“สมคิด”เคาะรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ปิดฉากแผนแม่บทรถไฟฟ้า 10 สาย มอบให้ รฟม.ลุยเต็มสูบ 48,386 ล้านบาท เชื่อมรถไฟฟ้าอีก 7 เส้นทาง
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเห็นชอบผลการศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม)ระยะทาง 22กิโลเมตร(กม.) มูลค่าโครงการ 48,386 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าเวนคืน 7,254 ล้านบาท และค่าก่อสร้าง 34,675 ล้านบาท ค่าที่ปรึกษา1,255 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายอื่นๆอีก 5,202 ล้านบาท พร้อมทั้งมอบหมายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)เป็นเจ้าของโครงการ และให้สนข. บรรจุแผนการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งจะทำให้มีรถไฟฟ้าครบ 10 สาย ตามแผนแม่บทภายในปี 2567
ทั้งนี้ที่ประชุมยังมอบหมายให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และกรมทางหลวง (ทล.) ดำเนินการโครงการโครงข่ายระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอนทดแทน N1, ตอน N2 และ E – W Corridor โดยให้ก่อสร้างทางพิเศษควบคู่ไปกับการสร้างฐานรากหรือตอม่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล และให้พิจารณาวางแผนร่วมกันให้เกิดผลกระทบระหว่างก่อสร้างต่อประชาชนให้น้อยที่สุด ส่วนรูปแบบของโครงการจะมีช่วงที่มีทั้งโครงการรถไฟฟ้าและทางพิเศษ ใช้พื้นที่เกาะกลางร่วมกันในช่วงที่อยู่บนถนนประเสริฐมนูกิจ มีระยะทางประมาณ 5.7 กม. โดยทางพิเศษจะใช้เสาตอม่อเดิมที่ก่อสร้างไว้แล้วตั้งแต่ปี 2540 และโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลจะมีการก่อสร้างโครงสร้างใหม่ระหว่างเสาตอม่อของทางพิเศษ เพื่อลดผลกระทบด้านค่าก่อสร้าง ปัญหาการจราจรในระหว่างการก่อสร้าง และช่วยให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลก่อสร้างได้เร็วขึ้น
“ผลการศึกษาฯ พบว่า มีความเหมาะสมที่จะพัฒนาทั้งระบบทางด่วน และระบบขนส่งมวลชนบนแนวสายทางเดียวกัน เนื่องจากปัจจุบันขาดโครงข่ายทางที่จะรองรับการเดินทางในด้านทิศตะวันตกกับด้านทิศตะวันออก โดยโครงข่ายระบบทางด่วนตามแนวสายทางนี้เป็นการเชื่อมต่อพื้นที่ระหว่างด้านตะวันตกกับด้านตะวันออกของถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ประกอบกับโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบขนส่งทางราง เนื่องจากรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลมีการเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนทางรางถึง 7 เส้นทางด้วยกัน โดยจะต่อเชื่อมกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีชมพูที่แยกแคราย โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงที่แยกบางเขน โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่แยกเกษตร โครงการรถไฟฟ้าสายสีเทาที่แยกทางต่างระดับศรีรัช และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มและสีเหลืองที่แยกลำสาลี”
ขณะเดียวกันที่ประชุมคจร.ยังมีมติเห็นชอบรายงานการศึกษาแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่าประเทศไทยมีความเหมาะสมต่อการจัดตั้งโรงประกอบรถไฟขึ้นในประเทศ เนื่องจากมีความพร้อมในปัจจัยที่จะก่อให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตที่สำคัญ คือ มีปริมาณความต้องการรถไฟฟ้ามากเพียงพอที่จะก่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) มีเอกชนเจ้าของเทคโนโลยีสนใจลงทุน และมีผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศที่มีศักยภาพ การจัดตั้งโรงประกอบขึ้นในประเทศ จะทำให้รัฐบาลสามารถซื้อรถไฟได้ในราคาที่ถูกลง นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และเกิดการจ้างงานในประเทศ และมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมฯ ตามผลการศึกษาต่อไป
นอกจากนี้ที่ประชุมคจร.ได้รับทราบผลการศึกษาการจัดทำทิศทางและนโยบายการพัฒนาแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 โดยกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ประสานความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่น ผ่านองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) ดำเนินการศึกษาแผนแม่บทดังกล่าว โดยไจก้าได้ให้ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐในการออกมาตรการจูงใจประชาชน เพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้ระบบการขนส่งทางรางมากขึ้น อ้างอิงประสบการณ์จากที่มีการดำเนินการในประเทศญี่ปุ่น ประกอบด้วย 1. ส่งเสริมให้ประชาชนเห็นว่าระบบรางเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยให้ใบรับรองแก่บริษัทที่สนับสนุนให้พนักงานใช้ระบบขนส่งสาธารณะ และให้ความรู้ในเรื่องการใช้ระบบขนส่งสาธารณะในโรงเรียน 2.สนับสนุนค่าใช้จ่ายให้พนักงานแต่ละบริษัทเดินทางมาทำงานโดยใช้ระบบขนส่งสาธารณะ และห้ามขับรถยนต์มาทำงานสำหรับพนักงานที่อาศัยอยู่ในรัศมีไม่เกิน 2กม. จากที่ทำงาน
3.ลดค่าโดยสารในช่วงเวลาไม่เร่งด่วน เมื่อใช้บัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ 4.ปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะให้มีความปลอดภัยในการใช้บริการ เช่น การใช้บริการรถไฟฟ้าของเด็กนักเรียน เมื่อเด็กนักเรียนเข้าใช้บริการรถไฟฟ้าด้วยบัตรรถไฟฟ้าระบบจะส่งข้อความผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่แจ้งให้ผู้ปกครองทราบ เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในการใช้บริการ และ 5.กำหนดมาตรการจำกัดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล โดยเพิ่มค่าจอดรถในย่านใจกลางเมือง กำหนดวันปลอดรถยนต์ (Car free day) และเพิ่มอัตราภาษีรถยนต์