางน้ำอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
ส่วนท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน/ท่าเรือเชียงของนั้น ร.ต.ต.มนตรี กล่าวว่าตามพื้นที่ตั้งในเชิงยุทธศาสตร์เราต้องการให้ “เป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่ได้มาตรฐาน” โดยท่าเรือเชียงแสนเป็นท่าเทียบเรือสนับสนุนการขนส่งทางน้ำในอนุภูมิภาคกลุ่มแม่น้ำโขง คู่ค้าหลักก็คือจีนตอนใต้ที่ผ่านสายน้ำนั้นมาก็จะรวมถึงพม่า และสปป.ลาวด้วย
“ปัจจุบันเกิดนวัตกรรมขนส่งที่เกิดจากความมุ่งเน้นด้วยการการขนส่งสินค้าผ่านสายน้ำมาด้วยระบบตู้คอนเทนเนอร์ปัจจุบันก็มีเรือคอนเทอร์เริ่มวิ่งแล้ว นอกจากนี้ ยังเกิดความความร่วมมือในหลายๆด้านในรูปแบบการบันทึกความร่วมมือกับกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง ซึ่งก็ต้องมีการพัฒนากันไปตามความเหมาะสมและความโดดเด่นของทำเลที่ตั้ง”
อย่างไรก็ดี ร.ต.ต.มนตรี กล่าวสรุปปิดท้ายว่าทั้งหมดนี้คือยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนภายใต้ภารกิจของกทท.เพื่อมุ่งหวังให้เป็นท่าเรือที่มีมาตรฐานในระดับโลก ด้วยโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกท่าเรือที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพเทียบเท่าระดับมาตรฐานสากล เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจหลักให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน
“ตลอดถึงการยกระดับการบริการให้เป็นที่พึงพอใจของลูกค้า รวมไปถึงพัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางการเปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่ง (Intermodal Transport) ที่เชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งสินค้าและระบบโลจิสติกส์ทั้งภายในและภายนอกประเทศ (Transit & Transshipment) โดยมุ่งลดต้นทุนโลจิสติกส์ในองค์รวมและเพิ่มประสิทธิภาพด้านการนำเข้า – ส่งออก เพื่อเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจโลก”