ปี่กลองทางการเมืองเริ่มประโคมโหมโรงทันทีหลังคสช.ปลดล็อคให้พรรคการเมืองต่างๆหาเสียงได้ เป็นใบเบิกทางให้พรรคการเมืองปูพรมลงพื้นที่แนะนำผู้สมัครพร้อมเสนอนโยบายในการหาเสียงกันฝุ่นตลบ ส่งผลให้อุณหภูมิการเมืองไทยร้อนฉ่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ปฏิเสธไม่ได้ว่าห้วงเวลา 10 กว่าปีบนเส้นทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย “นโยบายประชานิยม”ได้รับการขับเคลื่อนจากพรรคการเมืองต่างๆ ของประเทศไทย และมีอิทธิพลอย่างมากต่อการตัดสินใจเลือกของประชาชน ส่งผลให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยต้องเริ่มเสพติดนโยบายประชานิยม ที่ให้ผลดีระยะสั้นแต่ผลเสียระยะยาว แม้ประเทศไทยจะยังไม่สามารถหลุดพ้นจาก “กับดักประชานิยม”ได้ในเร็ววัน
แต่ทว่า รัฐธรรมนูญฯฉบับปัจจุบันบัญญัติไว้ชัดห้ามพรรคการเมืองทำนโยบายหาเสียง “ประชานิยม” โดยกำหนดเงื่อนไขให้พรรคการเมืองทุกพรรค “ต้อง”ส่งนโยบายให้ กกต.ตรวจสอบก่อนนำไปหาเสียงเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ทุกนโยบายต้องระบุวงเงินค่าใช้จ่ายในแต่ละปี พร้อมต้องระบุที่มางบประมาณที่จะใช้อย่างชัดเจน และต้องแจกแจงความคุ้มค่าและประโยชน์จากนโยบาย รวมทั้งผลกระทบและความเสี่ยงอย่างละเอียดทุกแง่ทุกมุม
ถึงกระนั้น บนเส้นทางการเมืองในเวลานี้บรรดาพรรคการเมืองต่างๆก็คลอดนโยบายหาเสียง “ลด-แลก-แจก-แถม” ที่มองมุมไหนก็ยังเป็น “ประชานิยม”อยู่วันยังค่ำ!
เมื่อเป็นเช่นนี้ ก่อนจะถึงวันเลือกตั้งในแง่มุมพรรคการเมืองจะคลอดนโยบายดูดพลังเสียงถูกต้อง เหมาะสม ไม่ส่งต่อภาระให้คนรุ่นต่อไปในอนาคต เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.ดร. สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ได้สะท้อนมุมมองเกี่ยวกับนโยบายประชานิยมไว้อย่างน่าสนใจ
อย่าสักแต่ว่า “หาเสียง” อย่างเดียว
รศ.ดร. สมชาย ปรารภในเบื้องต้นว่าก่อนอื่นต้องนิยามและทำความเข้าใจคำว่าประชานิยมเสียก่อน คำว่าประชานิยมก็คือนโยบายที่ประชาชนชอบ เพราะฉะนั้นอะไรก็ตามที่ประชาชนชอบก็จัดอยู่ในประชานิยม และในคำนิยามนี้แล้วประชาชนในกลุ่มเป้าหมายไหนล่ะที่ชอบ นั่นหมายความว่าไม่ใช่ประชาชนทุกคนที่ชอบ บางกลุ่มก็ไม่ต้องการประชานิยม
“ในคำนิยามประชานิยมของนักการเมืองไทยจึงพุ่งเป้าไปที่ประชาชนที่เป็นรากหญ้า ที่ต้องการความช่วยเหลือ โดยโครงสร้างมันไม่ผิดเลย แต่ที่มันผิดและออกมาในทางลบก็เพราะมันมีสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตจนกระทั่งเกิดภาพลักษณ์ติดลบในสายตาประชาชน เป็นการดำเนินนโยบายเพื่อหาเสียงอย่างเดียวโดยไม่คำนึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งนั่นจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลัง ศักยภาพทางการแข่งขัน และนำไปสู่การให้แล้วเลิกไม่ได้จนประชาชนเสพติด ที่ร้ายไปกว่านั้นก่อให้เกิดกองทัพประชาชนกรณีเกิดสงครามกลางเมือ และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองยากมาก”
ประชานิยม ตัวชี้วัด “ผลระยะสั้น-ภาระระยะยาว”
รศ.ดร. สมชาย สะท้อนทัศนะเกี่ยวกับระบบประชาธิปไตยในบ้านเราว่าเป็นระบบที่ให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งค่อนข้างมาก เมื่อถึงฤดูกาลการเลือกตั้ง “นโยบายประชานิยม”จึงเป็นกลไกลหลักที่พรรคการเมืองต่างๆหยิบยกมาเป็นแนวทางในการหาเสียงเลือกตั้ง เข้าทำนองนโยบายมีลักษณะเสนอว่า “จะให้” เพื่อให้พรรคการเมืองสามารถชนะการเลือกตั้ง และก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมาพรรคการเมืองไทยก็เปลี่ยนจากนโยบายที่มุ่งตอบโจทย์เรื่องสวัสดิการพื้นฐานของประชาชน และการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานของประชาชน เช่น นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค การเรียนฟรี การเข้าถึงสินเชื่อของชุมชนในระดับรากหญ้า ฯลฯ มาเป็นนโยบายที่มีลักษณะ “สัญญาว่าจะให้” และเห็นผลในช่วงสั้น ๆ เพื่อจะได้ชนะการเลือกตั้ง และเป็นนโยบายที่มีวิธีคิดในเรื่องการตลาดนำมากกว่าที่จะตอบโจทย์สวัสดิการขั้นพื้นฐาน
“อย่าลืมว่านโยบายเช่นนี้ ทำให้เกิดภาระงบประมาณ เกิดการบริโภคที่เกินพอดี และเกิดผลข้างเคียงทางเศรษฐศาสตร์ได้ในหลาย ๆ เรื่อง เช่น นโยบายรถคันแรก การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เกิดผลตามมามากมายทั้งในด้านหนี้ครัวเรือน การใช้น้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ปัญหารถติด และไม่สอดคล้องกับแนวทางนโยบายที่เราจะส่งเสริมการใช้บริการระบบขนสงสาธารณะ เพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พึ่งพิงพลังงานน้อยลง”
นอกจากนี้ รศ.ดร. สมชาย ย้ำอีกว่าพอมาถึงการเมืองยุคนี้ รัฐธรรมนูญฯฉบับปัจจุบัน ที่ได้ประกาศใช้ไปแล้ว จึงได้บัญญัติข้อกฎหมายไว้ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้พรรคการเมืองใช้นโยบายประชานิยมตามอำเภอใจภายใต้พ.ร.บ.พรรคการเมือง และ พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.ที่ได้เพิ่มมาตรการป้องกันไม่ให้พรรคการเมืองเสนอนโยบายประชานิยมเพื่อหวังผลทางการเมือง
“โดยกำหนดเงื่อนไขให้พรรคการเมืองทุกพรรคต้อง ส่งนโยบายให้ กกต.ตรวจสอบก่อนนำไปหาเสียงเลือกตั้งอย่างเป็นทางการทุกนโยบายต้องระบุวงเงินค่าใช้จ่ายในแต่ละปีต้องระบุที่มาของงบประมาณที่จะใช้อย่างชัดเจน ต้องแจกแจงความคุ้มค่า และประโยชน์จากนโยบาย รวมทั้งผลกระทบ และความเสี่ยงอย่างละเอียดทุกแง่ทุกมุมอีกด้วย”
มองโลกในแง่ดีจน “วินัยการคลัง” พัง!
ต่อประเด็นการทำนโยบายประชานิยมนำไปสู่ผลกระทบต่อวินัยการเงินการคลังได้นั้น รศ.ดร. สมชาย สะท้อนมุมมองว่าคนที่ทำนโยบายประชาชานิยมในความเป็นจริงเขาก็ไม่ได้โง่อะไรล้วนเป็นนักเศรษฐศาสตร์ด้วยกันทั้งนั้น แต่พอผลกระทบมันเกิดขึ้นก็เพราะอะไร ก็เพราะพวกเขามองโลกในแง่ดีเกินไป สิ่งที่เขาพลาดข้อแรกก็คือการวิเคราะห์เศรษฐกิจผิดพลาด พอดื้อรั้นทำต่อไปก็บานปลาย พอบานปลายค่าใช้จ่ายก็พุ่งสูงส่งผลกระทบต่อดุลบัญชีเดินสะพัด ส่งผลร้ายต่อเงินงบประมาณประเทศ วินัยการเงินการคลังพัง และก่อหนี้สาธารณะ จึงเป็นที่มาผลด้านลบ
“ประชานิยมก็อาจมีผลด้านบวกก็ได้หากนำเงินเหล่านั้นแทนที่จะแจกอย่างเดียว แทนที่จะเป็นการให้ปลาอย่างเดียวแต่เป็นการสอนวิธีการตกปลาให้เขา แต่ส่วนใหญ่นโยบายประชานิยมล้วนเป็นการให้ปลาอย่างเดียวเลย ก็คือการลดแลกแจกแถมอย่างเดียว ไม่ได้สอนวิธีการตกปลา ก็คือแนวทางการต่อยอดเพิ่มรายได้จากเงินที่แจกให้ไป ดังนั้น พรรคการเมืองต่างๆต้องคำนึงในส่วนนี้ให้จงหนักอย่าหลับหูหลับตาให้อย่างเดียว”
อย่างไรก็ดี รศ.ดร. สมชาย กล่าวปิดท้ายถึงผลกระทบระยะยาวว่าการให้ปลาอย่างเดียวแต่ไม่ได้ให้ให้เบ็ดไปด้วย ผลร้ายจะนำไปสู่ภาวการณ์เสพติดในระยะยาว จะว่าไปแล้วมันเป็นธรรมชาติของคนที่ได้แล้วก็ต้องได้ต่อไป และขอต่อไปเรื่อยไม่มีวันจบสิ้น นี่แหล่ะคือการเสพติด
“จริงๆแล้วจะไปว่าเขาก็ไม่ถูกเท่าไหร่นัก เพราะคนเหล่านี้เขาแย่เขาก็ลำบากอยู่แล้ว ก็ขึ้นอยู่กับเจ้าของนโยบายนั่นแหล่ะจะทำอย่างไร จะปรับและพัฒนาต่อยอดเขาอย่างไร เพื่อไม่ให้สูญเปล่านำไปสู่การเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน นี่แหล่ะคือการผลด้านบวกของนโยบายประชานิยม”
บริบทสุดท้ายแล้ว การใช้นโยบายประชานิยมนำทางหาเสียงโดยที่ไม่คำนึงถึงผลค้างเคียงที่เกิดขึ้น ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อความสามารถการแข่งขันของประเทศ หนักและนานไปจะเป็นงูกินหางที่ดึงทุกสิ่งให้ตำต่ำลงไปเรื่อย ๆ
ประชาชนคนไทยทุกคนอย่าหลงคารมนักการเมืองพลางเคลิ้มนโยบายประชานิยม ต้องช่วยกันดึงประเทศออกจาก “ประชานิยมไม่พึงประสงค์” ไม่งั้นจะติดกับดักประชาธิปไตยจอมปลอมจนยากจะแก้ไข!