นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิธีเปิดท่าเทียบเรือชุด D อย่างเป็นทางการ ที่ท่าเทียบเรือ D บริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย จำกัด โดยมีนายสมศักดิ์ ห่มม่วง ประธานกรรมการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ร้อยตำรวจตรี มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) รักษาการแทนผู้อำนวยการการท่าเรือฯ พร้อมด้วย มร.สตีเฟ่น แอชเวิร์ธ กรรมการผู้จัดการบริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย รวมถึงผู้บริหารและผู้ประกอบการ ในท่าเรือแหลมฉบัง เข้าร่วมงานคับคั่ง ณ ท่าเทียบเรือชุด D ท่าเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า โครงการนี้นับเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ ที่จะเชื่อมต่อโครงข่ายระบบคมนาคมที่จะเข้ามารองรับการขนส่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ท่าเทียบเรือชุดใหม่นี้นับเป็นพื้นฐานคมนาคมขนส่ง ให้เชื่อมโยงฐานการผลิต แหล่งเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ทั้งยังเป็นประตูการค้า เพื่อเชื่อมต่อระหว่างรูปแบบการขนส่งขึ้นพื้นฐานของต่างๆ อาทิโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน โครงการรถไฟทางคู่จากแหล่งอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ที่เชื่อมสู่ท่าเรือแหลมฉบัง มาบตาพุดและสัตหีบ สำหรับการขนส่งสินค้าระบบรางที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ และโครงการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา
“เทคโนโลยีสมัยใหม่ในท่าเทียบเรือชุด D ช่วยยกระดับการให้บริการขนส่งและบริหารจัดการระบบคมนาคมขนส่งให้มีประสิทธิภาพสูงสุด สอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 โมเดลใหม่ของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยที่มุ่งปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ ‘เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม’ นับเป็นโครงการที่สอดรับกับร่างยุทธศาสตร์ของกระทรวงคมนาคม มุ่งพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2560 – 2579 สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาลที่ต้องการสร้างชาติที่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” นายไพรินทร์ กล่าว
มร.สตีเฟ่น แอชเวิร์ธ กรรมการผู้จัดการบริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย กล่าวว่า ท่าเทียบเรือชุด D เป็นท่าเรือขนาดใหญ่ที่สุดของท่าเรือแหลมฉบังในขณะนี้ และได้รับเรือขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกเข้ามาเทียบท่าแล้ว ที่ที่นี่มีความพร้อมด้วยอุปกรณ์และเครื่องมือที่ทันสมัยในระดับโลก ทั้งในด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผลจำนวนเม็ดเงินกว่า 2 หมื่นล้านที่ลงทุนไปกับท่าเรือชุดนี้ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า บริษัทฯ พร้อมที่จะลงทุนระยะยาวกับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยอย่างจริงจัง และนับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่การขนถ่ายตู้สินค้าขึ้นและลงเรือทั้งหมด ถูกปฏิบัติการด้วยปั้นจั่นที่ติดตั้งเทคโนโลยีควบคุมระบบปฏิบัติงานจากระยะไกลหรือรีโมทคอนโทรลทั้งหมด และยังจะช่วยเพิ่มศักยภาพของห่วงโซ่อุปทานหรือซัพพลายเชนในประเทศไทย ผ่านการสร้างโอกาสในการต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ EEC
“เมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์ ท่าเทียบเรือชุด D จะมีความยาวหน้าท่ารวมทั้งสิ้น 1,700 เมตร น้ำลึก 16 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ประกอบไปด้วย ปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าจำนวน 17 คัน และมีปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยางจำนวน 43 คัน ทั้งหมดใช้เทคโนโลยีควบคุมระบบปฏิบัติงานจากระยะไกล เพิ่มความสามารถในการรองรับตู้สินค้าได้ราว 3.5 ล้านทีอียูต่อปี โดยเพิ่มความสามารถในการรองรับตู้สินค้าของท่าเทียบเรือแหลมฉบังได้อีกราว 40 เปอร์เซ็นต์ หรือให้สามารถรองรับตู้สินค้าได้ทั้งสิ้น 13 ล้านทีอียู ทั้งนี้ การเลือกใช้เทคโนโลยีการควบคุมระบบปฏิบัติงานจากระยะไกลจะเพิ่มความปลอดภัย ประสิทธิภาพและประสิทธิผล ให้กับสายการเดินเรือ รวมถึงผู้ใช้งานท่าเทียบเรือรายอื่นๆ” มร.สตีเฟ่น แอชเวิร์ธกล่าว
ร้อยตำรวจตรี มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง รักษาการแทน ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับท่าเรือแหลมฉบัง เป็นท่าเรือน้ำลึกหลักในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ที่มีโครงการพัฒนาต่าง ๆ ที่มีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้มีการเติบโตที่เพิ่มมากขึ้น ได้แก่ โครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 ที่ได้เปิดให้การบริการแล้ว รวมถึง โครงการพัฒนาต่าง ๆ ที่พร้อมรองรับการพัฒนาสู่มาตรฐานการเป็นท่าเรือระดับโลก ได้แก่ โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง และโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A).อีกด้วย รวมถึง โครงการพัฒนาต่าง ๆ ที่พร้อมรองรับการพัฒนาสู่มาตรฐานการเป็นท่าเรือระดับโลก ได้แก่ โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง และโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) อีกด้วยทั้งนี้ ท่าเรือแหลมฉบัง และฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย นับว่า มีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนาน โดยได้เริ่มเปิดให้บริการในพื้นที่ของท่าเรือแหลมฉบัง มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 ฮัทชิสัน พอร์ท เป็นผู้มีประสบการณ์ในการทำงานด้านท่าเทียบเรือในระดับโลก เฉพาะที่ท่าเรือแหลมฉบัง ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย ให้บริการอยู่ในท่าเทียบเรือ A2 A3 C1 และ C2 โดยในปี 2560 บริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท (ประเทศไทย) ได้ทำการขนถ่ายตู้สินค้าครบ 20 ล้านทีอียู นับว่าเป็นผู้ประกอบการท่าเทียบเรือที่ขนส่งสินค้าจำนวนมากที่สุดในท่าเรือแหลมฉบัง
“โครงการท่าเทียบเรือ ชุด D นี้ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือแหลมฉบัง ให้สามารถรองรับตู้สินค้าได้เพิ่มขึ้นเป็น 11.1 ล้านทีอียู/ปี ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ การท่าเรือแห่งประเทศไทย ที่ “มุ่งสู่มาตรฐานท่าเรือชั้นนำระดับโลก ด้วยการให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่เป็นเลิศ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในปี 2573” อย่างรอบด้าน โดยท่าเรือแหลมฉบังมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาท่าเรือแหลมบัง ให้เป็น World Class Port โดยเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นท่าเรือที่ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย” ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง กล่าว
สำหรับ ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย เป็นสมาชิกของกลุ่มฮัทชิสัน พอร์ท ซึ่งเป็นส่วนงานหนึ่งของบริษัท ซีเค ฮัทชิสัน โฮลดิ้งส์ จำกัด (CK Hutchison Holdings Limited) ที่ดำเนินธุรกิจให้บริการด้านท่าเทียบเรือและบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ ฮัทชิสัน พอร์ท เป็นผู้ลงทุนพัฒนาและดำเนินกิจการด้านท่าเทียบเรือชั้นนำของโลก มีเครือข่ายท่าเทียบเรือถึง 51 แห่ง กระจายอยู่ใน 26 ประเทศทั่วโลก ทั้งในเอเซีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา ยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ฮัทชิสัน พอร์ท ได้ขยายกิจการครอบคลุมไปถึงธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ในด้านอื่นๆ ด้วย อาทิ ท่าเทียบเรือโดยสาร บริการท่าอากาศยาน ศูนย์กระจายสินค้า บริการขนส่งด้วยระบบรางและอู่ซ่อมเรือ ในส่วนของที่ท่าเรือแหลมฉบังโดยมีจุดให้บริการในแหลมฉบังอยู่ที่ท่าเทียบเรือ A2 A3 C1 C2 D1 D2 และ D3